“บิ๊กป้อม” ลั่นรัฐบาลไม่ถอย สร้างแน่โรงไฟฟ้าถ่านหิน แค่ชะลอเพื่อชงเรื่องเข้ามาใหม่ หลังเสร็จตามขั้นตอนประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในพื้นที่ “ไก่อู” รับลูกตีปี๊บจะปรับปรุงหรือสำรวจใหม่ ฟันธงล่วงหน้าผลไม่ต่างกัน พลิ้วอย่าเอาคำพูดที่ไม่ตรงกันมาเป็นสาระสำคัญ ส่วน กฟผ.รอความชัดเจนมติ ครม. 21 ก.พ. ว่าจะเริ่มประเมินผลกระทบทั้งสองด้านใหม่ หรือสานของเก่า คาดต้องใช้เวลา 1 ปี-2 ปีครึ่ง ด้าน “บิ๊กโย่ง” ยัน ก.พลังงานไม่ดื้อ โยน ครม.เคาะจะรื้อหรือโละ ส่วนประธาน ส.อ.ท.จี้ กฟผ.เร่งสร้างสายส่งไฟฟ้าลงภาคใต้คู่ขนานพลังงานทดแทน “สาธิต” แนะนายกฯฟังข้อมูลรอบด้านก่อนตัดสินใจ ขณะที่ศาลแพ่งอนุญาต ตร.สน.ดุสิตถอนคำร้องสั่ง หลังม็อบสลาย
หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ยอมถอยให้เริ่มต้นกระบวนการศึกษาและวิเคราะห์ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พร้อมยอมปล่อยตัว 5 แกนนำกลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ โดยจัดส่งชาวบ้านกลุ่มผู้มาชุมนุมกลับภูมิลำเนา โดยจะทบทวนโครงการดังกล่าวในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 21 ก.พ.นั้น
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 20 ก.พ. ที่วิทยาลัย ป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงปัญหาการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ ว่า เราประสบปัญหาความไม่เข้าใจของประชาชน รัฐบาลได้หาวิธีต่างๆในเรื่องพลังงานเพื่อให้พื้นที่ภาคใต้มีพลังงานใช้ ต่อไปไฟฟ้าจะไม่ดับที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี จ.ภูเก็ต เราเตรียมการล่วงหน้า แต่มีประชาชนไม่เข้าใจเรื่องรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของประชาชนในพื้นที่ฉบับเดิมก็มีผู้ทรงคุณวุฒิได้ศึกษาแล้ว จึงจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าถ่านหินยุคใหม่ต่างจากยุคเก่า มีการเผาไหม้ทั้งหมดเพราะถ่านหินมีหลายระดับที่จะใช้ผลิตพลังงานเพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าโดยมียุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง มีการปฏิรูปประเทศในหลายเรื่อง
...
ส่วนข้อเสนอที่ให้ใช้น้ำมันปาล์มมาผลิตไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่เถียงว่าสามารถทำได้ กรณีที่นายกฯสั่งยกเลิกเพื่อรอรายงานการวิเคราะห์ EIA และ EHIA ออกไปหลังถูกประชาชนในพื้นที่คัดค้านนั้น ตนคิดว่าชะลอก็เพื่อดำเนินการแล้วจะเสนอมาอีก ทั้งนี้ถ้าไม่ทำโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ ไฟฟ้าก็จะดับเพราะมีปริมาณไฟฟ้าไม่เพียงพอจึงจำเป็นต้องสร้างในพื้นที่ภาคใต้ ตอนนี้กำลังพิจารณาชนิดของถ่านหิน ซึ่งมีทั้งเลวและทั้งดีที่ไม่เป็นมลภาวะ อยากให้ไว้ใจรัฐบาลที่ใช้ทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิสำรวจไม่ใช่คิดเองทำเอง หรือคิดเข้าข้างรัฐบาลและไม่ใช่มาโจมตีรัฐบาลว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ที่นายกฯยอมทบทวนนั้น อยากให้เข้าใจว่าเราทำใหม่อย่างไรก็ต้องมีกระบวนการ EHIA แน่นอน และรัฐบาลไม่ได้ถอย ทุกอย่างทำตามขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
