ช่องว่างทางเศรษฐกิจของคนไทยด้วยกันมีระยะ

ห่างขึ้นทุกวันๆ...หลายรัฐบาลพยายามลดความถี่ห่างให้น้อยลง เรียกว่า ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้บ้าง เพิ่มเงินในกระเป๋าบ้าง

ทว่ามาถึง รัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้นโยบาย “ลดความเหลื่อมล้ำ”...เป็นความพยายามลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐในระยะเฉพาะหน้า พร้อมกับเร่งสร้างโอกาส สร้างอาชีพ และการมีรายได้ที่มั่นคงแก่ผู้ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ “ผู้ใช้แรงงาน” ทั้งระบบมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในทุกระดับอย่างมีมาตรฐาน

“ธุรกิจ”...ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก เถ้าแก่เก่งอยู่คนเดียว ทำเป็นทุกอย่าง ใช่ว่าธุรกิจจะอยู่รอดในยุคไทยแลนด์ 4.0

ยิ่งถ้าได้ลูกจ้างไม่มีฝีมือ ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม ไม่มีการฝึกฝนอบรมพัฒนางาน ผลผลิตที่ได้ก็ไม่คุ้มค่ากับเงินเดือน ใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่า ของเสียมาก ต้นทุนสูง วงจรอย่างนี้ก็ย้อนมาหาเถ้าแก่

กรีฑา สพโชค อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) บอกว่า การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลมุ่งเน้นการปฏิรูปโครงสร้างและวางรากฐานในภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน...การฝึกอบรมทักษะและพัฒนาฝีมือแรงงานใน สถานประกอบกิจการ...สถานประกอบการ ต่างๆ

เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน ลดการสูญเสียทรัพยากร รวมทั้ง เพิ่มผลิตภาพ...ประสิทธิภาพ ให้กับแรงงาน

ปีงบประมาณ 2559 กพร. พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานไปแล้ว 243,372 คน และส่งเสริมสถานประกอบกิจการให้พัฒนาทักษะลูกจ้างตนเอง...

รวมตัวเลขแรงงานที่ได้รับการฝึกฝนกว่า 3.3 ล้านคน

...

ที่สำคัญบริษัทห้างร้านมากกว่า 8,000 แห่งยังนำค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการฝึกอบรมมาหักลดหย่อนภาษีได้ อธิบดี กพร. บอกอีกว่า นอกจากจะส่งเสริมให้เอกชนพัฒนาทักษะลูกจ้างอย่างต่อเนื่องแล้วเรายังมีเครื่องมือที่เรียกว่า “กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน” ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545

กองทุนนี้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานผู้ประกอบกิจการที่มีลูกจ้าง/ พนักงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องพัฒนาทักษะฝีมือให้กับพนักงาน/ลูกจ้างของตัวเอง ในรอบปีหนึ่งๆ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50

หากฝึกอบรมไม่ครบต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนา0ฝีมือแรงงาน

กรีฑา บอกว่า ปัจจุบันกองทุน กพร. มีเม็ดเงินเกือบ 900 ล้านบาท แต่กฎหมายไม่ได้ให้ กพร.เก็บเงินไว้เฉยๆ จึงเอามาให้สถานประกอบกิจการกู้ยืม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดฝึกอบรมหรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานภายในสถานประกอบกิจการนั้นๆ หรือส่งพนักงาน/ลูกจ้างไปฝึกอบรมกับหน่วยงานภายนอกหรือทดสอบกับศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานที่ได้รับการรับรองจาก กพร.

