มุมมอง พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ผบช.ภ.1 ข้อมูลประวัติการปฏิรูปตำรวจเริ่มสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 คิดทำให้เป็นตำรวจของพระมหากษัตริย์ และตำรวจของประชาชน
จนมาปรับโครงสร้างเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขียนกฎหมายให้ฝ่ายการเมือง นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก.ต.ช.มีอำนาจแต่งตั้ง ผบ.ตร. และรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง เป็นประธาน ก.ตร.แต่งตั้งนายพล
เก้าอี้ ผบ.ตร. และนายพลอยู่ในอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของฝ่ายการเมือง
ทุกตำแหน่งมีโอกาสที่จะถูกสั่นคลอนโยกย้ายพ้นตำแหน่งได้ตลอดเวลา
ตำรวจทุกระดับชั้นต่างวิ่งเข้าหารับใช้สนองความต้องการนักการเมือง ไม่เป็นตำรวจของพระมหากษัตริย์ ไม่เป็นตำรวจของประชาชน แม้ตำรวจส่วนใหญ่ไม่คิดอยากรับใช้นักการเมือง แต่จำต้องทำ ไม่รับใช้ไม่ได้ ตำรวจอึดอัดที่ถูกแทรกแซงอย่างไม่มีระบบจากนักการเมืองทุกระดับชั้น นักการเมืองท้องถิ่นยันระดับประเทศ
ต่างจากรูปแบบโครงสร้างของศาลและอัยการ ไม่ต้องรับใช้นักการเมืองคนใด เพราะศาลมีคณะกรรมการตุลาการ และอัยการมีคณะกรรมการอัยการ เป็นรูปแบบองค์กรอิสระ การตัดสินคดีความว่ากันไปตามตัวบทกฎหมาย
ถ้าไม่คิดปฏิรูปปรับตำรวจให้พ้นจากการแทรกแซงการเมือง หรือ “คนนอก” โดยเฉพาะแต่งตั้งโยกย้าย
ไม่มีทางเรียกศรัทธาตำรวจกลับคืนมา
หัวโต๊ะ ก.ตร. และ ก.ต.ช. ต้องเป็นตำรวจเข้ามาคิดตัดสินใจและบริหารกันเอง เอาการเมืองออกมา
ถ้าไม่คิดเปลี่ยนในยุคนี้ที่ คสช.เข้ามาก็หมดโอกาส
เพราะไม่คิดว่าจะมีนักการเมืองคนไหนที่คิดลิดรอนอำนาจตัวเองลงมา
ถ้าไม่ทำวันนี้ตำรวจ ก็ต้องทนอยู่ภายใต้อำนาจของนักการเมืองต่อไปอีกนาน
ตำรวจส่วนใหญ่ที่เห็นความตั้งใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ซึ่งเป็นอดีต ผบ.ทบ.ที่ต่อสู้ในเรื่องการแทรกแซงทางการเมือง
น่าจะเป็นความหวังของตำรวจเข้ามา “ปลดการเมือง” ให้ตำรวจได้พ้นจากอำนาจมืดครอบงำ
ตำรวจทุกคนคาดหวังที่จะได้เห็นภาพความเป็นผู้นำที่รู้ปัญหา เข้าใจ และจริงใจ
ปรับตำรวจให้เป็นตำรวจเพื่อประชาชน ยอมตัดทอนอำนาจการเมืองลงมา
เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ได้รับการยกย่องเป็น “วีรบุรุษของตำรวจไทย”