ต่อมาเวลา 11.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความชัดเจนว่ารัฐบาลจะจัดทำรายงานการวิเคราะห์ EIA ในโครงการนี้ขึ้นใหม่ หรือนำของเก่ามาปรับปรุงว่า ได้ชี้แจงกับกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินชัดเจนแล้ว จากการหารือกับแกนนำผู้คัดค้านร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน มีความเห็นตรงกันว่า ภาคใต้ต้องการไฟฟ้ามากขึ้นจำเป็นต้องสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้า ทุกคนไม่ติดใจว่าจะเป็นวัตถุดิบอะไร แต่รู้สึกว่าการจัดทำ EIA และรายงานการประเมินผล EHIA ที่เสร็จสิ้นไปแล้ว เขายังไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้อย่างเต็มที่ จึงอยากให้ดำเนินการให้ประชาชนมีส่วนร่วมอีกครั้งหนึ่ง หลายคนตีความว่า เป็นการเซตซีโร่ หรือจะเป็นการนำกระบวนการที่ทำไปแล้วมาแก้ไขเพิ่มเติม ตนรู้สึกว่าไม่แตกต่างกัน จึงอย่าทำให้ประเด็นเหล่านี้เกิดความแตกต่าง เพราะการเริ่มต้นใหม่ หรือปรับปรุงไม่ได้มีผลแตกต่างกัน ยอมรับว่า คำบางคำอาจไม่ตรงกัน แต่ในทางปฏิบัติไม่แตกต่างกัน อย่าเอาคำพูดที่ต่างกันเล็กน้อยมาเป็นสาระที่สำคัญ
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานยืนยันจะเสนอให้ ครม. ทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ EHIA ที่นายกฯ สั่งชะลอไว้ตั้งแต่เมื่อปลายปี 2558 โดยจะนำข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการไตรภาคีมาประกอบการพิจารณา โดยดึงประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อปรับปรุงแก้ไขบางประเด็นที่ยังเป็นปัญหาให้มีความชัดเจน แต่หากประเด็นใดที่ดำเนินการครบถ้วนสมบูรณ์แล้วก็ให้เดินหน้าต่อไป ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่เห็นชอบให้ดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ต่อนั้น หมายความว่าให้ทำต่อจากชะลอไว้ ไม่ใช่อนุมัติให้ก่อสร้าง ซึ่งทุกอย่างยังคงเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย กระทรวงพลังงานยืนยันจะยึด EHIA เป็นหลัก ซึ่งสุดท้ายหากผลสรุป EHIA ออกมาว่าผ่าน ก็เดินหน้าต่อ ถ้าไม่ผ่านก็จบ และพร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่ กระทรวงไม่ดื้อดึง แต่ขอให้ทุกฝ่ายมีเหตุผลตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เชิงประจักษ์ ไม่ใช้อารมณ์และความรู้สึกตัดสิน
ด้านนายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ต้องรอความชัดเจนจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 ก.พ. ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรในโครงการนี้ ซึ่งหากให้ทบทวนรายงาน EIA และ EHIA เพิ่มเติมจากที่ทำอยู่ต้องใช้เวลาอีก 1 ปี แต่ถ้าให้ทำใหม่หมดต้องใช้เวลาอีก 2 ปีครึ่ง ทำให้ โครงการล่าช้าจากเดิม นับว่ามีความเสี่ยงเพราะความต้องการใช้ไฟภาคใต้ขยายตัว 4-5%ต่อปี โดยภาคใต้ตอนล่างรวมชายฝั่งอันดามัน ต้องมีโรงไฟฟ้าหลักจึงต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา 2,000 เมกะวัตต์ ควบคู่กับการสร้างสายส่งไฟฟ้าภาคกลางไปภาคใต้เพื่อส่งไฟฟ้าเพิ่มได้ 800-900 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีสายส่ง 500 เควี ไปภาคใต้ที่ส่งได้เพียง 500 เมกะวัตต์ แต่ปัญหาคือการก่อสร้างสายส่งทั่วประเทศล่าช้า เพราะมีทั้งการต่อต้านจากประชาชนและการเจรจาสิทธิ์ขอใช้ที่ดินจากประชาชน ส่วนทางแก้คือต้องซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียเพิ่มขึ้น แต่มีปัญหาคือมีราคาแพงระหว่าง 2-8 บาทต่อหน่วย อีกทั้งยังจำกัดการจำหน่ายให้ไทยเพียง 300 เมกะวัตต์
...
ขณะที่นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนเข้าใจกระบวนการศึกษา EIA และ EHIA ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ใหม่ ที่อาจต้องล่าช้าไปอีกและยอมรับว่ากังวลเรื่องต้นทุนพลังงานที่อาจมีผลต่อต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม หากใช้เวลาศึกษานานเกินไป ขอเสนอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ดำเนินการเรื่องสายส่งไฟฟ้าไฟฟ้าลงไปในภาคใต้ให้เพียงพอ และต้องจัดสรรพลังงานทดแทนอื่นๆ ให้เพียงพอ แต่ทั้งนี้รัฐยังคงต้องมีโรงไฟฟ้าหลักให้เกิดขึ้นด้วย
ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ที่กล้าถอยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปทบทวนกระบวนการทำ EIA และ EHIA ใหม่ แต่ขอตำหนินายกฯในฐานะผู้นำประเทศว่าไม่เข้าใจการทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายที่ต่างหวังดีกับประเทศไม่น้อยกว่าท่าน เช่น กรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่ต้องเชียร์รัฐบาลแต่ทำหน้าที่ด้วยความถูกต้อง มีจริยธรรมเพื่อส่วนรวมจึงเสนอความต่างในความคิดของประชาชน ขอให้นายกฯคิดและรับฟังข้อมูลที่หลากหลายจากทุกฝ่าย และถ้าจะตำหนิก็ควรตำหนิฝ่ายที่ไม่ทำหน้าที่ หรือทำหน้าที่โดยมีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝงมากกว่า
ส่วนที่ จ.กระบี่ ได้มีการขึ้นป้ายขนาดใหญ่หน้าสนามบินนานาชาติกระบี่ ขอบคุณนายกฯ ที่ให้สร้างโรงไฟฟ้า ทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงความเหมาะสม และมีการเรียกร้องให้ปลดป้ายดังกล่าวออกหลังนายกฯสั่งให้ทบทวนผลกระทบทั้งสองด้าน โดยนายสมนึก กรดเสือ นิติกร การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จ.กระบี่ หนึ่งในแกนนำคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งมีบ้านอยู่ที่ ต.ปกาสัย ชุมชนใกล้โรงไฟฟ้าถ่านหินกล่าวว่า ต้องรอดูมติ ครม.ว่าจะออกมาอย่างไร หากให้กลับไปเริ่มต้นศึกษาใหม่ทั้งหมด ต้องดูอีกว่าใครเป็นผู้ว่าจ้างบริษัท หรือนักวิชาการที่จะมาศึกษาใหม่ หากเป็น กฟผ.จ้างคงรับไม่ได้เพราะมีเป้าหมายอยู่แล้ว ควรเป็นคนกลางที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในโครงการเพื่อความโปร่งใสและยอมรับ ทั้งนี้ ทราบว่าจะเอาเทคโนโลยีจากจีนแทนที่จะเป็นญี่ปุ่นหรือเยอรมัน รวมทั้งมีการลดวงเงินการสร้างด้วย ยิ่งทำให้เทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ย่อมต่ำกว่า ไม่ทันสมัยและไม่ปลอดภัย ซึ่งหากมีการเดินหน้าสร้างต่อเชื่อว่าจะมีมวลชนออกมาคัดค้านอีกแน่นอน
...
เมื่อเวลา 09.30 น. วันเดียวกัน ที่ห้องพิจารณา 801 ศาลแพ่งนัดไต่สวนคดีที่ ร.ต.อ.ภาคิณ นับบุญ พงส.สน.ดุสิต ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้กลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ที่ปักหลักชุมนุมอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาลกว่า 200 คน เลิกการชุมนุมสาธารณะ โดย พงส.สน.ดุสิต เข้ายื่นคำร้อง ขอยกเลิกคำร้องดังกล่าว เนื่องจากผู้ชุมนุมได้ยุติการชุมนุมไปแล้วเมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมา ขณะที่วันนี้ผู้แทนของผู้จัดการชุมนุมได้เดินทางมาศาลด้วย โดยไม่ประสงค์แถลงใดๆ เพิ่มเติมต่อศาล ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนคำร้องได้ และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