ความสวยเป็นเรื่องที่ผู้หญิงร้อยทั้งร้อยปรารถนากันทั้งนั้น ยิ่งสมัยนี้การทำ “ศัลยกรรม” ก็ง่ายเหมือนเนรมิตเพียงแค่ควักเงินจ่ายเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันถ้าทำแล้วหน้าพัง ใครจะรับผิดชอบ?
โดยเฉพาะคนที่เลือกไปทำศัลยกรรมกับ หมอเถื่อน หมอกระเป๋า หมอเดลิเวอรี่ ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพแพทย์ เพราะบางรายถึงขนาดหน้าเน่าไปเลยก็มี ทั้งนี้แม้กระทั่งหมอที่มีความเชี่ยวชาญในบางครั้งก็อาจจะผิดพลาดได้เช่นกัน ปัญหาที่พบบ่อยๆ คือ การรับบริการศัลยกรรมมาแล้ว ผลงานออกมาไม่เป็นไปตามรูปแบบที่ผู้ให้บริการหรือแพทย์ได้นำเสนอไว้ มีข้อผิดพลาดหรือผลงานออกมาไม่ดี จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งต้องใช้เวลาหลังจากการผ่าตัดหลายเดือน แล้วแต่ประเภทของการเข้ารับบริการ เพื่อรอให้แผลหายหรือเรียกกันจนติดปากว่า “รอให้แผลเข้าที่” ซึ่งการแก้ไขอาจจะต้องเข้ารับบริการหลายครั้ง แต่ผู้รับบริการก็ยังไม่พอใจ เนื่องจากความพึงพอใจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
ซึ่งในกรณีมีความเสียหายเกิดขึ้นภายหลังจากการเข้ารับบริการศัลยกรรมและเป็นผลโดยตรงจากการศัลยกรรม ท่านสามารถเรียกร้องให้แพทย์รับผิดชอบค่าเสียหาย ในทางละเมิดได้ครับ เนื่องจากแพทย์ที่จะให้บริการศัลยกรรมจะต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาแพทย์ และเป็นผู้ชำนาญพิเศษในแขนงสาขาวิชาศัลยศาสตร์ตกแต่ง จึงถือได้ว่าเป็นผู้มีความชำนาญพิเศษ และจะต้องใช้ความระมัดระวังดั่งเช่นผู้มีความชำนาญพิเศษ ดังนั้น หากแพทย์ไม่ใช้ความระมัดระวังในการผ่าตัด และไม่แจ้งให้ผู้ป่วยทราบถึงขั้นตอนการรักษาระยะเวลาและกรรมวิธีในการดำเนินการรักษา จนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย นับว่าเป็นความประมาทของแพทย์ แพทย์จึงต้องรับผิดชอบค่าเสียหายในทางละเมิดและในทางแพ่งต้องฟ้องร้องในระยะเวลาภายใน 1 ปี อย่าให้เกินกว่านี้เพราะคดีจะขาดอายุความจนไม่สามารถฟ้องร้องได้
...
