‘ประสิทธิชัย-หม่อมโจ้’ด้วยแต่ม็อบต้านไฟฟาก็ไม่ถอยคนกระบี่ชูปายหนุน‘บิ๊กตู่’
ตำรวจเล่นเกมปิดประตูตีแมว ล็อกตัว 5 แกนนำต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน “ประสิทธิชัย-ม.ล.รุ่งคุณ-อัครเดช-บรรจง-ธัชพงศ์” ถูกรวบเข้า มทบ.11 พร้อมปิดเส้นทางเติมม็อบแต่ให้ออกได้ เตรียมรถตู้ส่งกลุ่มผู้ชุมนุมกลับบ้าน “สรรเสริญ” แจงทำตามกฎหมาย เพราะรั้นไม่ยอมชุมนุมในจุดที่จัดให้ ย้ำรอบทำเนียบพื้นที่ต้องห้าม วอนให้มองอนาคตชาติ อีกด้านอดีตกำนันปกาศัยนำชาวบ้าน 500 คน ยื่นหนังสือผ่าน ผวจ.กระบี่ หนุน “บิ๊กตู่” เดินหน้าโครงการต่อ มั่นใจไม่ส่งผลกระทบคนพื้นที่ แต่นายกฯท่องเที่ยวกระบี่ค้าน ห่วงผลกระทบสิ่งแวดล้อม “อภิสิทธิ์” แนะ ยังไม่สายที่จะทบทวน จวกเอาความง่ายเข้าว่าไม่มองอนาคต ลั่นถ้าจะเอาผิดกลุ่มค้านต้องจัดการกลุ่มหนุนด้วย
กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ ยังคงปักหลักชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล แม้ 5 แกนนำผู้ชุมนุมจะถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมไปพูดคุยที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ขณะที่อีกด้านกลุ่มสนับสนุนในพื้นที่ได้เข้ายื่นหนังสือให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเดินหน้าโครงการต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มเคลื่อนไหวปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ที่ชุมนุมคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ ยังคงปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 17 ก.พ. จนถึงช่วงเช้าวันที่ 18 ก.พ. โดยบรรยากาศยังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตลอดทั้งคืนไม่มีความรุนแรง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำแผงเหล็กมากั้นปิดตั้งแต่หัวถนนไปจนถึงท้ายถนนพิษณุโลก อนุญาตให้ผู้ชุมนุมเดินทางออกได้แต่ไม่อนุญาตให้เข้าไปเพิ่มเติม โดยมีผู้ชุมนุมเหลืออยู่ประมาณ 20 คน บ้างนั่งบ้างนอนหลับอยู่ตรงประตูทางเข้าทำเนียบรัฐบาล ฝั่งถนนพิษณุโลก
...
ต่อมาเวลา 06.30 น. พ.ต.อ.อุทัย กวินเดชาธร รอง ผบก.อคฝ.บช.น. ได้มอบนโยบายแก่ตำรวจควบคุมฝูงชน บช.น. 1 กองร้อย ที่มาเสริมกำลังหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่ออำนวยการเตรียมความพร้อม โดย พ.ต.อ.อุทัยกล่าวว่า ผู้บังคับบัญชาให้เตรียมความพร้อมโดยไม่ให้เกิดความรุนแรง เพื่อรอรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่จะประชุมหารือกันในช่วงสายของวันนี้ เพื่อหาทางออกร่วมกันเกี่ยวกับผู้ชุมนุม
กระทั่งเวลา 09.00 น. เจ้าหน้าที่ได้เปิดประตูตึกคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้ผู้ชุมนุมเข้าใช้ห้องน้ำ แต่เมื่อผู้ชุมนุมเข้าห้องน้ำเจ้าหน้าที่ได้เข้าปิดล้อมให้อยู่ด้านใน พร้อมคุมตัวนายประสิทธิชัย หนูนวล ม.ล.รุ่งคุณ กิติยากร และนายอัครเดช ฉากจินดา แกนนำกลุ่ม ขึ้นรถตู้นำตัวไปให้เจ้าหน้าที่ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) พูดคุย ส่วนผู้ชุมนุมที่เหลือเจ้าหน้าที่ยังให้อยู่ในพื้นที่ แต่ไม่อนุญาตให้กลับมาที่ข้างทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงตรึงกำลังไว้และปิดการจราจรถนนพิษณุโลกทั้งเส้น ตั้งแต่แยกพานิชย์จนถึงแยกมิสกวัน ไม่อนุญาตให้รถและผู้ชุมนุมเข้ามาในพื้นที่โดยเด็ดขาด ต่อมามีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 30 คน เดินทางมาถึงบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ เพื่อสมทบกับกลุ่มที่อยู่ด้านใน แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดไว้ไม่ให้เข้า
