“ปราจีนบุรีต้นน้ำฝั่งตะวัน ออก”...ถ้าเกิดมลพิษซึ่งปัจจุบันก็เกิดบ้างแล้ว สารพิษลงมาปลายน้ำก็ไปถึงกันหมดครับไม่ว่าฉะเชิงเทรา กรุงเทพฯ สมุทรปราการ..สารพิษมันไม่รู้จักจังหวัดครับ
“Suthee Rattanamongkolgul” โพสต์เฟซบุ๊ก ฝากถึงอีกว่า “ชาวปราจีนบุรี” ครับ โอกาสสุดท้ายแล้วที่ท่านจะตัดสินใจเลือกจะเข้าร่วมในพื้นที่อีอีซีหรือไม่? เชื่อมโยงกรณีเวทีร่วมแสดงพลังปกป้องปราจีนบุรีจาก EEC เมื่อวันจันทร์ที่ 19 พ.ค.2568 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ราชการจังหวัดปราจีนบุรี (ศาลากลางใหม่)
เวลา 09.00 น. ทำพิธีสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.5 เพื่อขอบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมให้ชาวปราจีนบุรีอยู่เย็น เป็นสุข ไม่ต้องทนทุกข์จาก “มลพิษ” ของกากอุตสาหกรรมอันตรายและเมตตาขจัดปัดเป่าไม่ให้ปราจีนบุรีเข้า EEC แบบถาวร
“พวกเราชาวนครนายกจะไปร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจพวกท่านครับ”
ประเด็นสำคัญที่น่าเป็นกังวลก็คือ...ปัญหาทุนจีนที่เข้ามาทำธุรกิจแบบผิดกฎหมายในประเทศไทย หรือ “ทุนจีนเทา” ที่ผ่านมาสะท้อนชัดเจนให้เห็นแล้ว หนึ่งในพื้นที่ที่มีปัญหาหนักสุดคือ “ภาคตะวันออก”

...
โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีอุตสาหกรรม ปัจจุบันเต็มไปด้วยโรงงานจีนเข้ามาตั้ง จ้างคนงานจีนมาทำงานในอาชีพสงวนสำหรับคนไทย ตั้งร้านค้า ตั้งอพาร์ตเมนต์ปล่อยเช่ากันเอง
เรียกว่า...ทำธุรกิจแบบศูนย์เหรียญ “เงิน” ไม่ตกถึง “คนไทย” สักบาทเดียว
นอกจากนี้ยังมีปัญหาทุนจีนลักลอบนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งจากเอเชียและจากยุโรปเข้ามาแปรรูป สกัดทองแดงและโลหะมีค่าส่งกลับไปขายยังประเทศจีน ทิ้งมลพิษและกากอุตสาหกรรมลงสู่ธรรมชาติ
ความน่ากังวลคือโรงหลอมและโรงงานคัดแยกขยะรีไซเคิลเหล่านี้กำลังกระจายตัวไปทั่วภาคตะวันออกของไทย โดยที่กฎหมายเปิดช่องให้ตั้งโรงงานลักษณะนี้ในเขตชุมชนได้?
“กฤช ศิลปชัย–Krit Silapachai” สส.ระยอง (เขตเมืองระยอง) พรรคประชาชน สะท้อนภาพไว้อีกว่า การลงทุนที่เข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เราย่อมยินดีตอบรับและสนับสนุน

“แต่...การเข้ามาทำธุรกิจแบบศูนย์เหรียญ ตั้งแต่นำเข้า แปรรูปวัตถุดิบ ผลิตสินค้า ไปจนถึงรีไซเคิลขยะ มีร้านค้า ร้านอาหาร ร้านตัดผม หอพัก คอนโดของจีนเอง ไม่มีเงินสักบาทกระเด็นถึงคนไทยในพื้นที่ แถมยังทำผิดกฎหมายไทยนานัปการ ไม่สมควรยอมรับได้”
ที่สำคัญ...การปล่อยให้เรื่องพวกนี้เกิดขึ้นโดยไม่จัดการอะไร ก็ย่อมเป็นการสะท้อนศักยภาพของ “รัฐบาล”...รัฐบาลจะหนีความรับผิดชอบไม่ได้ เมื่อปัญหาเกิดจากนโยบายของรัฐบาล รัฐบาลก็ต้องแก้ไขที่นโยบาย พร้อมกับทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่
ถึงตรงนี้วิเคราะห์กันว่า...ปัญหาใหญ่ของ “อีอีซี” ตอนนี้คือไม่มีน้ำใช้ในอุตสาหกรรมการผนวกปราจีนบุรีเข้าไปก็จะช่วยเป็นทางส่งน้ำไปให้พื้นที่อื่นๆได้ด้วย ซึ่งก็จะตามด้วยการสร้างเขื่อนรอบๆเขาใหญ่ต่อไป
ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าอีอีซี “คนปราจีน”...จำได้ไหม? วันที่มีข่าว “ซีเซียม 137” กระจายในพื้นที่ ผลไม้ที่ตลาด อตก. จากปราจีนบุรีขายไม่ออกเลย แม่ค้าร้องห่มร้องไห้...
นึกภาพต่อไป อนาคตหากมีข่าว “ขยะพิษ” และ “สารเคมี” แพร่ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีจำนวนมาก จังหวัดนี้มีชื่อเสียงเรื่องผลไม้...ถ้าผลไม้ปลูกจากพื้นที่ที่มีมลพิษมากๆต่อไป ใครที่จะซื้อผลไม้ก็อาจต้องถามว่ามาจากจังหวัดไหน...มีอุตสาหกรรมที่เป็นมลพิษหรือไม่? โดยดูจาก “GI” หรือ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

...
ย้อนไปเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาเวที “ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ EEC” ณ ศาลากลางจังหวัดปราจีนบุรี จัดให้แก่หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน และผู้แทนภาคประชาสังคม...
มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) สรุปตัดตอนเผยแพร่องค์ประกอบของงาน นอกจากช่วงเปิดงานแล้ว เวลาส่วนใหญ่กว่า 1 ชั่วโมง เป็นการ บรรยายของ ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในหัวข้อ “EECUPDATE และสิทธิประโยชน์ในการเข้าร่วมเป็นพื้นที่ EEC”
...ต่อจากนั้นเป็นวงเสวนาหัวข้อ “EEC ให้อะไรกับจังหวัดปราจีนบุรี” ผู้สังเกตการณ์มองว่าเวทีนี้ผู้แทนในส่วนของจังหวัดค่อนข้างดูงงๆและไม่ได้มีการนำเสนอเนื้อหาอะไรเป็นจริงเป็นจัง ซึ่งข้อห่วงใยสำคัญที่มีการกล่าวถึง เช่น เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม มลพิษทางน้ำและอากาศ การแย่งชิงน้ำและน้ำเสีย
เมื่อจบเสวนาแล้วประชาชนที่เข้าร่วมจำนวนหนึ่งแสดงเจตจำนงชัดเจนว่าไม่ได้ต้องการถามคำถาม แต่ต้องการให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็น “สุนทร” เป็นหนึ่งในนั้น เขาว่า “ยุทธศาสตร์สำคัญของเมืองปราจีนบุรีได้แก่เรื่องพื้นที่อาหารปลอดภัย การเป็นเมืองสมุนไพรและเมืองสุขภาพดี ส่วนการที่ EEC จะเข้ามายังปราจีนฯ เห็นว่าอาจจะเร็วไป...เนื่องจากยังไม่ได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จของพื้นที่ 3 จังหวัด EEC เดิม”

...
อีกทั้งสถานการณ์โลกทำให้นักลงทุนหลักคือคนจีน ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในจังหวัดปราจีนบุรีอยู่แล้วว่าเป็นการลงทุนที่แทบไม่มีการจ้างแรงงานไทย ทั้งการควบคุมกำกับดูแลก็ทำได้ยาก
สุนทรยังได้ตั้งคำถามถึงกระบวนการมีส่วนร่วมและกระบวนการตัดสินใจ ตลอดจนตั้งประเด็นว่าการพัฒนาควรอยู่บนฐานทรัพยากรของพื้นที่และตอบสนองต่อคนพื้นที่ อีกทั้งให้ระวังภาวะที่ดินหลุดมือและปัญหามลพิษด้วย...ก็ได้แต่หวังว่าเวทีที่เหลือ จะเป็นการจัดรับฟังความเห็นคนพื้นที่อย่างแท้จริง
มิใช่เพียงพิธีกรรมหรือการจัดกระบวนการให้ครบๆและผ่านๆไป
สุดท้ายนี้...หลายเสียงขอประสานเป็นพลังส่งคำถามดังๆไปถึงท่านผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีว่าจริงไหมที่ “คนปราจีนฯ บอกว่าท่านจะผลักดันให้จังหวัดปราจีนบุรีเข้าเป็นอีอีซีอย่างเต็มที่...? (เพราะ...ท่านก็เคยเอาคนจีนมาเป็นที่ปรึกษา)”.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม