ในวารดิถีขึ้นปีใหม่ ปีเก่ากำลังจะผ่านไป ปีใหม่กำลังจะเข้ามาอีกแล้ว บรรยากาศในช่วงนี้ของทุกปี ผู้คนมักนิยม "ส่งความสุข" หรือ ส.ค.ส. ให้กัน ถึงแม้ปัจจุบัน พี่น้องประชาชนจะเลือกส่ง การ์ด ส.ค.ส. น้อยลง เพราะหันมานิยมส่ง ส.ค.ส. ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กมากขึ้น เนื่องจากมีความสะดวก ถึงมือผู้รับทันที แต่การส่งความสุขในลักษณะดังกล่าว ดูจะขาดเสน่ห์ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ข้อความก็ค่อยๆ หายไปด้วย 

"เสน่ห์ของ ส.ค.ส. ผมว่ามันอยู่ที่ลายมือคนเขียน กว่าจะคิดเขียนหนังสือออกมาสักฉบับ จะสะท้อนตัวตน ตอนนี้หากรับข้อความไลน์ รู้สึกว่าทุกข้อความเหมือนกันหมด แต่หากคุณรับ ส.ค.ส. จากเพื่อนรัก บางทีไม่ได้หยิบมาอ่านครั้งเดียว บางครั้งก็หยิบขึ้นมาอ่านอีก ยิ่งเป็นแฟน คนรักแล้ว จะเก็บไว้บนหัวนอนเลย ตัวอักษร ความรู้สึก ที่เห็นผ่านลายมือมันอยู่ได้นาน หากสังเกตดูจะรู้ว่าคนสมัยนี้ไม่ละเอียดอ่อน ไม่ลึกซึ้ง โกรธง่าย แตกต่างจากคนสมัยก่อน ที่เขาประณีต บรรจงเขียนความรู้สึกส่งความสุขให้กัน" นายปิยะวัตร์ มหาเปารยะ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าว 

...

ขณะเดียวกัน ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ยังได้มีโอกาสเดินทางไปพูดคุยกับบุรุษไปรษณีย์ ถึงที่ทำการไปรษณีย์สำเหร่ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จาก นายสุมิตร รวยดี หัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์ แนะนำบุรุษไปรษณีย์ 2 คน 2 รุ่น เล่าเรื่องความประทับใจของอาชีพ "บุรุษไปรษณีย์" ในฐานะผู้ทำหน้าที่ "ม้าเร็วส่งความสุขให้ถึงมือประชาชน"

บุรุษไปรษณีย์ 2 นาย คือ นายอนันต์ กองแก้ว อายุ 58 ปี ตำแหน่ง พนักงานปฏิบัติงานไปรษณีย์ทั่วไป 7 (พปป.7) อายุ 58 ปี เริ่มทำงานเมื่อปี 2523 และ นายชิษนุพงศ์ ภาคนารี พนักงานนำจ่ายไปรษณีย์ 3 (พนจ.3) อายุ 36 เริ่มทำงานปี 2542 

สองบุรุษไปรษณีย์ กล่าวถึง การส่ง ส.ค.ส.ในปีนี้ว่า ต้องยอมรับว่าจำนวนการส่ง ส.ค.ส. มันลดลงไปบ้าง เนื่องจากความนิยมของคนส่งน้อยลง แต่ก็ยังดีที่มีภาคเอกชนและภาครัฐ ยังส่งให้ลูกค้าอยู่ ตัวเลขจึงไม่ได้ลดอย่างน่าใจหาย หากเปรียบเทียบสมัยก่อน ก็ต้องมีการทำโอทีเพื่อนำไปส่งให้ถึงมือประชาชนกันเลย 

"หลายสิบปีก่อนนั้น เวลาผมเดินทางไปส่ง จะมีเด็กๆ หรือหนุ่มสาวเดินเข้ามาถามว่า "ของฉันมีมั้ย...ของหนูมีหรือเปล่า" จำนวน ส.ค.ส.ที่มีคนส่ง ก็มาก ขนกันไม่หมดเลยทีเดียว" นายอนันต์ เล่าถึงความหลัง  

