ชาวบ้านลำพูน พะเยา ใช้โอกาสเดียวในรอบปี หลังจากมีฝนตกลงมา ออกหาเห็ดถอบ จับอึ่ง เค่า (ชื่อเฉพาะถิ่น) กบ มาขายให้คนหาซื้อไปทำอาหารรสเด็ด ที่จะต้องกินในช่วงนี้เท่านั้น ตลาดเช้าสุดคึกคัก เต็มไปด้วยเสียงร้อง โอ๊บๆ อ๊อบๆ...

วันที่ 19 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่มีฝนตกลงมา ทำให้ชาวบ้านใน อ.แม่ทา จ.ลำพูน พากันออกหาเห็ดถอบบนดอยมาขาย สามารถสร้างรายได้เป็นอย่างดี ตกลิตรละ 250 บาท ในช่วงนี้ โดยเฉพาะแหล่งรวมเห็ดถอบบริเวณตลาดอุ๊ยทา ต.ทาสบเส้า อ.แม่ทา จ.ลำพูน มีลูกค้าที่ขับขี่รถผ่านไปมา บนถนนเชียงใหม่-ลำปาง ต่างพากันแวะตลาดซื้อเห็ดถอบกันเนืองแน่น รถจอดข้างทางยาวเหยียด

ขณะเดียวกัน ทั้ง 2 ฟากถนน ทั้งขามุ่งหน้าสู่ตัวเมืองลำพูน และขาออก สู่ จ.ลำปาง เขต ต.ทาปลาดุก อ.แม่ทา แม่ค้าได้นำเห็ดถอบ มาวางขายกันทุกวันสามารถขายได้ราคาดี ตกลิตรละ ตั้งแต่ 150 - 250 บาทแล้วแต่ขนาดของลิตรหรือกระป๋องที่ใช้ตักตวง

นางสุข มหาพรหม แม่ค้าขายเห็ดถอบ กล่าวว่า ทุกวันตนจะไปรับซื้อเห็ดถอบที่เพิ่งออกได้ประมาณ 1 สัปดาห์มาวางขายริมถนนเพื่อให้ลูกค้าที่เลิกงานซื้อไปรับประทาน ขายดิบขายดี ส่วนราคานั้นจะตกอยู่ที่ ลิตรเล็ก 150 บาท ลิตรใหญ่ 250 บาท ซึ่งขณะนี้เห็ดจะมีความนุ่มหอมอร่อย เนื่องจากเพิ่งออกใหม่จากดอย แต่หลังจากนี้ไปก็จะแก่บ้างตามช่วงอายุที่มันออก ข้างในจะดำ เหนียวบ้าง แต่จะแนะนำให้หาซื้อกินในช่วงนี้เพราะเห็ดถอบจะอ่อน เนื้อข้างในขาว จึงมีรสชาติที่อร่อย

...

ส่วนที่ จ.พะเยา หลังจากมีฝนตกลงมา ชาวบ้านได้ออกจับเค่า (ชื่อเฉพาะถิ่น) อึ่ง กบ ออกขายได้ราคาดี และ 1 ปีมีเพียงครั้งเดียว โดยบรรยากาศตามตลาดสดเช้าทั้งในเมืองและตามชุมชนหมู่บ้านมีแม่ค้าพากันเอาเค่าและอึ่งที่จับได้นำมาวางขายโดยใส่ภาชนะและถุงพลาสติก แบ่งเป็นถุงวางขายร้องโอ๊บๆ อ๊อบๆ เป็นที่สนใจซื้อไปประกอบอาหาร เพราะใน 1 ปีจะมีเพียง 1 ครั้ง โดยเค่า มีรสชาติอร่อยโดยเฉพาะตัวเมียจะมีไข่เต็มท้อง และราคาแพงกว่าตัวผู้ ส่วนอึ่งอ่างนั้น รสชาติใกล้เคียงเค่า แล้วแต่คนจะชอบ ราคาซื้อขาย เค่า จะขายเป็นคู่ๆ ตัวเมียคู่ละ 50-80 บาท ส่วนตัวผู้คู่ละ 20-40 บาท ส่วนอึ่ง ราคาใกล้เคียงกัน

ทั้งนี้ เค่าและอึ่งปกติจะไม่มีให้เห็น จะเก็บตัวในรูตามท้องไร่ท้องนาป่าเขา เป็นปีๆ พอถึงช่วงเข้าฤดูฝนหรือฝนตก ทั้งเค่าและอึ่งจะพากันออกมาจากรูส่งเสียงร้องเพื่อเรียกหาคู่เพื่อผสมพันธุ์กันตามวงจรชีวิต และให้คนได้จับมากินมาขายกันทุกปี โดยเฉพาะคนภาคเหนือ นิยมซื้อหรือจับมาทำเป็นอาหารเมนูเด็ดแกงเค่า แกงอึ่ง.