เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของ “ชุมชนเข้มแข็ง” ที่ชาวบ้านร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันป้องกันภัยอาชญากรรมภายในชุมชน ภายใต้ทฤษฎี “ปรับสภาพแวดล้อมเพื่อป้องกันอาชญากรรม” ของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก.ที่ได้สนับสนุนให้ตำรวจทุกหน่วยงานนำทฤษฎี สมัยใหม่ไปปรับใช้ในภารกิจของแต่ละหน่วยงาน
พ.ต.ท.ปริญญา กลิ่นเกษร สว.ส.ทล.1 กก.2 บก.ทล.ได้ส่ง ร.ต.อ.เกรียงศักดิ์ ถิ่นมีผล และทีมงาน เข้าไปอยู่และทำงานร่วมกับ ชุมชนวัดกาหลง ต.กาหลง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ตามทฤษฎี Community Policing เป็นเวลาเกือบปีที่ผ่านมา
สร้างความเป็นหุ้นส่วนเสมือนเป็นสมาชิกคนหนึ่งของชุมชน มีเครือข่ายหลายภาคส่วนที่ร่วมกันทำงาน ฝ่ายการเมือง ฝ่ายศาสนา ฝ่ายข้าราชการ สื่อ ภาคเอกชน
มีหลายๆปัญหาที่เป็นปัญหาเล็กๆน้อยๆ หากปล่อยไว้ก็อาจจะลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้
กลุ่มวัยรุ่นตั้งวงดื่มสุรากันริมทะเลท้ายหมู่บ้าน พอตกดึกก็เสียงดังโวยวาย ขว้างขวด ทำลายข้าวของหลวง เป็นที่หวาดระแวงของคนที่เดินผ่านไปมา ชาวบ้าน ตำรวจ และส่วนต่างๆ ได้หารือกันแก้ปัญหาโดยการสลายวงเหล้าแต่หัวค่ำ และเรียกมาตักเตือน จนในที่สุดก็หายเงียบไป
จนทำให้ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้าน หันมาใส่ใจปรับสภาพแวดล้อมเพื่อป้องกันอาชญากรรมมากขึ้น
เริ่มตั้งแต่ทางสาธารณะที่ชาวบ้านมักถูกวิ่งราวทรัพย์ ก็ช่วยกันตัดต้นไม้ถางหญ้าเพิ่มไฟส่องสว่าง และติดตั้งกล้องวงจรปิด มีการปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านของตนเอง เพื่อให้ปลอดภัยต่ออาชญากรรม
ล่าสุด นายกเทศมนตรีตำบลกาหลง ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน และ แกนนำชุมชน จัดงานมอบรางวัล “หน้าบ้านน่ามอง” ภายใต้ทฤษฎี ปรับสภาพแวดล้อมเพื่อป้องกันอาชญากรรม
ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ทฤษฎี 1 หลักการ ในการป้องกันอาชญากรรม
ชิงถ้วยและเงินรางวัล จาก พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก. เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาใส่ใจการป้องกันอาชญากรรมด้วยตนเองกันมากขึ้น ต่างจากสมัยก่อนที่ชาวบ้านรอคอยความหวังจากตำรวจ
เข้ากับนโยบาย “อาชญากรรมลด ประชาชนรัก” ของ พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.
เป็นอีกแนวคิดของตำรวจที่รุกเข้าหาชุมชนเพื่อทำให้ประชาชนรักและเข้าใจตำรวจ
เป็นการเปลี่ยนแปลงของตำรวจให้ทันโลกสมัยใหม่.