แม้พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตมาเป็นเวลากว่า 100 วัน แต่กระแสความอาลัยรักที่ปวงพสกนิกรมีต่อพระองค์ หาได้จืดจางลงตามกาลเวลาไม่ ดุจเดียวกับกระแสความนิยมในสิ่งสะสมเพื่อรำลึกถึงพระองค์ ยังคงแรงดี ไม่มีตก

แต่ก็นั่นล่ะ...ราคาของสิ่งสะสมเพื่อรำลึกถึงจอมราชันผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงพสกนิกร แต่ละอย่างไม่ว่าจะเป็น เหรียญ ธนบัตร แสตมป์ พระเครื่อง (ที่พระองค์ทรงมีส่วนสร้าง) ฯลฯ

บรรยากาศโดยรวมนาทีนี้...นอกจากแทบไม่มีทีท่าว่าราคาจะเป็นมิตรภาพกับเงินในกระเป๋าของผู้ซื้อ ลีลาการตั้งราคาขายของบรรดาผู้ซึ่งมีของอยู่ในมือ และพร้อมจะปล่อยต่อทำกำไร ยังเข้ากันมากกับเนื้อร้องเพลงดัง ของศิลปินวง “หินเหล็กไฟ”...มั่ว มั่ว มั่ว มั่วนิ่ม...มั่ว มั่ว ไอ้มั่วนิ่ม มั่ว มั่ว ไอ้มั่วนิ่ม...

เป็นต้นว่า ชุดเหรียญ 5, 10, 25 และ 50 สตางค์ รวม 4 เหรียญ ออกใช้เมื่อปี 2500 วางขายกันชุดละ 450 บาท ยิ่งถ้าเป็นชุดเหรียญแบบเดียวกัน แต่ต่างกันตรงที่ออกใช้เมื่อปี 2493 ราคาจะพุ่งขึ้นไปเป็นชุดละ 1,000 บาท ขาดตัว

เหรียญครองราชย์ครบ 25 ปี หรือที่เรียกกันว่า รัชดาภิเษก เนื้อทองคำ ออกเมื่อ พ.ศ.2518 ราคาหน้าเหรียญเท่ากับราคาของเหรียญ (ใกล้เคียงกับราคาทองคำขณะนั้น) ตอนที่ออก มี 2 แบบ คือชนิดราคา 400 บาท กับ 800 บาท

ช่วงที่ ร.9 สวรรคตใหม่ๆ เหรียญชุดนี้ขายคู่กัน ราคาประมาณ 60,000 บาท

ผู้ขายบางรายใจดี ยอมแบ่งขายให้ทีละเหรียญ...แต่แบบชนิด 400 บาท เปิดขายในราคาเหรียญละ 16,500-25,000 บาท ตามสภาพ ส่วนชนิด 800 บาท ขายกันเหรียญละ 40,000-50,000 บาท

ไปดูที่ธนบัตรหรือแบงก์กันบ้าง ธนบัตร ร.9 แบบ 9 รุ่นแรก พิมพ์ที่บริษัท โทมัส เดอ ลา รูแอนด์ คัมปานี ลิมิเตด ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ชนิดราคา 1 บาท หมวด R4 เลขแดง สภาพผ่านการใช้งานมาโชกโชน สีถลอก ตำหนิเพียบ เรียกว่าเหลือสภาพสัก 50% หรือที่ภาษานักสะสมแบงก์ เรียกกันว่า เกรด G

...

หน้าแบงก์เป็นลายเซ็นของวิวัฒนไชย คู่กับเล้ง ศรีสมวงศ์ อดีต รมว.คลัง และผู้ว่าการแบงก์ชาติช่วงก่อน ร.9 สวรรคต ธนบัตรรุ่นนี้ราคาตามท้องตลาด ขายกันอยู่เต็มที่ใบละไม่เกิน 300-400 บาท แต่หลังจากพระองค์สวรรคต ราคาพุ่งขึ้นไปเป็นใบละไม่ต่ำกว่า 600-700 บาท

เทียบกับแบงก์ชนิดเดียวกันในสภาพผ่านการใช้งานมาบ้าง สีถลอก และมีตำหนิเล็กน้อย เหลือความสมบูรณ์โดยรวมสัก 60-70% หรือจัดอยู่ในชั้นคุณภาพ เกรด F ก่อน ร.9 สวรรคต ตามท้องตลาดราคาใบละ 500-600 บาท แต่นาทีนี้อยากได้ต้องแลกด้วยเงินสด 1,000 บาท

รุ่นเดียวกัน ถ้าเป็น เกรด XF สภาพสวย โก่งงอเล็กน้อย สียังสวยสด ไม่มีรอยถลอกให้เห็น ความสมบูรณ์โดยรวมอยู่ที่ 80-90% ก่อน ร.9 สวรรคต ราคาตลาดขายกันใบละไม่เกิน 1,300-1,500 บาท แต่นาทีนี้พุ่งขึ้นไปเป็นใบละ 1,800-1,900 บาท เป็นอย่างต่ำ

เกรดเจ๋งสุด คือ สภาพ UNC หรือธนบัตรใหม่ ขอบมุมยังตึง และคมกริบ เพราะไม่เคยผ่านการใช้งาน สภาพ 100% เต็มแบบนี้ ราคาตลาดช่วงก่อน ร.9 สวรรคต ขายกันใบละประมาณ 2,000 บาท แต่วันนี้ต้องแลกมาด้วยราคาใบละไม่ต่ำกว่า 2,600-2,800 บาท

อีกสักตัวอย่าง ธนบัตรแบบ 10 ราคาร้อยบาท ด้านหลังเป็นรูปเรือสุพรรณหงส์ หรือที่วงการเรียกกันสั้นๆว่า แบงก์ร้อย รุ่นเรือหงส์ เป็นอีกรุ่นที่ได้รับความนิยม สภาพผ่านการใช้งานมาแบบดูไม่จืด ทั้งสีซีด และถลอกปอกเปิก เหลือสภาพความเป็นแบงก์สัก 40% เห็นมากับตา มีป้าคนหนึ่งอยากได้มาก แกยืนลังเลอยู่นาน หลังจากผู้ขายเสนอที่ราคาใบละ 1,200 บาทขาดตัว...ห้ามต่อ สุดท้ายป้าคนนั้นต้องเดินจากไปพร้อมความผิดหวัง

แบงก์รุ่นเดียวกันนี้ หากได้รับการจัดชั้นคุณภาพให้อยู่ใน เกรด UNC นาทีนี้ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อตามท้องตลาดขายกันหน้าตาเฉย ใบละ 3,500-4,500 บาท

ลำพังคนเล่นแบงก์หรือนักสะสมด้วยกัน ส่วนใหญ่รู้ดีว่าราคาที่เหมาะสมหรือควรจะเป็น ควรอยู่ที่เท่าไร แต่ที่น่าเห็นใจ และอดสงสารไม่ได้ ก็คือบรรดาคนซื้อที่ขาดความรู้ มีฐานะแค่พอกิน พอใช้ อยากจะได้สิ่งสะสมเหล่านั้นเก็บไว้เป็นที่ระลึกถึงพระเจ้าแผ่นดินในดวงใจของพวกเขา...แต่ต้องผิดหวัง เพราะไม่มีปัญญา!!!

“ปัญหาแบบนี้ น่าเห็นใจผู้ที่ต้องการเก็บสิ่งสะสมในรัชกาลที่ 9 ไว้เป็นที่ระลึกเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็คงไม่มีใครสามารถทำอะไรได้ เพราะเป็นเรื่องความพึงพอใจในราคา ระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อครับ”

สมชาย แสงเงิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮอบบี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เซียนใหญ่นักสะสมแบงก์อันดับต้นของเมืองไทย และเป็นผู้เขียนหนังสือคู่มือธนบัตรไทยฉบับสมบูรณ์ มีการอัพเดตราคาขายล่าสุดอยู่ในเล่ม ให้ความเห็น

เขาว่าปกติราคาสิ่งสะสมแต่ละชนิด ราคาจะขยับปรับขึ้นไปเป็นรอบๆ เช่น ในรอบช่วงปี 2529 รอบช่วงปี 2539 รอบช่วงปี 2549 และรอบช่วงปี 2559 เป็นต้น

“รอบปี 29-49 แบงก์และเหรียญของ ร.9 จะมีความเหมือนกัน คือ ราคาค่อยๆไต่ขึ้นไปตามกระแส คือรอบละ 1 เด้ง หรือประมาณ 1 เท่าตัว แต่รอบปี 59 นี้ ถือว่าพิเศษกว่ารอบอื่นตรงที่เกิดนักสะสม และผู้ค้าหน้าใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้สิ่งสะสม ร.9 ทุกชนิด ราคาถีบตัวขึ้นไป 1-10 เด้ง และกลายเป็นกระแสฟีเว่อร์”

สมชายตั้งข้อสังเกตว่า ตอนที่ ร.9 ยังไม่สวรรคต แม้แต่นักสะสมด้วยกันเองหลายคน ก็ยังคิดไม่ถึงว่าจะมีกระแสฟีเว่อร์ อยากได้ของสะสมเพื่อรำลึกถึงพระองค์กันขนาดนี้

“เรียกว่าตื่นตัวกันไปหมดทุกระดับ ตั้งแต่หน้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มสะสม ไปจนถึงนักสะสมใหญ่ที่มีของครบแล้วทุกอย่าง จนไม่รู้จะเล่นอะไรอีก แต่ก็ยังอยากได้ของสะสมสุดยอดของความหายาก เช่น หมวดแบงก์ตัวอย่าง แบงก์ที่พิมพ์ออกมาแล้วไม่มีการใช้จริง หรือตอนที่เป็นเพียงแบบร่างของธนบัตรที่มีการลงสีด้วยมือ ซึ่งมีเพียงชิ้นเดียวในโลก ของเหล่านี้ ถ้าหลุดรอดออกมาในตลาด ก็พร้อมจะมีผู้รับซื้อต่อทันที ในราคาใบละ 1-3 ล้านบาท”

...

สมชายแนะนำว่า สำหรับนักสะสมทั่วไปที่เพิ่งเริ่มต้นสะสม ควรจะหาเก็บสะสมเหรียญ หรือธนบัตรสภาพดี ที่ออกใช้ในปัจจุบันไปก่อน ตามฐานานุรูป หรือแบบพอเพียง อย่าให้ถึงกับต้องเดือดร้อน

“ผมจะบอกให้ว่า แค่คุณเก็บสะสมแบงก์ทั่วไป ที่ออกใช้ในรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่แบบแรกจนถึงแบบสุดท้าย ในรัชกาลของพระองค์ ถ้าจะเก็บให้ครบทุกแบบ ทุกลายเซ็น ก็ต้องใช้เงินถึงหลายล้านบาทแล้ว แถมยังไม่มีทางจะเก็บได้ครบ เพราะจะมีตัวติด หรือที่หากันไม่ได้อีกประมาณ 5 ชิ้น เคยมีมหาเศรษฐีท่านหนึ่งมาขอให้ผมช่วยจัดชุดให้ครบ ผมเองก็ยังไม่สามารถหาตัวติดเหล่านั้นมาจัดชุดให้ได้”

สำหรับผู้ที่ต้องการทราบราคามาตรฐาน ซึ่งคนในวงการเล่นหา เทียบกับราคาที่วางขายกันในท้องตลาด สมชายแนะนำว่า มีด้วยกัน 3 ทางเลือกหลักๆ

1.) ควรหาหนังสือคู่มือธนบัตร ที่มีการแจ้งราคากลางที่เป็นปัจจุบัน มาศึกษาหาความรู้ 2.) อาจใช้วิธีขอเข้าไปเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊ก หรือไลน์ กับนักสะสม หรือผู้ค้าที่เล่นหาธนบัตรอยู่ก่อนแล้ว หรือ 3.) เข้าไปร่วมสังเกตการณ์ตามงานประมูลธนบัตรและสิ่งสะสมที่ได้รับความเชื่อถือ

เพราะอย่างน้อย ทั้ง 3 วิธีข้างต้น ช่วยให้รู้ความเคลื่อนไหวในราคาของสิ่งสะสมต่างๆแบบไม่หลงทาง กระทั่งเมื่อไรที่อ่านเกมขาด ซื้อของได้มากในราคาถูก และที่สำคัญดูสภาพของเป็น เมื่อนั้นท่านก็มีโอกาสเปลี่ยนสถานภาพจาก “หมูสนาม” ไปเป็น “เซียน” กับเขาได้ไม่ยาก.