หลังจากมีข่าวหญิงชาวนาจาก จ.สุพรรณบุรี ร้องเรียนถูกบิลเรียกเก็บเงินรายเดือนในการใช้บริการโทรศัพท์มือถือจากบริษัทเอไอเอสกว่า 2 แสนบาท
เหตุเพราะลูกชายวัย 13 ขวบเล่มเกมคุกกี้รันของแอพพลิเคชั่นไลน์แล้วซื้อเพชรโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
จากนั้นก็มีผู้ได้รับบิลทำนองเดียวกันนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆกว่า 10 ราย บางรายหลักหมื่น บางรายหลักแสน มากที่สุดคือผู้ใช้ที่ จ.ตาก ถูกเรียกเก็บถึงเกือบ 6 แสนบาท
รวมยอดกว่า 1 ล้านบาท
ถึงแม้ว่าเอไอเอสจะยอมยกเว้นค่าบริการให้ทุกราย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีช่องทางให้เสียเงินอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวและเป็นจำนวนเงินที่สูงจนน่าตกใจ
ความผิดพลาดน่าจะเกิดจากบริษัทเอไอเอสเปิดบริการซื้อบริการผ่านเอไอเอสที่เรียกว่าโอปะเรเตอร์บิลลิ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ใช้บริการต้องซื้อผ่านบัตรเครดิต
การเปิดบริการเช่นนี้อาจจะเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าแต่ก็มีอันตราย
เห็นได้ว่าเพิ่งมีผู้ถูกเรียกเก็บในบิลรอบเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาเพราะเอไอเอสเพิ่งเปิดบริการประเภทนี้ ส่วนบริษัทอื่นเช่น ทรู หรือ ดีแทค ไม่มีปัญหาเพราะกำลังจะเปิดแต่ยังไม่เปิด
เอไอเอสหยุดให้บริการไปหลังเป็นข่าว อีก 2-3 วันต่อมาก็เปิดให้บริการใหม่ คาดว่าน่าจะมีระบบป้องกันเรียบร้อยแล้ว
เรื่องนี้น่าจะเป็นบทเรียนสำหรับบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายหรือที่เรียกว่า “โอปะเรเตอร์” ที่จะต้องคำนึงถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากลูกค้าผู้ใช้บริการมีหลายระดับ
เห็นได้ว่าส่วนใหญ่เป็นการใช้ของเด็กที่พ่อแม่ซื้อโทรศัพท์มือถือให้ใช้แล้วเด็กเอามาใช้เล่มเกมต่างๆ
นอกจากเกมคุกกี้รันแล้ว ยังมีเกมอื่นๆในแอพพลิเคชั่นอื่นๆอีกมากมายที่เปิดให้ซื้อสินค้า
ดังนั้นผู้ให้บริการจะต้องหามาตรการป้องกัน
ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นสิ่งเตือนใจสำหรับพ่อแม่ที่ต้องดูแลลูกๆในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว
ทุกคนเข้าถึงได้
การที่ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทันสมัยเป็นสิ่งที่ดี
แต่ก็มีผลเสียหากรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือรู้ไม่เท่าทันเทคโนโลยี
ดังนั้นผู้ให้บริการต้องมีความรับผิดชอบและผู้ใช้บริการก็ต้องมีความระมัดระวัง.