'แม่ทัพภาค 3' แก้ปมรุกป่า ดัน 'เชียงของ' เป็นเขต ศก.พิเศษ
4 ก.พ. 2558 19:46 น.
กองทัพเห็นด้วยดัน อ.เชียงของ เป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตามคำสั่ง คสช. แม่ทัพภาค 3 เสนอตัวช่วยแก้ปัญหาเรื่องที่ป่าถูกรุกล้ำ ด้านปลัดอำเภอเชียงของ ขอตั้งศูนย์ราชการแห่งใหม่ ไว้คอยประสานงานกับ 6 เมือง 4 ประเทศ
วันที่ 4 ก.พ. พล.ท.สาธิต พิธรัตน์ แม่ทัพภาคที่ 3 ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากการตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของส่วนราชการ ณ อาคารจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 เชียงของ-ห้วยทราย อ.เชียงของ จ.เชียงราย ว่า เห็นด้วยที่จะกำหนดให้ อ.เชียงของ เป็นเมืองโลจิสติกส์ของ จ.เชียงราย เพราะตามสภาพที่ตั้ง อ.เชียงของ เชื่อมโยงกับ 4 ประเทศ 6 เมือง ได้แก่ พม่า จีนตอนใต้ ลาว และเวียดนาม

"ได้มอบหมายให้ อ.เชียงของ ทำโรดแมปจากประเด็นปัญหาที่มีอยู่ และกำหนดเป็นยุทธศาสตร์เพื่อไปสู่การเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งทางกองทัพรับปากว่าจะช่วยผลักดันปัญหาที่ติดขัดต่างๆ เช่น ปัญหาเรื่องที่ดินในผืนป่าสาธารณะถูกรุกล้ำ เพื่อใช้ประโยชน์ด้านพัฒนาพื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ" พล.ท.สาธิต กล่าว
นายธวัชชัย ภู่เจริญยศ ปลัดอำเภอเชียงของ กล่าวว่า ขณะนี้ได้เสนอเรื่องต่อแม่ทัพภาคที่ 3 ขอให้มีศูนย์ราชการใหม่ เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการประสานงาน และเตรียมความพร้อมใน 5 เรื่อง ได้แก่ 1. อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค 2. การประสานงานของหน่วยงาน ทั้งหอการค้า กลุ่มการค้าชายแดน นักธุรกิจ ใน 6 เมือง ที่เชื่อมโยงกัน คือ เชียงราย เชียงใหม่ บ่อแก้ว หลวงน้ำทา สิบสองปันนา คุณหมิง ให้ใกล้ชิดมากขึ้น

3. ด่านศุลกร และความพร้อมดูแลรักษาความปลอดภัยทางการเงิน การคลังและการธนาคาร ในพื้นที่รัศมี 45 กม. 4. จัดการปัญหาอุปสรรคข้อกฎหมาย เรื่องป่าสาธารณะถูกรุกล้ำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5. การให้มีอำนาจเด็ดขาด มีคณะทำงานที่ชัดเจน ในการจัดการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อ.เชียงของ จ.เชียงราย คือ 1 ใน 5 จังหวัด ที่ คสช.กำหนดให้ได้รับการพัฒนาเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เฟส 2 ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป โดย 4 จังหวัดที่เหลือ ได้แก่ จ.กาญจนบุรี จ.หนองคาย จ.นครพนม และ จ.นราธิวาส ซึ่งก่อนหน้าหน้านี้มีมติให้ อ.แม่สอด จ.ตาก อ.อรัญประเทศ จ.อุบลราชธานี ชายแดนด้าน จ.ตราด ชายแดนด้าน จ.มุกดาหาร และ อ.สะเดา จ.สงขลา เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เฟสแรก ตั้งแต่ปี 57 โดยทั้งหมดอยู่ความดูแลของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทำการศึกษาและเก็บข้อมูล ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.).