ชาวเมืองแพร่ หลั่งไหลร่วมงานตานสลากข้าวหม้อ หรือ กิ๋นสลากข้าวหม้อ ประเพณีท้องถิ่นดั้งเดิมของจังหวัด ใช้หม้อดินเป็นภาชนะในการบรรจุเครื่องไทยธรรม ถวายแด่พระสงฆ์ด้วยความสมัครใจไม่มีการนิมนต์ และจัดในวันเดือนดับเท่านั้น
เมื่อวันที่ 1 ก.ย.59 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง จ.แพร่ ได้จัดงานประเพณีตานสลากข้าวหม้อประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นแปลกไม่เหมือนประเพณีอื่นเป็นแห่งเดียวในจังหวัดแพร่ และแห่งเดียวในประเทศไทย นั่นก็คือประเพณีตานสลากข้าวหม้อ หรือกิ๋นสลากข้าวหม้อ จัดขึ้นในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ใต้ เดือน 11 เหนือ ปีนี้ตรงกับวันที่ 1 ก.ย.59 ช่วงเช้าพุทธศาสนิกชนได้นำหม้อดินบรรจุเครื่องไทยธรรมมาวางเรียงกันในพระอุโบสถ เพื่อร่วมพิธีถวายสลากข้าวหม้อ ต่อจากนั้นจะมีแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องอานิสงส์ของการตานสลากข้าวหม้อ โดย พระครูวิมลปัญญารัตน์ รองเจ้าคณะอำเภอเมืองแพร่ เจ้าอาวาสวัดป่าแดง และทำการเวนตานเส้นสลาก และถวายตานสลากข้าวหม้อแด่พระสงฆ์ที่มาร่วมงาน
พระโกศัยเจติยารักษ์ รองเจ้าคณะ จ.แพร่ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง เจริญพรว่า เป็นประเพณีที่จัดมาทุกปีนับแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน จุดเด่นคือ พระภิกษุสงฆ์ที่มาร่วมงานจะมาด้วยความสมัครใจไม่มีการนิมนต์ จัดในวันเดือนดับ ใช้หม้อดินเป็นภาชนะในการบรรจุเครื่องไทยธรรม หม้อดินเป็นปริศนา ให้คนรู้จักการใช้ชีวิต หม้อดินซึ่งแตกสลายง่าย ต้องประคับประคองชีวิตให้ดี ทำให้คนไม่ประมาทรู้วัน เวลาในการทำงาน ทำความดีละเว้นความชั่ว และประเพณีดังกล่าว นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในอดีต ในการจัดหาภาชนะใส่น้ำสำหรับให้ประชาชนที่มาร่วมงานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮจำนวนมากได้ดื่ม
...
นอกจากนี้ ยังเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ยังผู้ที่ล่วงลับไปแล้วและเป็นการสะเดาะเคราะห์ (นำสิ่งที่ไม่ดีออกไป) และเชื่อว่าหากมาทำบุญตานสลากข้าวหม้อแล้วจะทำให้มีฐานะดีขึ้น ปีนี้มีพุทธศาสนิกชน นักเรียนมาร่วมงานจำนวนมาก ได้หม้อดินที่บรรจุเครื่องไทยธรรมจำนวน 309 หม้อ และทางวัดพระธาตุช่อแฮ ได้ถวายให้กับวัดต่างๆที่มาร่วมงาน จำนวน 13 วัด เพื่อให้วัดต่างนำหม้อดินไปใช้ เช่นใส่น้ำ ทำเป็นหม้อแกง หรืออื่นๆ ต่อไป