"ปัจจุบันก็ยังมีคนถามผมอยู่ว่า ของฉันมีมั้ย เนื่องจากผมรับหน้าที่นำจ่ายโดยตรง อย่าว่าแต่เมืองไทยเลย ของต่างประเทศก็มีส่ง เพราะเมื่อผมไปถึงบ้านเขา เขาจะเดินเข้ามาถามผมเลยว่า "ของต่างประเทศพี่มาหรือยัง...พี่รอ ส.ค.ส. จากต่างประเทศอยู่ กลัวมาไม่ทัน" ผมเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้หลายครั้ง ที่สำคัญที่เขาอยากรับ ส.ค.ส. เพราะเขาอยากรู้ว่า ญาติพี่น้องเขาจะส่ง การ์ด ส.ค.ส. ให้เขาเป็นรูปแบบใด" ชิษนุพงศ์ กล่าว

ส.ค.ส. จากต่างประเทศ มีมากน้อยแค่ไหน

"เยอะมาก ส่วนตัวคิดว่า น่าจะมากกว่าในประเทศด้วยซ้ำ ส่วนใหญ่เขาจะนิยมส่งให้ก่อนปีใหม่ ซึ่งเริ่มต้นส่งกันตั้งแต่เดือนที่แล้ว ส่วนจะได้เร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับว่าส่งแบบไหน ส่งแบบธรรมดาก็มาช้าหน่อย ใครส่งแบบด่วนก็จะมาเร็ว ผมว่าคนที่อยู่ต่างประเทศ คนที่อยู่ต่างประเทศเขาจะนิยมส่งโปสการ์ดหรือไม่ก็เป็นของมากกว่าคนที่อยู่ในประเทศ ที่อาจจะส่งไลน์หากัน" ชิษนุพงศ์ เล่าให้ฟัง

...

"สำหรับผมก็เช่นกัน สมัยผม ตอนนั้นคนไทยนิยมไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ดังนั้น ส.ค.ส. โปสการ์ด หรือสิ่งของต่างๆ ที่มาจากตะวันออกกลางจะเยอะ" บุรุษไปรณีย์ที่เริ่มทำงานตั้งแต่ปี 2523 กล่าว 

มั่นใจ เวลาผ่านไปแค่ไหน คนก็ยังนิยมส่ง ส.ค.ส.ให้กัน

"เชื่อว่าไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนไปอย่างไร ส.ค.ส. ก็ไม่มีทางหาย แต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบไหน เมื่อก่อนอาจจะเป็นโปสการ์ด แต่เดี๋ยวนี้เป็นรูปร่างแล้วแต่เขาจะประดิษฐ์ เชื่อว่าไม่มีทางหาย" ชิษนุพงศ์ ให้ความเห็น

"ผมเองก็มั่นใจว่าไม่หาย เพราะเราเก็บไว้เป็นหลักฐาน คนรักเก็บสะสมไว้มันมีคุณค่าทางจิตใจ" นายอนันต์ กล่าว

...

หน้าที่บุรุษไปรณีย์ 1 คน ต่อ 1 พันหลังคาเรือน

ชิษนุพงศ์ เล่าการทำหน้าที่บุรุษไปรณีย์ในพื้นที่ สำเหร่ ที่เขารับผิดชอบให้ฟังว่า ตนรับผิดชอบบ้านคนประมาณ 1 พันหลังคาเรือน ช่วงก่อนปีใหม่จะมีคนส่ง ส.ค.ส.ให้กับบ้านเรือนกว่า 400 หลัง ถ้ายิ่งปีใหม่ก็จะยิ่งเยอะ โดยเฉพาะตามบริษัทห้างร้านที่ส่งให้ลูกค้าก็มหาศาล หากให้นับคนที่ส่งหากัน ส่ง ส.ค.ส.มาจากต่างจังหวัด ก็มีเยอะ

