ศาลเยาวชนจังหวัดเชียงราย ลงนาม MOU สร้างเครือข่ายกับ 15 สถาบันการศึกษาเชียงราย แก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด ยัน ศาลเน้นกระบวนการนี้มากกว่าการลงโทษตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 ที่ห้องประชุมชั้น 3 ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงราย ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงราย ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU กับสำนักงานอาชีวศึกษาเชียงราย และวิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยเทคโนโลยี รวมทั้งหมด 15 แห่งที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด

นายพรชัย หวังประเสริฐกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงราย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันระหว่างศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงราย กับสำนักงานอาชีวศึกษาเชียงราย สถานศึกษาสังกัดอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชน ในจังหวัดเชียงราย ทั้งหมด 15 แห่ง คือ สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดเชียงราย วิทยาลัยเทคนิคเชียงราย วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกเชียงราย วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย วิทยาลัยการอาชีพเชียงราย วิทยาลัยการอาชีพเทิง วิทยาลัยการอาชีพเวียงเชียงรุ้ง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย วิทยาลัยอาชีวศึกษาพณิชยการเชียงราย วิทยาลัยเทคโนโลยีกรุงธนเชียงราย วิทยาลัยเทคโนโลยีวิรุณบริหารธุรกิจ วิทยาลัยเทคโนโลยีเชียงราย วิทยาลัยอาชีวศึกษาแม่สาย วิทยาลัยเทคโนโลยีแม่สาย และวิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวศึกษาเชียงราย โดยได้ตกลงร่วมกันจัดทำความร่วมมือเพื่อแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู คุ้มครองสวัสดิภาพและให้การสงเคราะห์แก่เด็ก เยาวชน และครอบครัว

...

ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงราย กล่าวอีกว่า ศาลเยาวชนฯ ได้จัดทำโครงการสร้างเครือข่าย และประสานความร่วมมือ ศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำและประสานการประชุมเพื่อแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู เด็กเยาวชน และครอบครัวขึ้น สืบเนื่องมาจากสาเหตุที่พบว่าการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนนั้น มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ทั้งปัจจัยที่เกิดจากสภาพร่างกาย สติปัญญา สุขภาพจิตของตัวเด็ก เยาวชน ส่งผลต่อความสามารถในการปรับตัว การเรียนของเด็กและเยาวชน อันเป็นเหตุให้เกิดปัญหาด้านอื่นๆ เป็นวงกว้างตามมา เด็กและเยาวชนในปัจจุบันจึงตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการกระทำความผิด โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ศาลเยาวชนและครอบครัวมิได้มุ่งหมายเฉพาะการพิจารณาพิพากษาคดีเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่การพิจารณาคดีมากกว่าการลงโทษ จึงเล็งเห็นความสำคัญของการประสานความร่วมมือ เป็นหนทางเบื้องต้นที่นำไปสู่การแก้ไขเด็ก เยาวชน และครอบครัวให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น และส่งเสริมสนับสนุนเด็กและเยาวชนให้สามารถอยู่ร่วมกับครอบครัว ชุมชนและสังคมได้อย่างปกติสุข โดยไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำ ตลอดจนเป็นการป้องกันปัญหาการกระทำความผิดของเด็ก เยาวชน และเพื่อเป็นการป้องปรามการกระทำความผิด ลดปริมาณคดีที่เข้าสู่ศาล ตามวัตถุประสงค์ของศาลเยาวชนและครอบครัว.