ส่วนหมอเถื่อน หมอกระเป๋า นอกจากจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งแล้ว ยังมีความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 26 ประกอบมาตรา 43 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเปิดเป็นสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาตก็จะมีความผิด ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มาตรา 24 ประกอบมาตรา 57 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับอีกกระทง
เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นและเป็นผลโดยตรงจากการให้บริการของแพทย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
ซึ่งท่านจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เช่น เอกสารหรือแผ่นพับที่ผู้ให้บริการนำมาเสนอประกอบการให้คำปรึกษา ชื่อและนามสกุลของแพทย์หรือผู้ให้บริการ ชื่อสถานพยาบาล ชื่อบริษัท เลขทะเบียนนิติบุคคล ภาพถ่ายก่อนและหลังรับบริการทุกครั้ง ใบเสร็จรับเงินที่ชำระค่าบริการทุกครั้ง ใบเสนอราคาค่าบริการของสถานบริการศัลยกรรมแห่งใหม่ที่ท่านจะต้องไปเข้ารับการรักษาหรือแก้ไข หลักฐานการยกเลิกงานหรือสัญญา ทำให้สูญเสียรายได้ ซึ่งเป็นผลโดยตรงมาจากการเข้ารับบริการศัลยกรรม เพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นถึงความเสียหาย ตลอดจนลำดับของขั้นตอนของการรักษาหรือแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดจากการเข้ารับบริการศัลยกรรม
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา “438 ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด อนึ่งค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย” ค่าเสียหายที่สามารถเรียกร้องจากการกระทำละเมิดได้ เช่น ค่ารักษาพยาบาลจากการที่จะต้องเข้ารับการรักษาหรือเข้ารับการแก้ไขจากการศัลยกรรม, ค่าขาดประโยชน์หรือขาดรายได้จากการต้องหยุดงาน หรือ หยุดเรียนจนต้องเรียนซ้ำชั้น ค่าเสียหายจากการทนทุกข์ทรมานจิตใจ ซึ่งเกิดจากใบหน้าเสียโฉมติดตัวอย่างถาวร ค่าความเสียหายที่เกิดจากความเจ็บปวดทนทุกขเวทนาระหว่างการรักษาพยาบาล หรือต้องทุพพลภาพพิการต่อไป บางท่านเครียดจนต้องเข้ารับการรักษาอาการเครียด ก็สามารถนำค่ารักษาพยาบาลส่วนนี้มาเรียกร้องได้ ฯลฯ
โดยมูลค่าความเสียหายในแต่ละคดีจะไม่เท่ากันครับ ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ซึ่งศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยมูลค่าความเสียหาย หรือมูลค่าความเสียหายจะเป็นไปตามที่คู่กรณีจะตกลงกันได้ครับ ตัวอย่างเช่น ผู้เสียหายเป็นแม่บ้าน มีหน้าที่ทำอาหารและดูแลบ้านให้สามี ไม่ค่อยได้พบปะผู้คน ค่าเสียหายที่เรียกร้องจะได้น้อยกว่า ผู้เสียหายที่เป็นศิลปิน นักร้อง นักแสดง นายแบบ นางแบบ พริตตี้ หรืออาจารย์สอนหนังสือในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เนื่องจากบุคคลกลุ่มดังกล่าวมีอาชีพที่ต้องใช้หน้าตา บุคลิกภาพในการประกอบอาชีพ และจะต้องพบปะผู้คนในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก ย่อมได้รับความอับอายและความเสียหายมากกว่า
ทั้งนี้ มีคำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับข้อพิพาทที่เกิดจากการเข้ารับบริการศัลยกรรมที่น่าศึกษาหลายฉบับ แต่ขอหยิบยกมาให้ท่านได้ศึกษาเป็นแนวทางเบื้องต้น ดังนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 292/2542 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420, 425, 427, 438, 446 เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมด้านเลเซอร์ ผ่าตัด จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์เป็นพิเศษ การที่นายแพทย์ ด. ต้องทำการผ่าตัดแก้ไขอีก 3 ครั้ง แสดงว่าจำเลยที่ 2 ผ่าตัดมามีข้อบกพร่องจึงต้องแก้ไข และแสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ใช้ความระมัดระวังในการผ่าตัด และไม่แจ้งให้ผู้ป่วยทราบถึงขั้นตอนการรักษา ระยะเวลา และกรรมวิธีในการดำเนินการรักษา จนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย นับว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ (ขอขอบคุณข้อมูลคำพิพากษาฎีกาย่อจาก http://deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/index2.jsp )
...
สุดท้ายนี้ขอให้ท่านศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนตัดสินใจรับบริการ รวมถึงพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจจะติดตามมาในอนาคตด้วยครับ เพราะสิ่งที่เสียไปบางครั้งไม่สามารถหาอะไรมาทดแทนได้
สำหรับใครที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ
Facebook: ทนายเจมส์ LK