ความรู้สึกคนทำหน้าที่ บุรุษไปรณีย์

"ลองนึกภาพดู หากเราไปส่งจดหมายไปให้กับคนๆ หนึ่ง เขาวิ่งมารับด้วยท่าทีดีใจมาก เราเห็นแล้วรู้สึกหายเหนื่อย แค่เรามาจอดรถหน้าบ้านเขาจำได้แล้ว เขาถามว่าใช่จดหมายที่เขารอหรือเปล่า แค่บอกว่าใช่ เขายิ้มเราก็ประทับใจ" นายชิษนุพงศ์ กล่าว ขณะที่นายอนันต์ กล่าวว่า "ผมเองก็รู้สึกคล้ายกัน แค่เห็นเขาดีใจเราก็ดีใจกับเขาแล้ว"

การส่งจดหมายครั้งไหนยากลำบากที่สุดในชีวิต

นายชิษนุพงศ์ กล่าวว่า พื้นที่รับผิดชอบของตนไม่ได้ลำบากมาก หากจะลำบากจริงๆ ก็ในพื้นที่สวนตอนฝนตก เราต้องย่ำโคลนเข้าไป ที่สำคัญ คือ "หมากับไปรษณีย์" เหมือนของคู่กัน โดนไล่กัดเป็นประจำ ขนาดมาส่งทุกวัน มันก็ไล่ทุกวัน ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน ต้องวัดใจกับมันดู บางทีเราอาจจะต้องซื้อของเพื่อตีซี้กับมัน เพื่อให้เราเดินเข้าไปได้

...

นายอนันต์ เล่าว่า พื้นที่สมัยก่อนจะเป็นสวน มีอยู่ครั้งหนึ่งเดินเข้าไปหมามันก็มองเราเฉยๆ ไม่มีท่าทีอะไร เราก็เลยเดินนำจดหมายเข้าไปใส่ในตู้ แต่พอหันหลังเดินออกมา มันย่องเข้ามางับเรา

กว่าจะเป็นบุรุษไปรษณีย์ ต้องผ่านการฝึกอย่างไรบ้าง

นายอนันต์ กล่าวว่า สมัยตนเป็นรุ่นที่ใช้จักรยาน ต้องผ่านการเทรนเหมือนกัน ปั่นจากบ่อนไก่ไปแยกท่าพระ ผมใช้จักรยานส่งจดหมายต่างๆ อยู่ 3 ปี จากนั้นเขาก็เลิกใช้ ยังดีคือสมัยก่อนจะเน้นไปที่จดหมาย ส.ค.ส. แต่เดี๋ยวนี้มันเป็นพัสดุชิ้นใหญ่ๆ  

ส่วนเรื่องการฝึกฝน ชิษนุพงศ์ บอกว่า หากไม่มีการเทรน เราจะไม่สามารถเป็นบุรุษไปรษณีย์ได้ สิ่งแรกที่ต้องรู้คือ เราต้องรู้จักจดหมาย ว่ามีลักษณะใดบ้าง สิ่งสำคัญคือพื้นที่บ้าน ตรอก ซอก ซอย เราต้องรู้ เพราะทุกเช้าเราจะต้องเรียงจดหมายขึ้นรถ เราต้องรู้ว่าจดหมายนี้อยู่บ้านหลังไหน บ้านหลังไหนเราต้องผ่านก่อน เราต้องมาเรียงลำดับ ทุกขั้นตอนต้องมีครูฝึก หากไม่มีครูก็ต้องมีบัดดี้ช่วยเทรนให้ ถ้าไม่ผ่านขั้นตอนนี้บอกเลยว่าไม่มีใครทำได้ แต่สำหรับผมใช้เวลาเรียนรู้ประมาณ 15 วัน

ลายมือคนเขียน ชวนปวดหัว เขียนรายละเอียดไม่ครบ คนส่งก็มึน!

เมื่อถามถึงลายมือคนเขียนจดหมาย ชิษนุพงศ์ ตอบสั้นๆ ได้ใจความว่า "มีปัญหาอย่างแรง!" บางคนไม่เขียนบ้านเลขที่ด้วย เราก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการดูนามสกุล ในหนึ่งพันหลังที่ผมรับผิดชอบ สามารถจำนามสกุลได้ ยิ่งถ้าเป็นพวก ส.ค.ส. การ์ดอวยพร เรายิ่งต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างยิ่ง จะถามเพื่อนหรือชาวบ้านแถวนั้นก็ต้องหาคำตอบให้ได้ ส่วนที่ใช้เวลาหาที่อยู่นานสุดๆ จะเป็น กรณีของคนแขก เพราะคนแขกมีนามสกุลเดียวกันหมด ไม่สามารถเดาได้ว่าหลังไหน ที่สำคัญหากไปส่งบ้านผิด งานเข้าทันที เขาจะร้องเรียน ชื่อนามสกุลเขาแทบจะซ้ำกันทั้งหมด เราต้องเดินถามทีละหลัง

