สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแม่ฮ่องสอน แนะลูกจ้างหญิงไก่ร้องทุกข์เรื่องโดนเบี้ยวค่าจ้าง พร้อมประเมินหญิงไก่ต้องจ่ายถึง 16 ล้าน เพื่อชดเชยตามกฎหมาย
เมื่อวันนี้ 11 ก.ค.59 นายสุวพงศ์ กิตติภัทรวิบูลย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือลูกจ้างที่มีภูมิลำเนาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งถูกหญิงไก่ หรือ นางมณตา หยกรัตนกาญ หลอกไปใช้แรงงานโดยไม่ได้ค่าแรง ได้มอบหมายให้ นายชิษณุพงษ์ บูรณา นายอำเภอแม่ลาน้อย นายเฉลิมพล กู้เกียรติ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดแม่ฮ่องสอน และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัว แม่ฮ่องสอน ผู้แทนกรมทหารพรานที่ 36 ผู้แทนตำรวจภูธรแม่ฮ่องสอน และกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) เดินทางมาร่วมสอบสวนติดตามช่วยเหลือ

ทั้งนี้มีอดีตลูกจ้างหญิงไก่มาให้การจำนวน 4 คน ประกอบด้วย 1. นางสาวกาญจนา สกุลดง 2. นางสาวดาริน วัฒนานนทกุล 3. นางสาวกรุณา เชาว์ปัญญา 4. นางสาวขวัญจิรา จิระสกุลโชคชัย และยังค้างอีก 2 ราย ที่ยังไม่สามารถจะเดินทางมาให้การวันนี้ได้ คือ นางจันทนา คชคงไคย หรือน้องหนูนา และนางสาวอรนลิน เชาว์ปัญญา
...
นายเฉลิมพล กล่าวว่า ในการสอบข้อเท็จจริงในวันนี้มี 2 ประเด็น 1. อายุของลูกจ้างและ 2. ค่าจ้างค้างจ่ายของลูกจ้างทั้ง 6 คน คิดเป็นมูลค่าเงินค่าจ้างประมาณ 728,000 บาท และเงินเพิ่มตามสิทธิกฎหมายคุ้มครองแรงงาน นายจ้างจะต้องจ่ายเพิ่ม 15% ในทุกๆ 7 วัน เป็นจำนวนเงิน 15,587,002 บาท หรือยอดรวมที่นายจ้างต้องจ่ายค่าแรงงานและค่าสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองฯ ทั้งสิ้นประมาณ 16,315,002 บาท นับจากวันที่เริ่มทำงานของแต่ละคน

นายเฉลิมพล กล่าวว่า ยกตัวอย่างเช่น นางดาริน หล้าคำ (อายุ 19 ปี) เข้าทำงานปี 2549 – 2553 นายจ้างได้ตกลงค่าจ้างเดือนละ 5,500 บาท ทำงานเป็นเวลา 47 เดือน รวมค่าจ้างที่นายจ้างต้องจ่ายให้ค่าตอบแทน ยังไม่ได้รับเงินเป็นเงิน 258,000 บาท และจ่ายสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานฯ (ระยะเวลาเงิน 15% ในทุกๆ 7 วัน อีก 7,615,960 บาท) ดังนั้นนางดารินจะได้รับเงินทั้งสิ้นตามสิทธิ เป็นเงินจำนวน 7, 873,960 บาท
ทั้งนี้ทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ชี้แจงการช่วยเหลือของแต่ละหน่วยงานให้กับลูกจ้างที่พึงจะได้รับ และให้ลูกจ้างทั้ง 4 คน เขียนคำร้องสอบบันทึกข้อความเป็นหลักฐาน เพื่อส่งให้ทางพนักงานคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 2 กรุงเทพฯ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมให้ร้องทุกข์เพื่อให้ได้รับสิทธิตามกฎหมายแรงงานและคุ้มครองแรงงาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2551 มาตรา 9 วรรค 2 ต่อไป.