กสม.รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มรักษ์เชียงของ ปมระเบิดแก่งลุ่มน้ำโขง เพื่อเดินเรือพาณิชย์ จ่อเสนออนุกรรมการสิทธิชุมชนฯ พร้อมเชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องชี้แจงชาวบ้าน...
เมื่อวันที่ 5 ม.ค.วานนี้ นางเตือนใจ ดีเทศน์ กสม. ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชน และฐานทรัพยากร รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มรักษ์เชียงของ เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง–ล้านนา ให้ตรวจสอบรายเอียดโครงการ และนำข้อมูลโครงการมาเปิดเผยใช้ชุมชนได้รับทราบ
นางเตือนใจ กล่าวว่า หลังจากได้รับหนังสือร้องเรียนแล้ว จะนำเสนอต่ออนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร และจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล และจะสรุปข้อคิดเห็นเสนอรัฐบาลโดยเร็วที่สุด เนื่องจากมติ ครม.วันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่เห็นชอบในการที่จะศึกษาสำรวจออกแบบที่จะเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขงให้เดินได้เกือบตลอดทั้งปี ตรงนี้ทางรัฐบาลยังไม่ได้ให้ข้อมูลข่าวสาร ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน การไม่มีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจ ต่อโครงการที่จะกระทบต่อวิถีชีวิตการทำมาหากินของประชาชน วัฒนธรรมและระบบนิเวศด้วย รวมทั้งผลกระทบจากการเดินเรือ
นอกจากนี้ จะพิจารณาในเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนด้วยกับคนในประเทศท้ายน้ำ โดยจะหารือกับ สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (The World Conservation Congress:IUCN) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีสมาชิก 190 กว่าประเทศ เพราะแม่น้ำโขงมีความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญ น่าจะได้รับยกระดับให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติและวัฒนธรรม เพราะมีหลายชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำแห่งนี้

...
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่า เนื่องจากเครือข่ายฯ สิ่งแวดล้อมไม่เห็นด้วยกับ มติ ครม. ดังกล่าว จึงยื่นหนังสือต่อ กสม. ร้องเรียนให้ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตรวจสอบรายละเอียด และนำข้อมูลโครงการมาเปิดเผยใช้ชุมชนได้รับทราบ
นายนิวัฒน์ กล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า เดิมข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือเสรีที่ร่วมลงนามโดย 4 ประเทศน้ำโขงตอนบน ไม่ได้ระบุครอบคลุมถึงการปรับปรุงร่องน้ำหรือระเบิดแก่งแต่อย่างใด แต่หลังจากการลงนามของ 4 ประเทศ ทีมดำเนินการระเบิดแก่งของจีนก็เริ่มปฏิบัติการในพื้นที่พรมแดนจีน-พม่า และพรมแดนลาว-พม่า โดยอ้างว่าการ “บูรณะร่องน้ำ” ดังกล่าวกระทำโดยถูกต้องตามหลักสากล แต่สุดท้ายก็ติดขัดที่บริเวณพรมแดนไทย-ลาว ที่ จ.เชียงราย จึงนำมาสู่การผลักดันที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ โดย ลาว และ ไทย เป็นประเทศสมาชิก MRC ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนข้อตกลงแม่น้ำโขงว่าด้วยกระบวนการ PNPCA แต่ไม่ปรากฏว่า มติ ครม.ดังกล่าว จะได้กล่าวถึงไว้แต่อย่างใด.