"ปัญหาเรื่องลายมือผมเองก็มีปัญหา บางทีเป็นภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาจีน เราต้องไปหาคนที่อ่านภาษาจีนได้ ส่วนภาษาอังกฤษ ผมก็พอได้ ส่วนภาษาอื่นๆ ก็ไม่มีใครแปลได้ แต่จดหมายในลักษณะนั้นถือว่าเป็นส่วนน้อยมาก หากจดหมายมาจากต่างประเทศส่วนใหญ่จะเป็นภาษาอังกฤษ" นายอนันต์ กล่าว 

ประทับใจที่สุดในชีวิต เมื่อนำ ส.ค.ส.ใบสุดท้ายจากแม่มาส่งให้ลูก

"ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เอง ผมไปส่ง ส.ค.ส. ฉบับหนึ่งให้กับผู้หญิงคนหนึ่ง เมื่อเขารับ ส.ค.ส. จากผม เขาก็ร้องไห้โฮ ผมเองก็งง คิดว่าผมทำอะไรผิดหรือเปล่า จึงตัดสินใจเสี่ยงลองถามดูว่า "พี่ร้องไห้ทำไมครับ" เขาก็เล่าให้ฟังว่า "เขาได้เขียน ส.ค.ส.ส่งให้กับแม่ ซึ่งแม่กำลังป่วยมาก โดยในจดหมายบอกว่ากำลังจะกลับไปเยี่ยม แต่ยังไม่ทันได้ไปเยี่ยม แม่ได้เสียชีวิตแล้ว นึกไม่ถึงว่าแม่ จะส่งความสุข (ส.ค.ส.) สุดท้ายมาให้" เรื่องทั้งหมดนี้คือเรื่องจริงครับ นี่คือสิ่งที่ประสบการณ์ที่ผมรู้สึกประทับใจที่สุด"

"การทำหน้าที่บุรุษไปรษณีย์ ไม่ใช่แค่พนักงานคนหนึ่งที่ทำหน้าที่ส่งจดหมาย แต่เราต้องเป็นมิตรกับชาวบ้าน ต้องทำให้ประชาชนไว้ใจ" ชิษนุพงศ์ กล่าว 

"เรื่องประทับใจขนาดนั้น สำหรับผมไม่มี ของผม เป็นเรื่องสมัยก่อน วันหนึ่งได้นำจดหมายไปส่งในสวนแห่งหนึ่ง ตอนนั้นน้ำท่วม แต่ก็ไม่ถึงท่วมสูงมาก แต่ก็ต้องเดินบนแผ่นกระดานแผ่นเดียว ระหว่างที่ทางเดินเข้าไป ร้องบอกเจ้าของบ้าน "จดหมายคร้าบบ....โครม" ผมตกลงไปในน้ำ มือก็ต้องชูจดหมายไม่ให้เปียก" นายอนันต์เล่าพลางชูมือทำท่าถือจดหมายประกอบ ใบหน้ายิ้มแย้มเมื่อนึกถึงความหลัง กับการทำหน้าที่บุรุษไปรณีย์ 

ขณะเดียวกัน รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ยอมรับว่า การส่ง ส.ค.ส. ลดหายไปพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนส่ง 100 แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 30 คน ที่ส่งอยู่ก็จะเป็นหน่วยงานภาครัฐ หรือเอกชน ซึ่งเอกชนบางส่วนก็อาจจะส่งพร้อมของพรีเมียม เป็นต้น ส่วนบุคคลทั่วไปเขาส่งทางอื่น ไม่ได้ส่งเป็นกระดาษอีกแล้ว