“ไม่ว่าสถานประกอบกิจการจะมีลูกจ้างแค่หนึ่งคน...สิบคน... ห้าสิบคน หรือเป็นร้อยเป็นพันชีวิตก็สามารถยื่นกู้เงินฝึกอบรมกับกองทุน กพร.ได้”

ความเคลื่อนไหวล่าสุด...เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการได้ดำเนินการพัฒนาทักษะของลูกจ้างให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลมากยิ่งขึ้น คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้เห็นชอบขยายเพดานวงเงินกู้ยืมกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นไม่เกิน 1 ล้านบาท จากเดิมไม่เกิน 3 แสนบาทต่อครั้ง

ที่สำคัญ...ยังลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเหลือร้อยละศูนย์ จากเดิมร้อยละ 3 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2559–12 มกราคม 2560 โดยมีกำหนดชำระคืนไม่เกิน 12 เดือน”

รายละเอียดปลีกย่อย...นอกจากสถานประกอบกิจการจะนำเงินส่วนนี้ไปหักเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมได้เต็มตามจำนวนแล้ว ยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มเติมอีกร้อยละร้อย

ขณะเดียวกันจำนวนพนักงาน/ลูกจ้างที่ได้รับการฝึกอบรมหรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานนำไปยื่นประเมินเงินสมทบกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานได้อีกด้วย

“เถ้าแก่ใหญ่ไม่ต้องควักเงินตัวเองมาฝึกอบรม แต่กู้ยืมเงินกองทุนมาใช้พัฒนาทักษะลูกจ้างของตน ดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังได้ผ่อนชำระคืนระยะยาวถึง 12 เดือน ขณะที่เถ้าแก่น้อยแม้ไม่ถูกบังคับให้ต้องส่งเงินเข้ากองทุนก็ยื่นกู้เงินกองทุนมาใช้อัพเกรดลูกจ้างได้เช่นกัน ทั้งยังได้สิทธิประโยชน์ต่างๆอีกด้วย”

สำหรับสาขาอาชีพที่จะดำเนินการฝึกอบรมฝีมือแรงงานหรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานต้องเป็นสาขาอาชีพที่จะส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดมาตรา 7 (1) ดังนี้

1.สาขาอาชีพช่างก่อสร้าง 2.สาขาอาชีพช่างอุตสาหการ 3.สาขาอาชีพช่างเครื่องกล 4.สาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ 5.สาขาอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์ 6.สาขาอาชีพเกษตรอุตสาหกรรม และ 7.สาขาอาชีพภาคบริการ

โดยภาคบริการนี้ครอบคลุมทั้งกิจการโรงแรม ร้านอาหาร และโลจิสติกส์ด้วย

สำหรับหลักสูตรการฝึกอบรมที่ได้รับการอนุมัติล้วนเป็นเรื่องการเพิ่มพูนทักษะแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการของ
สถานประกอบกิจการนั้นๆ ไม่ต้องไปคิดหลักสูตรอบรมให้ซับซ้อน ยุ่งยาก

เช่น ขับรถยก...บำรุงรักษาอย่างปลอดภัย ถูกวิธี ออกแบบ ...พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องเงิน ผลิตสินค้าฮาลาล การพัฒนาหัวหน้างานสู่การเป็นผู้นำทีมแบบมืออาชีพ และภาษาอังกฤษสำหรับพนักงานต้อนรับส่วนหน้าโรงแรม

น่าสนใจว่าตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558-สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา...มีสถานประกอบกิจการยื่นเรื่องขอกู้ยืมเงินจำนวน 108 บริษัท เป็นเงินจำนวน 33,641,200 บาท ลูกจ้างได้รับการพัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 14,302 คน การฝึกอบรมใช้เวลาตั้งแต่ 6-128 ชั่วโมง

...

กรีฑา ฝากว่า กพร.เปิดกว้างให้สถานประกอบกิจการทุกแห่ง ยื่นคำขอกู้เงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อพัฒนาเพิ่มพูนทักษะฝีมือแรงงาน ได้ที่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร หรือหน่วยงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โทร.0–2643–6039 หรือดาวน์โหลดเอกสารได้ที่เว็บไซต์ www.dsd. go.th/sdpaa

การส่งเสริมการฝึกอบรมแรงงานภายใต้กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นอีกหนึ่งกลไก “ประชารัฐ” ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบกิจการและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานควบคู่กันไป นับเป็นอีกเครื่องมือในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศตามนโยบายของรัฐบาล...

“เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีความมั่นคง เศรษฐกิจมั่งคั่ง และมีการพัฒนาของประเทศสู่ความยั่งยืน”.