การปฏิรูปตำรวจที่รัฐบาลตีปี๊บตั้งแต่เข้ามามีอำนาจ ดูเหมือนจะเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนมากขึ้น หลัง พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน โฆษกคณะกรรมาธิการ ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ออกมาแถลงความคืบหน้า
ที่ประชุมมีมติให้ปฏิรูปตำรวจด้านการบริหารงานบุคคลให้ปราศจากการแทรกแซงของการเมือง โดยแก้ไขพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 53 (1) และ (2) ที่ระบุให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) มีอำนาจแต่งตั้งตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และรอง ผบ.ตร. ทำให้ตำรวจต้องอยู่ภายใต้อาณัตินักการเมือง
เปลี่ยนเป็นให้ตำรวจทั่วประเทศลงคะแนนเลือกตั้ง ผบ.ตร.กันเอง
รูปแบบการคัดเลือกจะเลือกจากรอง ผบ.ตร. 12 คน คัดเหลือ 3 คน ให้ทั้ง 3 คนแสดงวิสัยทัศน์การบริหารงานให้ตำรวจทั่วประเทศพิจารณา
ที่ผ่านมา สปท.ได้ส่งแนวทางการปฏิรูปไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วและได้รับความเห็นชอบ
แต่การปฏิรูปตำรวจครั้งนี้ต้องแก้ พ.ร.บ.ตำรวจบางเรื่อง จึงเสนอให้นายกฯใช้มาตรา 44 ดำเนินการ เพราะหากปล่อยผ่านให้ถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อไหร่คงจะเหลว
เพราะไม่มีนักการเมืองคนไหนยอมให้อำนาจตัวเองลดลง?
เรื่องนี้ทำให้วงการตำรวจฮือฮา วิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆนานา บางคนเห็นด้วย เพราะไม่ต้องการให้ใครมามีอำนาจเหนือ “คนสีกากี” ด้วยกัน บางคนไม่เห็นด้วยว่าของเก่าดีอยู่แล้ว ก็ว่ากันไป
ตามหลักการผมก็เห็นด้วยที่จะให้ตำรวจปลดแอกจากนักการเมืองซะที!
แต่เท่าที่ดูหลักการเบื้องต้นมีช่องโหว่อยู่หลายอย่าง เช่น อยากให้ สปท.ให้ความสำคัญไปที่ขั้นตอนการเลือกรอง ผบ.ตร.ทั้ง 3 นาย ที่จะเข้ารอบสุดท้ายมาชิงตำแหน่ง “บิ๊กปทุมวัน”
เพราะถ้ามีมือที่มองไม่เห็นจับเด็กตัวเองยัดเข้ามาครบ 3 คนได้เมื่อไหร่ ไอ้ที่พยายามกันก็หมดความหมาย?
ที่สำคัญอำนาจการย้าย–ปลด ผบ.ตร.จะอยู่ที่ใคร ถ้าอยู่ที่นักการเมืองเหมือนเดิมก็เรียบร้อย เพราะมีตัวอย่างให้เห็นมาทุกยุคทุกสมัยจนชินตา
ถ้าคิดจะปลดก็ปลด คิดจะย้ายก็ย้ายได้เมื่อไหร่ สุดท้ายก็เข้าอีหรอบเดิม...