ผมเหนื่อยหน่ายเรื่องชายแดน...ครับ เบื้องลึกเบื้องตื้นเป็นไง...

ก็ว่ากันไป แต่เจ้ารักเจ้ายมที่ผมเลี้ยงไว้ กระซิบเข้าหู ที่จริงเป็นงานประชันละครเขมร ละครไทย

พอผู้นำสองฝ่ายเก็บคะแนนการเมืองได้พอ เรื่องทะเลาะก็จบ

เหลือบตาไปดูชายแดนไทยพม่า นี่ล่ะงานรบกันจริง เจ็บจริง และยืดเยื้อจริง

ในหนังสือ “รุกถอยหลัง” (สำนักพิมพ์ศยาม พิมพ์ พ.ศ.2544) ยังมีเรื่องที่ผมไม่ลอกเอามาเล่าอีกหลายเรื่อง เจอชื่อเรื่องไทใหญ่

ที่แม่ฮ่องสอน....ผมอยากรู้ ไทใหญ่อยู่ที่รัฐฉานของพม่า มาทำอะไรที่แม่ฮ่องสอน

ที่แม่ฮ่องสอน นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว คุยกับอ้ายส่างแก้ว วงษ์พา ไทใหญ่เกิดที่เมืองหมอกใหม่ รัฐฉาน ประเทศพม่า อพยพหนีสงครามมาได้ยี่สิบปี (พ.ศ.2540) ได้สัญชาติไทยแล้ว มีบัตรประชาชนแล้ว

สมัยอ้ายส่างแก้วเป็นเด็กๆ ฉานยังเป็นรัฐใต้อารักขาของอังกฤษ อ้ายยังทันเห็นฝรั่งเข้ามาเก็บภาษีคนไท พวกเจ้า และคนรวย เสียปีละ 12 บาท คนจนเสียภาษีปีละ 1 บาทบ้าง 50 สตางค์บ้าง

ฝรั่งขี่รถจี๊ปเข้ามาเก็บภาษีปีละ 2 ครั้ง ช่วงหน้าแล้งเดือนสี่ และช่วงออกพรรษา รวบรวมเงินภาษีใส่ปี๊บมาตั้งไว้หน้าหอคำเจ้าฟ้า นับเงินด้วยการเอาตีนลงไปเหยียบเงินในหีบ ย่ำตีนไม่กี่ครั้งก็จะรู้ว่าได้เงินภาษีมากน้อย

ช่วงฝรั่งเข้าเมือง ชาวบ้านก็จะเดือดร้อน เพราะถูกเกณฑ์มา

ให้ฟ้อนนกฟ้อนโตรับนาย งานฟ้อนที่ดูเป็นความบันเทิงนั้น เบื้องหลังซ่อนทุกข์ยิ่งใหญ่ เพราะตอนฝรั่งอยู่ บ่อนการพนันจะถูกสั่งปิดหมด ทำเอาหงอยกันไปทั้งเมือง

คนไทใหญ่สมัยนั้น ทั้งเจ้าและไพร่เล่นพนันกันมาก เจ้าฟ้าจัดงานบ่อยๆเพื่อเอาภาษีจากคนประมูลเล่นพนัน ตอนนั้นเล่นพนันกันทุกเมือง ทุกวัน

พวกเจ้าก็เล่นกันในหมู่เจ้า หยิบทองใส่ตาชั่งกันเป็นกำๆ ไม่ได้แทงทีละรูปเหมือนชาวบ้านธรรมดา ซึ่งเล่นกันทุกบ้านช่อง “สมัยนั้น ติดพนันกันงอมแงม” อ้ายว่า

...

“แต่คนทุกข์ยากไม่มีเท่าไหร่ มาทุกข์สาหัสเอาจริงๆ ก็เมื่อตอนตกอยู่ใต้การปกครองของทหาร”

อ้ายเล่าด้วยว่าเจ้าฟ้ารุ่นใหม่บางท่าน พยายามต่อสู้กับนิสัยติดการพนันของชาวบ้าน แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะรัฐบาลสนับสนุนให้เปิดบ่อนให้ชาวบ้านมัวเมาเต็มที่จะได้ปกครองง่าย

จนปี 2505 นายพลเนวินปฏิวัติ ไทใหญ่หลายคนก็เริ่มเกลียดชังเจ้าฟ้า หลายองค์หนีออกนอกประเทศ

“แต่ถ้าเจ้าฟ้าไม่หนี ก็คงถูกฆ่า”

การเมืองพม่า มีผลให้คนไทใหญ่ในรัฐฉานย้ายถิ่นเข้ามาอยู่แม่ฮ่องสอน ซึ่งก็มาได้ง่าย เพราะในอดีตญาติพี่น้องสองแผ่นดิน เดินทางมาค้าขายกัน แม่ฮ่องสอนเมืองสร้างใหม่มีกลิ่นอายไทใหญ่อยู่แล้ว

ก็แสดงอิทธิพลศิลปวัฒนธรรมไทใหญ่ชัดเจนขึ้น

หลักฐานหนึ่ง ตามมุมเจดีย์ในวัดแม่ฮ่องสอน ปั้นรูปสิงโต 2 ตัวหัวเดียว หน้าเป็นคน เรียกว่า “สิงห์สองปุ๋ม” อันหมายถึงสิงห์สองพุง

อ้ายส่างแก้วอธิบาย “สิงห์ตัวนี้มีไว้เตือนใจคนไทใหญ่ขี้ตะกละ เปรียบเป็นคติถึงคนที่เวลามีงานบุญ ไม่เคยออกแรง ไม่เคยจ่ายเงินทำบุญ แต่พอยกอาหารมาจะกินมาก กินจนพุงเดียวไม่พอ ต้องมีพุงที่ 2 เก็บสำรอง

ไม่เพียงกินมูมมาม กินจุ ยังกินก่อนตุ๊เจ้า

นิพัทธ์พรจบเรื่องสิงห์สองปุ๋มแค่นี้ ไม่ได้สอนให้คิดต่อ...วัฒนธรรมคนสองพุง...จากแม่ฮ่องแสน กลายเป็นโรคระบาด แพร่หลายลงใต้เข้ามาถึงคนไทย

ข่าวล่าคนระดับที่ปรึกษา ทำงานกินเบี้ยเลี้ยง เงินเดือนเท่าไหร่...

ก็ไม่รู้ แต่เพิ่งรู้กันทั้งบ้านเมือง เผลอทำเงินตกหล่นให้มีคนเก็บได้ตั้ง 12 ล้าน นี่ขนาดที่ปรึกษาเล็กๆ...เงินตกๆหล่นๆยังแค่นี้ ถ้าเงินหล่นๆ

ของคนใหญ่ๆจะแค่ไหน

มองพม่า มองไทใหญ่รัฐฉาน แล้วก็มองไทย...ผมก็ถอนหายใจ โชคดีวันนี้เรายังไม่เสียเมือง.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม