สอบอีก 1,689 แห่ง อีกคดี-ฟัน 10 ขรก.ฮั้วระบบเตือนภัย!

โครงการปรับปรุงแหล่งน้ำประจำปี 2559 ฉาว กรมทรัพยากรน้ำสั่งยกเลิก 395 โครงการ ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน 6 จังหวัด งบ 182 ล้านบาท หลังพบการก่อสร้างผิดสเปกพร้อมสั่งเด้ง ผอ.สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 9 ขณะที่ รมว.ทรัพยากรฯสั่งตรวจสอบ 1,689 โครงการทั่วประเทศ งบ 818 ล้านบาท หลังมีกลิ่นทุจริต ด้านปลัดกระทรวงเผยผลตรวจสอบโครงการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าพบ 10 ข้าราชการเอื้อประโยชน์เอกชนเข้าประมูล คาดโทษไล่ออกตั้งแต่ ผอ.สำนักฯ ถึงรองอธิบดี

เมื่อวันที่ 2 ก.ย. นายนิรุติ คูณผล โฆษกกรมทรัพยากรน้ำ และรองโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำได้สั่งยกเลิกการดำเนินงานโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำประจำปี 2559 ของสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 9 (พิษณุโลก) ซึ่งดูแลในพื้นที่ลุ่ม น้ำยมและลุ่มน้ำน่านรวม 6 จังหวัด ได้แก่ น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร จำนวน 395 โครงการ งบประมาณ 182 ล้านบาท หลังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีหนังสือมายังกรมทรัพยากรน้ำ พร้อมแจ้งผลการลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการ พบมีความผิดพลาดในการดำเนินงาน โดยเฉพาะการก่อสร้างที่ไม่ตรงกับแบบที่กำหนดหรือผิดสเปก

โฆษกกรมทรัพยากรน้ำกล่าวต่อว่า สาเหตุหลักมาจากการที่ผู้รับเหมาเข้าพื้นที่ไปดำเนินงานในโครงการก่อนจะมีการเซ็นสัญญากับกรมทรัพยากรน้ำ ทำให้งานก่อสร้างผิดสเปก ขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการดำเนินงานในพื้นที่สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 9 หากพบข้าราชการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมา ถือว่ามีความผิด นอกจากนี้ ได้ตั้งคณะกรรมการย่อย เพื่อทำประชาคมกับชาวบ้านร่วม ตรวจสอบจุดต่างๆ ที่ผู้รับเหมาเข้าไปดำเนินการปรับปรุงแหล่งน้ำว่ามีจุดไหนบ้าง ที่ทำแบบครึ่งๆกลางๆ จะพิจารณาว่าจะรื้อทิ้งหรือไม่ รวมทั้งจุดไหนที่สามารถดำเนินการได้ก็จะพิจารณาเป็นพื้นที่ไป

...

นายนิรุติกล่าวอีกว่า ที่สำคัญ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรฯได้สั่งการให้กรมทรัพยากรน้ำตรวจสอบโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำประจำปี 2559 ของสำนักงานทรัพยากรน้ำ 1-11 หรือทั่วประเทศ จำนวน 1,689 โครงการ งบประมาณ 818 ล้านบาท ว่ามีการทำแบบผิดสเปก ล็อกสเปก หรือมีความผิดปกติหรือทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่ โดย พล.อ.สุรศักดิ์ สั่งให้รายงานผลการตรวจสอบทุก 15 วัน เพราะเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 9 เป็นการส่งสัญญาณความผิดปกติ หากไม่ตรวจสอบอาจจะมีปัญหา เนื่องจากโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำเป็นโครงการเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องการ ช่วยเหลือประชาชน หากมีการทุจริต หรือทำไม่ตรงสัญญา อาจส่งผลเสียต่อราชการและประชาชนได้

เมื่อถามว่า หลายพื้นที่ที่ผู้รับเหมาดำเนินการไปแล้ว และมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น หากสั่งยกเลิกผู้รับเหมาจะฟ้องร้องต่อกรมทรัพยากรน้ำหรือไม่ นายนิรุติ กล่าวว่า ผู้รับเหมาจะฟ้องร้องไม่ได้ เพราะยังไม่มีการเซ็นสัญญาให้ดำเนินการ แต่ผู้รับเหมาเข้าพื้นที่ทำก่อนเซ็นสัญญา ทำให้งานผิดแบบไปจากสัญญา สิ่งที่กรมทรัพยากรน้ำสั่งยกเลิกและให้มีการตรวจสอบโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำ เพื่อต้องการห้ามเลือดไม่ให้ไหลไปมากกว่านี้

ด้านนายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ย้ายนายยรรยงค์ อินทฤทธิ์ ผอ.สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 9 ไปเป็นผู้ตรวจราชการกรมทรัพยากรน้ำแล้วเพื่อให้กระบวนการสอบสวนคล่องตัวขึ้น

เมื่อถามถึงโครงการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning) ของกรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีการตรวจสอบพบว่ามีการทุจริต โดยมีข้าราชการ จำนวน 10 ราย เข้าไปเกี่ยวข้องและมีบทลงโทษให้ไล่ออกจากราชการจริงหรือไม่ ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องจริง แต่ขณะนี้ยังพูดอะไรมากไม่ได้ นิติกรกำลังตรวจสอบผลการสอบสวนรวมทั้งบทลงโทษ จากนั้นจะส่งมาให้ตนตรวจสอบอีกครั้งและส่งให้อนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ที่มี รมว.ทรัพยากรเป็นประธาน เพื่อดูว่าบทลงโทษมีความเหมาะสมหรือไม่ โดยคณะกรรมการตรวจสอบจะมี 2 ชุด โดยตรวจสอบสัญญาทีโออาร์ และตรวจสอบการประกวดราคา

สำหรับโครงการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าของกรมทรัพยากรน้ำ มีการร้องเรียนจากผู้ที่เข้าร่วมประมูลว่า มีการฮั้วการประมูล โดยมีข้าราชการกรม เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ชนะการประมูล จึงมีการร้องเรียนต่อ สตง. และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยผลการตรวจสอบของ สตง.พบว่าคดีมีมูลจึงทำหนังสือถึงกระทรวงทรัพยากรฯ และมีการแต่งตั้งนายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรฯ เป็นประธานสอบพบว่า มีข้าราชการตั้งแต่ระดับปฏิบัติการ ผอ.สำนักฯ จนถึงรองอธิบดี รวม 10 คนเข้าไปเกี่ยวข้องและเสนอให้ลงโทษด้วยการไล่ออกจากราชการ