นางจุฑาธรณ์ ขจรสุนทร อายุ 49 ปี หนึ่งในผู้ชุมนุม กล่าวว่า เป็นชาวภูเก็ต มาร่วมชุมนุมเพราะเล็งเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า โดยมาพร้อมกับผู้ชุมนุมคนอื่นตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ. ตอนนี้มีอยู่ 3 จุด คือที่นี่ วัดโสมนัส และสะพานชมัยมรุเชฐ แต่ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าแต่ละจุดเหลือกันอยู่เท่าไหร่ เมื่อเจ้าหน้าที่ขอร้องไม่ลงไปชุมนุมบนพื้นถนน เราก็ทำตาม แต่กลับบีบคั้นพวกเราเกินไป ถึงเวลานี้ตนและผู้ชุมนุมที่อยู่ภายใน ก.พ.ยังไม่ได้กินข้าว ได้กินแต่น้ำและขนมปังบางส่วนที่มีอยู่ แม้กระทั่งห้องน้ำก็ไม่ได้เข้า เพราะปิดหมด ต้องขับถ่ายข้างถนน เมื่อช่วงเที่ยงมีเจ้าหน้าที่เข้ามาเจรจาว่าจะพาไปกินข้าว ได้เตรียมข้าวเอาไว้ให้แล้วแต่ต้องขอทำประวัติ ไม่เข้าใจว่าเราทำผิดอะไรทำไมถึงทำกับพวกเราขนาดนี้ เราแค่ออกมาปกป้องสิทธิที่พึงจะได้เท่านั้น ถ้าจะให้ออกไปจากตรงนี้พวกตนยินดีจะออกไป แต่ขอไปอยู่รวมกับแกนนำที่โดนจับไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากเรามาด้วยกันก็ต้องกลับไปพร้อมกัน
จากนั้นเวลา 13.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำแผงเหล็กมากั้นบริเวณหน้าตึก ก.พ. และบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ และมีการควบคุมตัวแกนนำเพิ่มอีก 2 คน คือนายบรรจง นะแส และนายธัชพงศ์ แกดำ ก่อนนำขึ้นรถไปที่ มทบ.11 เพื่อคุยร่วมกับแกนนำที่ถูกควบคุมตัวไปก่อนหน้านี้ 3 คน มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เตรียมรถตู้ 2 คัน นำผู้ชุมนุมที่เหลือแบ่งเป็นหญิง 8 คน ชาย 4 คน รวม 12 คน ไปซักประวัติที่กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) ถนนวิภาวดีฯ หลังซักประวัติแล้วหากผู้ชุมนุมรายใดประสงค์ต้องการกลับภูมิลำเนา เจ้าหน้าที่จะส่งตัวกลับทันที พล.ต.ต.สมพงษ์ ชิงดวง รอง ผบช.น. กล่าวเพียงสั้นๆว่า ภายในวันนี้จะผลักดันผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ โดยเตรียมจัดรถนำผู้ชุมนุมที่เหลือกลับภูมิลำเนาหากผู้ชุมนุมต้องการ ขณะที่ผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านนอกรั้วกั้นเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ที่ตามมาสมทบยังคงตะโกนว่า “ไม่เอาถ่านหิน” และพยายามจะเข้ามาบริเวณ ก.พ. แต่ถูกสกัดไว้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แม้แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าจะถูกคุมตัวไป และเจ้าหน้าที่พยายามเปิดเจรจาขอให้ยุติการชุมนุม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงประกาศปักหลักชุมนุมต่อไป
ขณะที่ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวถึงการทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้ากระบี่และโรงไฟฟ้าเทพา ว่า ทหารจะอยู่ตรงกลาง เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้พูดคุยกับตัวแทนโรงไฟฟ้า จะไม่ไปอยู่ฝ่ายไหน สิ่งใดที่ประชาชนเห็นว่ามีประโยชน์ก็ดำเนินการตามที่ประชาชนต้องการในกรอบกฎหมาย ส่วนที่กลุ่มรักอันดามันประกาศจะมาชุมนุมหน้ามัสยิดกลางปัตตานีนั้น จะให้ชุด ฉก.ปัตตานีเชิญแกนนำมาคุยและขอให้อยู่ในกรอบกฎหมาย ส่วนทหารจะดูแลความสงบเรียบร้อย ไม่ให้มีมือที่สามเข้ามาก่อความวุ่นวาย เพราะเป็นพื้นที่เสี่ยง จะดำเนินการอย่างยืดหยุ่น
...
แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวอีกว่า เราจะเชิญมาพูดคุยกันด้วยข้อมูลและเหตุผล โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้พิพากษา ตำรวจและทหาร อยู่ตรงกลาง ระหว่างนี้กำลังให้หน่วยรับผิดชอบไปคุยกับแกนนำอยู่ ขณะนี้แกนนำยังไม่ให้เราเข้าไปหา เพราะชุมนุมอยู่ กทม. ตอนนี้โรงไฟฟ้าพร้อมแล้วเหลือแต่ชาวบ้านจะส่งตัวแทนเมื่อใด เมื่อมีการพูดข้อกฎหมาย ถ้าผู้พิพากษาเห็นว่าถูกหรือผิดก็จะแจ้งได้ทันที ส่วนที่จะมีกลุ่มผู้ชุมนุมไปร่วมสมทบกับม็อบที่ กทม.นั้น ทางทหารจะไปคุยกับแกนนำให้รู้เรื่องว่าอย่าไปเลย แต่ไม่ได้เป็นเชิงสกัดกั้น และหากเกิดเหตุระหว่างทางไม่มีใครรับผิดชอบ จึงพยายามพูดคุยให้เขาชุมนุมในพื้นที่ มีเรื่องอะไรก็ยื่นเรื่องให้ คปต.ส่วนหน้าได้ เมื่อถามว่ามีการวิจารณ์ว่ารัฐเกณฑ์คนมาสนับสนุนจะเกิดการปะทะหรือไม่ พล.ท.ปิยวัฒน์กล่าวว่า ก็ให้ทั้งสองฝ่ายมาพูดคุยกัน
พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ผบก.สปพ.กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน และตำรวจ 191 ได้ประสานขอเข้าพูดคุยกับแกนนำผู้ชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ขอให้ทำตามรัฐธรรมนูญ อยู่ในกรอบกฎหมายไม่ไปกระทบสิทธิผู้อื่น พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ทุกนายยึดหลักกฎหมาย ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจเรื่องสิทธิการชุมนุม และดำเนินคดีผู้ที่ฝ่าฝืน
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมตัว 3 แกนนำผู้ชุมนุม เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย หลังเข้าเจรจาให้ไปชุมนุมในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย แต่ไม่เป็นผล ยังใช้กำลังกดดันเจ้าหน้าที่ปักหลักชุมนุม พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนให้มาร่วมชุมนุมเพิ่มเติมด้วย ซึ่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เขียนไว้ชัดเจนทำเนียบรัฐบาลก็เป็นพื้นที่ต้องห้ามตามกฎหมาย เรื่องนี้อยากให้มองอนาคตประเทศ อย่ามองเรื่องคัดค้านอย่างเดียว เพราะมีประชาชนไม่น้อยที่สนับสนุนสร้างโรงไฟฟ้า และยืนยันการขนส่งถ่านหินจะไม่กระทบเส้นทางเดินเรือประมงและการท่องเที่ยว พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากล ป้องกันมลพิษสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี
...
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า การควบคุมตัวแกนนำผู้ชุมนุมส่งให้ มทบ.11 ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการหลัก ส่วนทหารเป็นส่วนสนับสนุนช่วยดูแลเรื่องความสงบเรียบร้อย เบื้องต้นทราบว่าเป็นการเชิญแกนนำมาร่วมพูดคุยทำความเข้าใจหาทางออกร่วมกัน และเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหา แม้ว่าผู้ชุมนุมจะทำผิดเงื่อนไขและผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ส่วนการใช้สถานที่ มทบ.11 เพราะใกล้กับที่ชุมนุม มีความสะดวกเรื่องสถานที่
วันเดียวกัน เวลา 10.30 น. ที่ศาลากลางจังหวัดกระบี่ นายดำรัส ประทีป ณ ถลาง อดีตกำนันตำบลปกาสัย อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ พร้อมชาวบ้านประมาณ 500 คน ชุมนุมสนับสนุนพร้อมชูป้ายเขียนข้อความขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่มีมติให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 870 เมกะวัตต์ ที่ อ.เหนือคลอง มีนายพินิจ บุญเลิศ ผวจ.กระบี่ ลงมารับหนังสือจากตัวแทนเพื่อส่งต่อไปยังนายกฯ โดยนายดำรัสกล่าวว่า ชาวบ้านจากหลายพื้นที่รวมตัวเพื่อให้กำลังใจ และขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและคณะ ที่มีมติให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเทียบเรือเพื่อขนส่งถ่านหินในพื้นที่ จ.กระบี่ ชาวบ้านมั่นใจว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ผลิตไฟฟ้า ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว
ด้านนายวัฒน์ เริงสมุทร นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวและภาคเอกชนใน จ.กระบี่ ไม่เห็นด้วยกับการอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.กระบี่ เพราะไม่มั่นใจในระบบเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ ทราบข่าวล่าสุดไม่ได้นำเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นหรือเยอรมนีมาใช้ แต่มาจากประเทศจีน หากสร้างขึ้นมาแล้วมีผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งที่เป็นรายได้หลักของ จ.กระบี่ คือการท่องเที่ยว ก็จะกระทบ เพราะนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศนั้นอ่อนไหว หากมีมลพิษเกิดขึ้นจะไม่เดินทางมาเที่ยว เมื่อนั้นภาพรวมของธุรกิจท่องเที่ยวที่สร้างกันมายาวนานคงเสียหายหนัก อยากให้รัฐบาลทบทวนอีกครั้งหนึ่ง
...
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การควบคุมตัวแกนนำผู้ชุมนุม เราเสนอมาตั้งแต่ต้นให้หลีกเลี่ยงความขัดแย้งทั้งในพื้นที่และในวงกว้าง เพราะแนวคิดการผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินสวนกับกระแสหลายด้าน น่าเสียดายในคำชี้แจงยังพยายามบังคับให้คนมองแค่เพียงว่าถ้าไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินจะไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่เป็นความจริง ที่สำคัญคือรัฐบาลไทยเคยไปประกาศแผนงานคาร์บอนเครดิตหลายประเทศ แม้กระทั่งประเทศจีนก็พยายามลดการพึ่งพาพลังงานถ่านหิน จึงรู้สึกเสียดายที่ไม่พิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ยังคงพยายามทำตามแผนเดิมที่มีอยู่เท่านั้น และไม่เข้าใจว่ารัฐไปมองผู้ที่มาชุมนุมคัดค้านเป็นการเมืองได้อย่างไร หากจะบังคับใช้กฎหมายก็ขอให้คำนึงถึงเจตนาของผู้มาชุมนุม ว่าเขามาด้วยเจตนาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ได้สร้างความวุ่นวาย หรือเกี่ยวกับความมั่นคงใดๆทั้งสิ้น