เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 พ.ค. ที่บริเวณศาลเจ้าแม่ทับทิม หมู่ 1 บ้านวังส้มซ่า (โรงเจ๊ก) ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ตัวแทนชาวบ้านร่วมกันต่อเรือสำเภาจำลองด้วยไม้ไผ่สีสุก ตกแต่งด้วยกระดาษหลากสี นายมาโนช ประสานสมบัติ (แซ่เลี่ยม) อายุ 59 ปี อยู่บ้านเลขที่ 83/1 หมู่ 1 ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก กรรมการศาลเจ้าแม่ทับทิม หรือ “กงถ้าว” คนไทยเชื้อสายจีนไหหลำรุ่นที่ 3 เล่าให้ฟังว่า ประเพณีลอยเรือสำเภาได้ปฏิบัติสืบทอดมากว่า 100 ปี เริ่มจากการบูชาเจ้าแม่ทับทิม เทพธิดาแห่งท้องทะเลเป็นการสะเดาะเคราะห์ รำลึกถึงบรรพบุรุษ ประเพณีที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยเชื้อสายจีนไหหลำและคนไทยในหมู่บ้านวังส้มซ่า ประเพณีลอยเรือสำเภา เริ่มจากการต่อเรือสำเภาจำลอง ใช้ไม้ไผ่สีสุกขนาด 9 ปล้อง นำมาสับให้ได้ 9 ซี่ ตกแต่งด้วยกระดาษหลากสี ชาวบ้านอีกกลุ่มจะไปหาตัดต้นกล้วยทำเป็นแพรองลำเรือ

...

นายมาโนชเปิดเผยอีกว่า พอถึงวันที่ 15 พ.ค.ตอนเย็นใกล้ค่ำจะมีการตีผ่างผ่าง (ลักษณะคล้ายฆ้อง) ไปรอบๆหมู่บ้าน เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน ชาวบ้านทั้งไทยและจีนต่างนำข้าวสาร เกลือ พริกแห้ง หอม กระเทียม มาใส่ในเรือสำเภาเพื่อเป็นเสบียงอาหารเหมือนเรือจริงที่จะออกเดินทะเล จากนั้นเริ่มพิธีกรรมต่างๆ ตั้งแต่การไหว้เจ้าแม่ทับทิม และเทพเจ้าองค์อื่นๆ ไหว้บรรพบุรุษ เผากระดาษเงินกระดาษทอง จุดประทัดขับไล่สิ่งชั่วร้ายและโรคภัยไข้เจ็บ ตามความเชื่อ มีการเสี่ยงทายเพื่อนำเรือสำเภาลงสู่แม่น้ำน่าน ผู้อาวุโสเป็นผู้ทอดเบี้ยที่ทำมาจากตาไม้ไผ่ทาสีแดง การทอดเบี้ยต้องให้ออกครบ หัว กลาง และก้อย บางปีต้องใช้เวลาในการเสี่ยงทายนานนับชั่วโมง จากนั้นเด็กหนุ่มจะช่วยกันหามเรือสำเภา ตีผ่าง ผ่าง เอาฤกษ์เอาชัย และจุดเทียนนำทาง จนกระทั่งปล่อยลำเรือลงสู่ลำน้ำน่าน ปิดท้ายด้วยการจุดประทัด.