ครูแดงบัณฑิตอาสาสมัคร และครูคนแรกของบ้านปางสา อ.แม่จัน จ.เชียงราย เปิดเผยเรื่องราวแสนประทับใจเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรชาวเขาเผ่าต่างๆ เมื่อปี 2522
นางเตือนใจ (กุญชร ณ อยุธยา) ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชน หรือ ครูแดง ซึ่งเป็นบัณฑิตอาสาสมัครมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นครูคนแรกของบ้านปางสา ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย ได้เล่าถึงสิ่งที่เป็นมงคลแก่ชีวิต และเป็นแรงบันดาลใจอย่างยิ่งในการช่วยเหลือประชาชนตลอดมา จากการที่เคยรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างใกล้ชิดถึง 3 ครั้ง เมื่อ พ.ศ.2522,2523,2524
ทั้งนี้เมื่อปี 2522 นายธนูชัย ดีเทศน์ ในฐานะหัวหน้าหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาบ้านปางสา กรมประชาสงเคราะห์ และตนเองขณะนั้นเป็นครูคนแรกของบ้านปางสา ได้ทราบจาก มจ.ภีศเดช รัชนี ผอ.โครงการหลวง ว่าได้กราบทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรแห่งลุ่มน้ำแม่จัน ทั้งชาวเขาและชาวล้านนา ในวันที่ 22 ก.พ. 2522 โดยให้เป็นการรับเสด็จอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องเตรียมการ
...
นางเตือนใจ กล่าวว่า เมื่อถึงวันที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมา ราษฎรจำนวนมากต่างมารอรับเสด็จเต็มสนามโรงเรียนบ้านปางสากันตั้งแต่เช้าตรู่ ทั้งๆ ที่รู้ว่าพระองค์จะเสด็จมาเวลา 17.00 น.เมื่อถึงเวลากำหนด เครื่องเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งลงจอดลงที่ทุ่งนาใกล้น้ำแม่จัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ขณะนั้นตนซึ่งกำลังตั้งท้องลูกคนแรกได้ 7 เดือน ก็มารอรับเสด็จ พร้อมนายธนูชัย และผู้หลักผู้ใหญ่ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผ.อ.ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจ.เชียงราย
“พระองค์ทรงพระดำเนินเร็วมาก ทรงข้ามสะพานบนน้ำแม่จันมาที่หน่วยฯ บ้านปางสา ทรงทอดพระเนตรแผนที่ตั้งหมู่บ้านต่างๆ ลำห้วย และสภาพพื้นที่ แล้วทรงพบกับผู้นำชาวเขาเผ่าต่างๆที่ได้ถวายฎีกาขอพระราชทานพื้นที่ ลุ่มน้ำแม่จัน และโป่งขม เป็นที่นา 200 ไร่ ที่กำลังมีข้อพิพาทกันระหว่างหมู่บ้าน พระองค์ทรงหว่านล้อมให้ผู้นำชุมชนของหมู่บ้านให้ยอมรับว่ามนุษย์ทุกคนต้องมีที่ดินทำกิน เพื่อความมั่นคงในชีวิต และคุณภาพชีวิตที่ดี ถ้าบางหมู่บ้านได้ที่ดิน แต่บ้านอื่นไม่ได้ จะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขได้อย่างไร ทำให้ผู้นำหมู่บ้านทุกคนเข้าใจยอมรับ และตกลงในหลักการพระราชทานที่ดินให้ผู้ที่ไม่มีที่นา ลุ่มน้ำโป่งขมและน้ำแม่จัน ซึ่งแสดงถึงการใช้หลักธรรมอวิโรธนะ ความเที่ยงธรรมของพระองค์อย่างสมบูรณ์”
นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีมัทวะ คือ ความอ่อนโยน เป็นธรรมะอีกข้อหนึ่งในทศพิธราชธรรมที่ราษฎรสัมผัสได้อย่างซาบซึ้ง จากนั้นผู้นำพิธีกรรมชาวลีซอและมูเซอ จัดพิธีเรียกขวัญอย่างสูงสุดเพื่อน้อมเกล้าน้อมถวายพระองค์ มีการสวดมนต์ ผูกข้อมือ และถวายเหล้าพื้นบ้าน พระองค์ทรงน้อมรับทุกขั้นตอน
ทั้งนี้แม้เป็นเวลาใกล้ค่ำที่ควรพระราชดำเนินกลับเพื่อความปลอดภัย แต่พระองค์ก็ไม่ทรงเร่งรีบ ทรงร่วมจนจบทานและปริจจาคะ การพระราชทานของขวัญเพื่อบำรุงกำลังใจ ผู้นำและผู้ปฏิบัติงานในท้องถิ่นทุรกันดารเป็นธรรมะที่พระราชทานทุกแห่งที่เสด็จเยี่ยมราษฎร เป็นที่ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชนเผ่าอย่างหาที่สุดไม่ได้