เราไม่ต้องการให้สถานการณ์บานปลาย ยังไม่สายเกินไปที่รัฐบาลจะทบทวน เพราะเพิ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ไม่มีใครค้านว่าไม่ให้มีไฟฟ้าใช้ แต่รัฐบาลไม่ตอบว่าทำไมไม่ใช้ทางเลือกอื่น มีความพยายามไปมองว่าผู้มาชุมนุมห่วงแต่เรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่เป็นความจริง เขาเสนอทางเลือกเกี่ยวกับพลังงานด้วย ก่อนหน้านี้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เคยเสนอให้อันดามันเป็นมรดกโลก แต่รัฐบาลไม่สนใจเรื่องนี้เลย ไม่มองภาพรวมการพัฒนาจนเกิดความขัดแย้ง ตนเคยเสนอให้ทำที่ อ.เทพา จ.สงขลา ก่อน ทำไมต้องมาตัดสินใจว่าเอาถ่านหินที่ จ.กระบี่ ทันที การไปบังคับให้แต่ละจังหวัดต้องมีโรงไฟฟ้ามันไม่เป็นเหตุเป็นผล วันนี้อย่าเอาความง่าย ควรเอาอนาคต เอาความยั่งยืน ความสมดุลดีกว่า ถ้าจะบอกว่าผู้ที่มาชุมนุมคัดค้านทำผิดกฎหมาย ก็ต้องไปดำเนินคดีกับคนที่ไประดมคนมาหนุนโครงการนี้ด้วย
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การนำต้นทุนน้ำมันปาล์มผลิตไฟฟ้าสูงกว่าการใช้ถ่านหิน รัฐบาลสามารถนำมาเปรียบเทียบได้ แต่การต้องสูญเสียสิ่งแวดล้อม หรือมลพิษที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อะไรเสียหายมากกว่ากัน รัฐบาลยังมีพลังงานทางเลือกที่ควรนำมาพิจารณาว่าดีกว่าหรือไม่ ขอให้ทบทวนมติ กพช. แม้ว่าเทคโนโลยีใหม่จะสามารถกำจัดมลพิษจากถ่านหินได้เพิ่มขึ้น แต่ยังคงมีมลพิษอยู่ดี ส่วนการชุมนุมที่หน้าทำเนียบฯนั้น เป็นตัวอย่างที่มีประชาธิปไตย การประท้วงรัฐบาลหรือผู้นำประเทศไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะชาวบ้านมีความรู้สึกห่วงใยสวัสดิภาพของลูกหลานในอนาคตของเขา ความคิดต่างจึงไม่ใช่ปัญหา เพราะเราคิดเพื่อส่วนรวม ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์เราก็ต้องดูแลประชาชน
ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลใช้อำนาจพิเศษสกัดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ออกมาคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน บรรยากาศสร้างความปรองดองอย่างนี้รัฐบาลควรเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านอย่างจริงใจ แต่นี่นอกจากไม่รับฟังความทุกข์และความเดือดร้อนชาวบ้านแล้ว ยังใช้อำนาจจับกุมคุมขังประชาชนที่ออกมาสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของพวกเขา ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เป็นการใช้อำนาจบาตรใหญ่ ที่สำคัญไม่ใช่ การชุมนุมทางการเมือง แค่ชาวบ้านต้องการแสดงจุดยืนต่อโครงการที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขา
นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวว่า เรื่องพลังงานเป็นอีกหนึ่งความมั่นคงประเทศ เป็นปัจจัยพัฒนาเกษตรกร บางภาคเคยเกิดไฟดับ หายไปสามชั่วโมง รู้กันอยู่แล้วว่าไฟฟ้าไม่พอใช้ ใช้ถ่านหินถูกที่สุด เป็นทางออก คิดว่ารัฐบาลศึกษาไว้แล้ว ถ้ายืดเยื้อจนไม่มีไฟฟ้าใช้ไปเรื่อยๆ จะยิ่งเดือดร้อน การประท้วงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่อย่าไปติดภาพหลอนของโรงไฟฟ้าถ่านหินในอดีต เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก้าวไกลไปมาก การพัฒนาพลังงานทดแทนสามารถทำโดยไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรกับชุมชนได้ ทุกคนฝากความหวังเอาไว้ ขอให้นายกฯเด็ดขาด ใช้มาตรา 44 กับเรื่องนี้ ทุบโต๊ะทุกวัน ไปเลย ถ้าปล่อยทิ้งไว้รัฐบาลไหนๆก็ไม่มีปัญญาแล้ว