ดินอุโมงค์ยักษ์ส่งน้ำ โครงการแม่งัด-แม่กวง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ดินทรุดพังถล่มลงมา ขณะนักธรณีวิทยา บ.อิตาเลียนไทย 2 คน กำลังเข้าไปสำรวจเพื่อออกแบบ ถูกดินทับเสียชีวิตทั้งคู่ ยังไม่รู้สาเหตุ....
เวลา 08.40 น. วันที่ 2 มี.ค. 60 ร้อยเวร สภ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ รับแจ้งเหตุดินทรุดมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ที่อุโมงค์โครงการส่งน้ำแม่งัด แม่กวง ต.แม่หอพระ อ.แม่แตง จึงประสานเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ
ที่เกิดเหตุเป็นโครงการอุโมงค์ระบายน้ำสู่เขื่อนแม่กวง หมู่ 1 บ้านป่าเลา ต.แม่หอพระ อ.แม่แตง เบื้องต้น ทราบว่าเหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ 07.30 น. ระหว่างการเจาะดินและหินเข้าไปได้ประมาณ 600 เมตร
ขณะเกิดเหตุมีนักธรณีวิทยา 2 ราย คือ นายปรัชญาวัต วสุอนันต์ หรือ บิว ธรณีเชียงใหม่ 54 และ นายปฐมพร ศิริวัฒน์ นักธรณีวิทยาของบริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด ที่เข้าไปสำรวจเพื่อออกแบบระบบค้ำยันภายในอุโมงค์ ถูกดินถล่มทับเสียชีวิตทั้งคู่ ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึง พบว่าทางกลุ่มคนงานได้ลำเลียงศพผู้เสียชีวิตออกมาจากอุโมงค์ นำส่งโรงพยาบาลแม่แตงทันที
...
สำหรับอุโมงค์จุดที่เกิดเหตุมีความลึก 639 เมตร ความกว้างสูงเป็นรูปเกือกม้า 4 เมตร 20 เซนติเมตร ทางเจ้าหน้าที่วิศวกรได้ห้ามไม่ให้ผู้ใดเข้าไปในอุโมงค์ เกรงจะเกิดอันตรายซ้ำซ้อน เนื่องจากจะต้องใช้เวลาในการเคลีย์พื้นที่
นายสมหมาย บัวคำ วิศวกรของบริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด ที่รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ ช่วงเขื่อนแม่งัด-เขื่อแม่กวง ระยะทาง 12.5 กม. เผยว่าในช่วงเช้า เมื่อเวลา 07.30 น. ทางเจ้าหน้าที่วิศกรด้านธรณีวิทยา จำนวน 3 คน จะต้องเข้าไปสำรวจชั้นดินหิน ภายในอุโมงค์ ที่ขุดไปได้ถึง 639 เมตร เพื่อสำรวจก่อนที่จะให้ทีมก่อสร้างเข้าไปดำเนินการ ซึ่งบริเวณที่เข้าไป ยังเป็นชั้นหินแข็งอยู่ ซึ่งคนที่เข้าไปสำรวจยังรายงานว่า บริเวณนี้ยังปลอดภัย แต่สำรวจเห็นว่า บริเวณนั้นมีน้ำ แต่พอเมื่อเข้าไปยังจุดที่เกิดเหตุ กลับเห็นว่ามีน้ำมากเกินปกติ เนื่องจากน้ำใต้ดินไหลซึมลงมา และมาดันหินที่อยู่เหนือหัวกลุ่มผู้เสียชีวิต พังลงมาทับร่างทั้งสองคน แต่อีกคนปลอดภัย ซึ่งเป็นการคาดไม่ถึงว่าน้ำจะไหลลงมาแรง เป็นสุดวิสัย มองไม่เห็นในตอนแรก
นายสมหมาย กล่าวต่อว่า สาเหตุที่สำคัญยังเป็นรอยเลื่อนของหิน และน้ำก็ไหลมาตามรอยเลื่อน และมาดันแผ่นหินลงมา ซึ่งหน้าที่การตรวจสอบน้ำใต้หินและชั้นหินก็เป็นหน้าที่ของคนทั้งสองที่เสียชีวิต จะต้องไปตรวจน้ำใต้หินและสภาพหินเป็นประจำทุกๆวัน ก่อนจะมาให้คำแนะนำกับทีมก่อสร้างว่า สภาพหินเป็นเช่นไร ถือว่าเป็นหน้าที่ ทุกๆครั้งที่จะมีการก่อสร้าง ทีละเมตร สองเมตร จะต้องตรวจและวิเคราะห์ ซึ่งก่อนหน้าการเข้าไปตรวจสอบ พบมีน้ำอยู่แต่ไม่มาก ทั้งสองจะรู้ว่าหินจะอ่อนจะแข็งอย่างไร แต่วันนี้ที่เกิดเหตุถือว่าเปลี่ยนไปแบบฉับพลันมาก ซึ่งบริเวณเกิดเหตุหินเป็นหินโคลน และหินซิ๊ว ถ้าเป็นภาษานักธรณี เรียกว่า ซิ๊วสโตน มัทสโตน เป็นหินดินดาน หินตะกอน ตรงนี้เป็นรอยเลื่อนของเปลือกโลก ทำให้หินหักออกจากกัน ทำให้ไม่แข็งแรง และน้ำก็ไหลเข้ามาตามรอยเลื่อนพวกนี้ หลังเกิดเหตุต้องปิดให้ผู้เชี่ยวเข้ามาตรวจสอบก่อน ถึงจะดำเนินการก่อสร้างต่อไป.