โรงเรียนวัดบ้านใหม่ อ.เมืองพิษณุโลก ผุดหลักสูตรเสริมความรู้ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคสองแคว ให้กับนักเรียนเน้นตรงกับความใฝ่ฝันที่อยากทำ จัดสอนเพิ่มเติมทุกวัน ทั้งติดตั้งจานดาวเทียม-เชื่อมโลหะ-ไฟฟ้าฯ เน้นนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต...

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. นายบุญธรรม วงศ์ชรินรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ้านใหม่ ต.บ้านใหม่ อ.เมืองพิษณุโลก เปิดเผยว่า โรงเรียนวัดบ้านใหม่เป็นโรงเรียนขยายโอกาส สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ระหว่างเขตเมืองกับชนบท นักเรียนที่มาเรียนที่นี่จึงมีความพร้อมที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งจะต้องเตรียมตัวก้าวสู่ตลาดแรงงาน โรงเรียนจึงเห็นว่าหากนักเรียนได้มีโอกาสรู้จักตนเอง มองเห็นความถนัดและความสนใจด้านอาชีพของตนเอง จะกำหนดทิศทางการศึกษาต่อได้ตรงตามความต้องการ และจะประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงกับวิทยาลัยเทคนิคสองแคว เพื่อจัดกิจกรรมเรียนรู้สายวิชาชีพขึ้น

ผอ.โรงเรียนวัดบ้านใหม่ กล่าวต่อว่า กิจกรรมเรียนรู้สายวิชาชีพ เป็นหลักสูตรสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 ที่มีความสนใจทางด้านวิชาชีพมาเรียนรู้เพิ่มเติมตั้งแต่เวลา 14.00 น. ของทุกวัน โดยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จะเรียนวิชาช่างเขียนแบบ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เรียนช่างเชื่อมโลหะ และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เรียนช่างไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์เบื้องต้น โดยจะคัดนักเรียนที่มีความสมัครใจ ความชอบ และมีความถนัดมาเรียนทางด้านวิชาชีพ ส่วนนักเรียนที่เหลือซึ่งส่วนใหญ่ต้องการเรียนต่อมหาวิทยาลัยจะได้รับการสอนเสริมทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ

...

นายญานันดร กงไกร อาจารย์แผนกวิชาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสองแคว เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2559 นี้ ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้จัดการเรียนการสอนวิชาการติดตั้งจานดาวเทียมและการเชื่อมโลหะขึ้นรูปเป็นโต๊ะ เก้าอี้ ซึ่งนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 18 คน จะได้เรียนรู้พื้นฐานการทำงานของระบบรับสัญญาณจานดาวเทียม C-BAND จานดำ และจานทึบสี KU-BAND เรียนรู้การใช้งานเครื่องมือสำหรับติดตั้งดาวเทียม เข็มทิศ และแองเกิ้ล (ตัววัดมุม) การใช้งานเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม เทคนิคการใช้งานอุปกรณ์ ต่อพ่วง แยกจุด เพิ่มจุดรับดาวเทียม แนวทางการทำตลาดหารายได้ และทดลองติดตั้งจริงในภาคสนาม เมื่อจบภาคเรียนนักเรียนสามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริง

สำหรับการเชื่อมโลหะขึ้นรูปเป็นโต๊ะ เก้าอี้ จะเป็นการเชื่อมขึ้นรูปเป็นโต๊ะ เก้าอี้ โดยนักเรียนจะมีพื้นฐานการเขียนแบบ การเชื่อมโลหะมาจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 2 มาแล้ว ทำให้นักเรียนสามารถออกแบบสร้างชิ้นงาน คำนวณวัสดุ วัดจัดฉาก เชื่อมเดินแนว ประกอบชิ้นงานได้ เมื่อจบภาคเรียนนักเรียนก็จะมีโต๊ะหรือเก้าอี้ส่งเป็นผลงานคนละ 1 ชิ้น ซึ่งโรงเรียนจะนำเอาโต๊ะเก้าอี้เหล่านั้นไปใช้ในห้องเรียนต่อไป

ด้าน ด.ช.วรวิช บัวผัน อายุ 15 ปี ชาวบ้าน หมู่ 7 ต.ท่าตาล อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เปิดเผยว่า ตนเรียนไม่ค่อยเก่ง แต่มีความถนัด และชอบทางสายอาชีพ โดยเฉพาะช่างเชื่อมโลหะ ตนสามารถทำได้ดี สามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันจริง โดยผู้ปกครองให้การสนับสนุนซื้ออุปกรณ์สำหรับการเชื่อม การตัดมาให้ ตนได้ซ้อมมือทำอุปกรณ์ของใช้ต่างๆ ภายในบ้าน ในอนาคตเมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วจะไปเรียนต่อ ปวช.ที่วิทยาลัยเทคนิคสองแควต่อไป.