แม้จดหมาย ส.ค.ส. จะลดน้อยลง ตู้ไปรษณีย์ก็จะไม่ลด เพราะมันคือ แบรนด์ของเรา เราต้องรักษาไว้ แม้เปิดตู้มาพบจดหมายนิดเดียวก็ตาม แม้คนทั่วไปจะไม่ส่งแต่ภาคธุรกิจเขายังส่งหาเราอยู่ ดังนั้น ปริมาณการใช้งานจึงไม่ได้ลดลง แต่เพิ่มขึ้นปีละ 2% แต่มันเปลี่ยนรูปแบบจากเอกสารส่วนตัว เป็นเอกสารทางธุรกิจ

นายปิยะวัตร์ กล่าวต่อว่า ส.ค.ส. น้อยลง เรารู้สึกมานานแล้ว เมื่อก่อนเราเปิดตู้จดหมาย 3 เวลา แต่เดี๋ยวนี้เปิดตู้จดหมายครั้งเดียว ทั้งนี้ ความเจริญก้าวหน้าของไอทีเป็นภัยคุกคามต่อข่าวสารของเรา โทรคมนาคมแย่มาก โทรเลข หายไปแล้ว ข่าวสารส่วนตัวถูกแทนที่ด้วยไอที เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก ไปรษณีย์จึงต้องปรับตัวทำหน้าที่เป็นผู้จัดส่งสิ่งของ ในภาพรวมของธุรกิจของจดหมาย ไปรษณีย์ขาดทุนกว่า 200 ล้าน แต่มันเป็นภาระที่เรารับผิดชอบต่อสังคม บางทีต้องไปส่งยังพื้นที่ชนบทห่างไกล จดหมาย 1 ฉบับ ลงทุน 3 บาท ส่งจาก กทม. ไปถึงที่ห่างไกล แม้ทางธุรกิจจะขาดทุนแต่เรายังมีกำไรจากธุรกิจกล่อง"

โทรเลข ไม่มีแล้ว ธนาณัติ อาจต้องปิดตาม! 

"สิ่งที่กลัวคือ เรื่อง ธนาณัติ เนื่องจากแบงก์สมัยใหม่รวดเร็ว มีตู้เอทีเอ็ม ส่วนธนาณัติเรายังอยู่ 2 แบบ คือ ธนาณัติเป็นกระดาษใส่ซองไปที่รับที่ไปรษณีย์ กับอีกรูปแบบคือธนาณัติออนไลน์ ส่งเงินที่ไปรษณีย์แล้ว จากนั้นให้โทรไปบอกคนที่จะรับเงิน นำเอาบัตรประชาชนไปขึ้นเงินที่ไปรษณีย์ภายใน 15 นาที แม้เทคโนโลยีนี้จะเร็ว แต่ก็สู้แบงก์ไม่ได้ เขามีบัตร ATM กดที่ไหนก็ได้ ยอมรับว่าธุรกิจนี้กำลังจะไป เรียกว่าดิ่งลงเรื่อยๆ แต่ที่ยังมีคนใช้อยู่ เพราะคนรุ่นพ่อแม่ที่ต่างจังหวัด บางครั้งเขายังใช้งาน ATM ไม่เป็น ส่วนหนึ่งเขาก็ยังมีความรักไปรษณีย์ เขาเคยชินกับไปรษณีย์ เวลาเขามาตลาด เขาก็จะมารวมตัวกันที่ไปรษณีย์" รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวทิ้งท้าย 

ด้วยเทคโนโลยีที่ยิ่งมีความเจริญก้าวหน้า สิ่งไหนที่อยู่ในยุคเก่าเดินทางอย่างเชื่องช้าไม่ทันใจผู้ใช้บริการ ความนิยมก็จะเสื่อมไปตามกาลเวลา อย่างเช่น โทรเลข ที่ไร้ความหมายในยุคที่การสื่อสารถึงที่หมายแค่ปลายนิ้ว ขณะที่ ธนาณัติ อาจจะเป็นรายต่อไป ที่ต้องจากไปพร้อมคนรุ่นพ่อแม่ ส่วนการส่งการ์ด ส.ค.ส. แม้จะถึงมือผู้รับไม่ทันใจ แต่ด้วยมนต์เสน่ห์ อาจจะทำให้อยู่รอดปลอดภัยอีกหลายปีก็เป็นได้