แม่น้ำยมที่ผันจากประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ จ.สุโขทัย เข้าถึงพิษณุโลกแล้ว น้ำยมสายเก่าเต็ม เริ่มไหลเข้าพื้นที่การเกษตร ชลประทานห่วงนาข้าว 3 อำเภอ พื้นที่ 1.2 แสนไร่ กำลังรอการเก็บเกี่ยวได้รับผลกระทบ ส่งเครื่องจักร-เครื่องสูบน้ำเข้าช่วย ...

วันที่ 16 กันยายน 2559 สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ขณะนี้ ทุกภาคส่วนต่างเฝ้าระวังผลกระทบจากแม่น้ำยมไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่นาข้าวในเขต อ.พรหมพิราม อ.เมือง และอ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ด้วยการผันน้ำแม่น้ำยมจากประตูระบายน้ำ บ้านหาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ผ่านมาทางแม่น้ำยมสายเก่า จะส่งผลกระทบกับพื้นที่ลุ่มน้ำยมของ จ.พิษณุโลก

ทั้งนี้แม่น้ำยมสายเก่า หรือคลองเมม หมู่ 12 ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ระดับน้ำเพิ่มขึ้นถึงระดับเกือบสูงสุด จุดที่เป็นพื้นที่ต่ำน้ำได้เริ่มไหลล้นจากคลองเมมเข้าสู่พื้นที่ทางการเกษตร ที่ส่วนใหญ่เป็นนาข้าว บางส่วนที่เหนือขึ้นไป ต.หนองแขม และ ต.พรหมพิราม ที่รับน้ำจากแม่น้ำยมสายเก่า บางจุดน้ำไหลข้ามถนน และเข้าพื้นที่ทางการเกษตร และยังคงมีทีท่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะยังคงมีการระบายน้ำจำนวนมากจากแม่น้ำยม จ.สุโขทัย เข้ามายังจังหวัดพิษณุโลก โดยมวลน้ำก้อนนี้ที่ไหลลงสู่แม่น้ำยมสายเก่า จะไหลผ่าน อ.พรหมพิราม และ ต.บ้านกร่าง อ.เมืองพิษณุโลก ก่อนไปบรรจบกับแม่น้ำยมสายหลักที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก

...

นายบรรดิษฐ์ อินต๊ะ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก เปิดเผยว่า สถานการณ์ ณ วันนี้ 16 ก.ย. 59 จังหวัดพิษณุโลกต้องเฝ้าระวังพื้นที่ อ.พรหมพิราม อ.เมืองพิษณุโลก และ อ.บางระกำ เป็นอย่างมาก นโยบายของกรมชลประทาน มีความจำเป็นต้องผันน้ำจากประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ มาลงแม่น้ำยมสายเก่าให้มากที่สุด เนื่องจาก จ.สุโขทัย น้ำเริ่มท่วมไปแล้ว

สำหรับสถานการณ์ขณะนี้ ในพื้นที่ลุ่มน้ำในเขตแม่น้ำยมสายเก่ามีน้ำเต็มตลิ่ง ที่ชลประทานเป็นห่วงและเฝ้าระวังคือ พื้นที่นาข้าวอายุ 2-3 เดือน ที่รอการเก็บเกี่ยวใน 3 อำเภอของพิษณุโลก พื้นที่ประมาณ 120,000 ไร่ อาจจะได้รับผลกระทบ ล่าสุด น้ำได้ท่วมบ้านเรือนประชาชน และที่นาบางส่วนแล้ว หลังระดับน้ำในคลองเมมสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว พื้นที่ปลูกข้าวเหล่านี้ ตามพฤติกรรมการปลูกข้าวในปีที่ผ่านมาๆ ในเดือนกันยายนก็เก็บเกี่ยวหมดแล้ว ส่วนมากจะเก็บเกี่ยวเสร็จในเดือนกรกฎาคม–สิงหาคม ก่อนที่จะถูกน้ำยมหลากท่วม แต่เนื่องจากปีนี้ประสบปัญหาภัยแล้ง การปลูกข้าวจึงล่าช้า มาเริ่มปลูกเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จากปกติที่จะเริ่มปลูกเดือนเมษายน ขณะนี้ อายุข้าว 2-3 เดือน รอการเก็บเกี่ยว ที่ผ่านมาชลประทานก็ได้ประชุมร่วมกับผู้นำเกษตรกรในพื้นที่ในการเฝ้าระวังสถานการณ์ มีการพร่องระบายน้ำจากแม่น้ำยมสายเก่าออกไปก่อน แต่น้ำที่มารอบใหม่นี้ค่อนข้างมาก อาจจะส่งผลกระทบได้ ขณะนี้ได้ระดมเครื่องจักร และเครื่องสูบน้ำของชลประทาน ไปช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่แล้ว.