(ภาพจากชลประทาน)
ผู้เชี่ยวชาญขุดอุโมงค์ แถลงกรณี 2 หนุ่มนักธรณีวิทยา ถูกหินในอุโมงค์ยักษ์ส่งน้ำถล่มทับตาย ชี้สาเหตุน่าจะเป็นน้ำที่มาจากการก่อสร้างมากกว่าใต้ดินดันชั้นหินพัง เบื้องต้นช่วยเหลือศพละ 5 หมื่น น่าเสียดายผู้ตายอายุยังน้อย แค่ 24 ปี...
จากอุบัติเหตุที่คร่าชีวิต 2 หนุ่มวิศวกรด้านธรณีวิทยา นายปรัชญาวัต วสุอนันต์ หรือ บิว อายุ 24 ปี นายปฐมพร ศิริวัฒน์ หรือ อาย อายุ 24 ปีเท่ากัน ทั้งสองเป็นวิศวกรนักธรณีของโครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงเขื่อนแม่งัด-เขื่อแม่กวง อ.แม่แตง เชียงใหม่ ถูกหินในอุโมงค์ที่มีความลึก 639 เมตร ถล่มทับ ขณะเข้าไปสำรวจพร้อมกัน 3 คน รอด 1 คน เบื้องต้น คาดว่ามีน้ำใต้ดินออกมามาก ดันหินที่อยู่เหนือหัวกลุ่มผู้เสียชีวิตจนพังลงมาทับร่าง(อ่านข่าว ด่วน! ดินอุโมงค์ยักษ์ถล่ม 2นักธรณีวิทยาดับ โครงการส่งน้ำแม่งัด-แม่กวง)
ต่อมาเวลา 14.00 น.วันที่ 2 มี.ค. ที่สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ ที่ 1 ต.สันโป่ง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ นายวิทย์ วงค์กมลชุณห์ ผอ.สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ และนายนพดล เพียรเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านอุโมงค์ กลุ่มที่ปรึกษาควบคุมงาน ได้เปิดแถลงข่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า โครงการดังกล่าว กรมชลประทานได้ลงนามว่าจ้างนายสมหมาย บัวคำ วิศวกรของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนต์ ดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด-แม่กวง สัญญาที่ 1 โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ ในวงเงิน 2,334,600,000 บาท ที่บริเวณ บ้านป่าเลา หมู่ 1 ต.แม่หอพระ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ผู้เสียชีวิต 2 รายเป็นนักธรณีวิทยา ของนายสมหมาย บัวคำ วิศวกร บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ถูกก้อนหินใหญ่ผนังอุโมงค์ร่วงใส่ห่างจากอุโมงค์ที่ทำการระเบิด 3 เมตร ซึ่งได้มีการตั้งคณะกรรมสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว
...
"บริเวณอุโมงค์จุดเกิดเหตุเป็นหินชั้น หรือหินโคลน หินทรายแป้งที่ค่อนข้างอ่อนตัว น้ำใต้หินน้อยมาก น้ำที่พบเป็นน้ำจากการขุดเจาะอุโมงค์ เป็นน้ำจากการก่อสร้างมากกว่าน้ำใต้ดิน เพราะช่วงเกิดเหตุเป็นจุดที่ขุดเจาะอุโมงค์ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุขึ้นมาก็ต้องมีการวางมาตรการความปลอดภัยให้มากขึ้น ปกติคนที่เข้าไปดำเนินการในอุโมงค์ต้องผ่านการอบรมเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ต้องระมัดระวังตัว เรื่องนี้จะกำชับให้การทำงานให้มีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ในเบื้องต้นจะให้ความช่วยเหลือก่อนรายละ 50,000 บาท ส่วนเรื่องเงินประกัน อยู่ที่นายจ้างเป็นผู้ดำเนินการ"
ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐานเชียงใหม่ ได้เข้าไปตรวจสอบภายในอุโมงค์จุดเกิดเหตุ แต่ไม่สามารถเข้าไปได้เพราะมีน้ำท่วมขัง ซึ่งจะต้องรอให้มีการสูบน้ำออกก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำแม่กวง เป็นโครงการขนาดใหญ่มี 4 บริษัทใหญ่ ดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์เป็นช่วงๆ โดยอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ไปยังเขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีระยะทางประมาณ 22 กม. มูลค่าการก่อสร้าง 15,000 ล้านบาท สิ้นสุดสัญญาก่อสร้าง ในปี 2564.