
จัด 'บีชการ์ด' ดูแล นทท.เกาะพะงัน หลังสาวถูกพิษแมงกะพรุนกล่องดับ
นอภ.เกาะพะงัน เล็งจัด ‘บีชการ์ด’ ดูแลนักท่องเที่ยว เกาะพะงัน หลังสาวถูกพิษแมงกะพรุนกล่องเสียชีวิต พบมีมากช่วงหน้าฝน และหากปฐมพยาบาลไม่ถูกวิธี อาจเร่งให้เสียชีวิตได้ ...
จากกรณี น.ส.ชญานันท์ สุรินทร์ อายุ 31 ปี นักท่องเที่ยวชาวไทย ซึ่งเดินทางมาเที่ยวงานฟูลมูนปาร์ตี้ที่เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี และลงเล่นน้ำที่ชายหาดริ้น ม.6 ต.บ้านใต้ ก่อนจะถูกแมงกะพรุนกล่อง ทำร้ายจนเสียชีวิต เมื่อช่วงดึกวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา
ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 58 นายเกริกไกร สงธานี นอภ.เกาะพะงัน ได้เดินทางไปตรวจสอบบริเวณชายหาดริ้น ซึ่งเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวเสียชีวิต พร้อมกับหารือกับผู้ประกอบการโรงแรมบริเวณหาดริ้น ถึงมาตรการการป้องกัน และช่วยเหลือนักท่องเที่ยวกรณีโดนถูกแมงกะพรุน ได้รับบาดเจ็บ
ทั้งนี้ นายเกริกไกร กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้น ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิต เพราะโดนพิษของแมงกะพรุน โดยครั้งแรกเกิดกับลูกนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อปี 2557 ซึ่งเด็กได้เสียชีวิต และล่าสุดคือ น.ส.ชญานันท์ ซึ่งตนได้หารือกับทางแพทย์ของ รพ.เกาะพะงัน ทราบว่า แมงกะพรุนกล่อง จะมีพิษที่สามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ หากมีการปฐมพยาบาลในเบื้องต้นไม่ถูกวิธี ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้ และทราบว่าโดยธรรมชาติ แมงกะพรุนชนิดนี้ จะมีมากในช่วงฤดูฝน ตนจึงเตรียมเรียกผู้ประกอบการมาประชุมหารือเรื่องมาตรการป้องกันเหตุ
นอภ.เกาะพะงัน กล่าวต่อว่า แนวคิดที่หารือกันล่าสุด ต่อไปจะจัดให้มี บีชการ์ด อยู่ประจำตามแนวชายหาด เพื่อคอยดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวทุกกรณี โดยจะจัดอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความเข้าใจในเรื่องของการปฐมพยาบาลเบื้องต้น กรณีนักท่องเที่ยวโดนแมงกะพรุนทำร้าย และจะคอยสังเกต หากพบมีแมงกะพรุนชนิดนี้มาก ก็จะสั่งห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำทันที สำหรับประชาชนทั่วไป ที่ถูกแมงกะพรุนทำร้าย ในเบื้องต้น ห้ามเกา บริเวณที่ถูกพิษ เนื่องจากการเกา หรือการถู จะทำให้พิษกระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้เร็วขึ้น ให้ใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณที่ถูกพิษ เพื่อให้พิษเจือจาง และรีบไปพบแพทย์ทันที
ด้าน นางวรรณี ไทยพานิช นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะพะงัน กล่าวด้วยว่า กรณีแมงกะพรุนทำร้ายนักท่องเที่ยว ทางสมาคมไม่ได้นิ่งนอนใจ ก่อนหน้านี้ก็เคยร่วมกันรณรงค์ป้องกันเหตุมาอย่างต่อเนื่อง แต่การดูแล และควบคุมนักท่องเที่ยว อาจจะไม่ทั่วถึง ซึ่งตนเห็นด้วยหากจะมี บีชการ์ด คอยดูแลตามแนวชายหาด โดยผู้ประกอบการภาคเอกชน พร้อมที่จะสนับสนุนในส่วนของเงินทุนที่ใช้ในการป้องกันเหตุ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นมาอีก โดยเฉพาะในช่วงหลังฝนตก จะคอยห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำอย่างเด็ดขาด.