เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 30 พ.ย. นายอุทัย สุธาชาติ ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคกระบือ โครงการธนาคารโค-กระบือ ในพระราชดำริ บ้านทรัพย์สมบูรณ์ หมู่ 20 ต.บ้านกลาง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก พร้อมด้วยตัวแทนเกษตรกรจำนวนหนึ่งได้นำหนังสือเข้าร้องเรียนกับนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผวจ.พิษณุโลก ที่ศาลากลางจังหวัด เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากการเลี้ยงโคกระบือแล้วไม่มีลูกวัวส่งคืนให้กับกรมปศุสัตว์ เนื่องจากโคกระบือตายแต่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่บันทึกประวัติการตายให้ และยังโดนแจ้งความดำเนินคดีอาญาอีกด้วย โดยมีนายอธิปไตย ไกรราช ผอ.กลุ่มงานศูนย์ ดำรงธรรมจังหวัด เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนไว้ เพื่อนำเรื่องเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรับทราบและสั่งการต่อไป เนื่องจากเรื่องนี้ต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เมื่อต้นปี 2559 เคยมีการร้องเรียนขอความเป็นธรรมมาแล้วครั้งหนึ่ง
โดยนายอุทัย ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคกระบือ โครงการธนาคารโค-กระบือ ในพระราชดำริ บ้านทรัพย์สมบูรณ์ เปิดเผยว่า เหตุที่มาร้องเรียนขอความเป็นธรรมในวันนี้ เนื่องจากสมาชิกในโครงการของตนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งโครงการธนาคารโค-กระบือ ในพระราชดำริ มีขึ้น หลังจากมีโครงการสร้างเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ทำให้มีโครงการส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจำนวนหลายโครงการ สำหรับโครงการการเลี้ยงโคเนื้อและกระบือ ได้มีการแจกจ่ายแม่พันธุ์โคและแม่พันธุ์กระบือให้กับเกษตรกร ต.บ้านกลาง นำไปเลี้ยงตั้งแต่ปี 2551-2554 โดยมีการส่งมอบลูกโคกระบือให้กับกลุ่มเกษตรกรใน ต.บ้านกลาง นำไปเลี้ยงต่อเป็นทอดๆ0
ต่อมาปลายปี 2554 จึงมีการถ่ายโอนลูกโคกระบือในโครงการ ให้กับกลุ่มเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของโครงการธนาคารโค-กระบือ ในพระราชดำริ บ้านทรัพย์สมบูรณ์ ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2554 จำนวน 130 ตัว ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรที่นำโคกระบือไปเลี้ยง กำลังได้รับความเดือดร้อนจากการปล่อยปละ ละเลยของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เนื่องจากโคกระบือที่ได้รับถ่ายโอนมาเกิดล้มตาย แล้วไม่มีการบันทึกประวัติจำหน่ายการตาย แต่กลับมีการแจ้งลูกเกิดตามมาอีกด้วย อีกทั้งยังมีการเรียกรับผลประโยชน์จากเกษตรกรที่ส่งมอบลูกโคกระบือคืน โดยตามระเบียบข้อบังคับเกษตรกรต้องส่งลูกโคกระบือไม่ว่าจะเป็นเพศผู้หรือเพศเมียอายุ 18 เดือนคืน ยกเว้นเพศผู้เกษตรกรสามารถซื้อคืนได้ในราคาประเมินจำนวน 24,000 บาท ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558 และเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 เจ้าหน้าที่ของรัฐได้นำเงินมาคืนให้กับเกษตรกรจำนวน 6,000 บาทต่อตัว และเปลี่ยนสัญญาใหม่ที่มีการเปลี่ยนราคาประเมินเป็น 18,000 บาท แต่เกษตรกรต้องจ่ายค่าดำเนินการให้กับเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 2,000 บาททุกราย หากไม่ยินยอมก็จะไม่จ่ายเงินส่วนที่เหลือคืนให้
...
นายอุทัยกล่าวต่อว่า ในส่วนของเกษตรกรที่ไม่มีลูกโคกระบือคืนให้ ทางเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวได้แจ้งความดำเนินคดีฐานยักยอกทรัพย์ ไว้ที่ สภ.แก่งโสภา อ.วังทอง จำนวน 22 ราย ทั้งๆที่เกษตรกรพยายามขอผ่อนชำระค่าโคกระบือ เพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณีโคกระบือตายไปแล้วก็ตาม โดยอ้างว่า เพื่อจะขอคำสั่งศาลเป็นหลักฐาน ให้เกษตรกรผ่อนชำระค่าโคกระบือกับทางกรมปศุสัตว์ แต่ทว่าการแจ้งความดังกล่าวเป็นคดีอาญา เกษตรกรต้องถูกจำคุกด้วย ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน ตนกับพวกจึงมาร้องขอความเป็นธรรมดังกล่าว
ด้านนายรังสรรค์ เงินวิลัย ปศุสัตว์อำเภอวังทอง ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์ว่า การดำเนินการต่างๆนั้น ตนทำตามหน้าที่ ตามกฎระเบียบข้อบังคับของกรมปศุสัตว์ ที่มีเงื่อนระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้และแจ้งให้กับทางเกษตรกรผู้เลี้ยงโคกระบือทราบก่อนล่วงหน้าแล้ว มีการรับส่งกรรมสิทธิ์อย่างถูกต้อง ส่วนการเรียกร้องรับผลประโยชน์นั้นก็ขอให้ทางเกษตรกรระบุให้ชัดแจ้งว่าผู้ใดเป็นผู้เรียกร้องรับผลประโยชน์ หากมีการตั้งกรรมการสอบสวนตนก็พร้อมจะชี้แจงการทำงานทุกอย่าง.