วัดศักยภาพองค์กรอิสระ สตง. /ป.ป.ช. เผยสิ่งปลูกสร้าง รวม 4 โครงการรัฐ สร้างแล้วปล่อยทิ้งร้าง ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณเงินภาษีประชาชน รวมมูลค่าความเสียหายเกือบ 200 ล้านบาท พบบางแห่งตั้งอยู่ใกล้กับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สุดท้ายเอาผิดใครไม่ได้ ไม่มีคนรับผิดชอบ คนผิดลอยนวล

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2568 ที่ จ.นครพนม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผ่านมากว่า 10 ปี ยังเป็นปัญหาคาใจของประชาชนชาวนครพนม รวมถึงผู้พบเห็น กรณีมีสิ่งปลูกสร้างร้าง รวมถึง 4 โครงการรัฐ ที่เกิดจากการจัดสรรงบประมาณภาษีประชาชนมาดำเนินการก่อสร้าง สุดท้ายถูกปล่อยร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามเป้าหมาย อีกทั้งยังปล่อยทิ้งร้างเป็นซากปรักหักพัง

ประกอบด้วย 1. โครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย กลุ่มพื้นที่ 3 ที่สร้างด้วยงบประมาณกว่า 60 ล้านบาท อยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลนาแก อ.นาแก จ.นครพนม ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2554 สุดท้ายไม่ได้ใช้งานปล่อยทิ้ง

...

2. โครงการก่อสร้างอาคารหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ของ อบจ.นครพนม ก่อสร้างภายในพื้นที่ ต.หนองญาติ อ.เมืองนครพนม เมื่อประมาณปี 2555 ใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 30 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นศูนย์จัดกิจกรรม จำหน่ายสินค้าโอท็อปของชุมชน รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่ จ.นครพนม แต่ปัจจุบันอาคารหลังดังกล่าวที่มีขนาดใหญ่ สร้างแบบทรงไทย เป็นอาคารยกสูง ครึ่งปูนครึ่งไม้ สวยงามอลังการ ถูกปล่อยทิ้งไม่มีการใช้งานนานกว่า 10 ปี ทำให้เกิดปัญหาชำรุดทรุดโทรม ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบ รวมถึง อบจ.นครพนม ไม่เร่งรัดดูแลแก้ไขอย่างจริงจัง ทิ้งไว้เป็นอาหารปลวก ไม้ตัวอาคารเริ่มผุพังเสียหายหนัก ยากที่จะซ่อมแซม

ส่วนโครงการที่ 3 คือ โครงการค่ายลูกเสือโลก มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่ ต.หนองญาติ อ.เมืองนครพนม รวมถึงอาคารอำนวยการค่ายลูกเสือ ห้องน้ำมาตรฐาน และอาคารเอนกประสงค์ ใช้งบประมาณกว่า 50 ล้านบาท ในความดูแลของ จ.นครพนม ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2555 สุดท้ายปล่อยร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์

และโครงการที่ 4. โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ของ อบจ.นครพนม ก่อสร้างด้วยงบประมาณกว่า 50 ล้านบาท ในพื้นที่ ต.หนองฮี อ.ปลาปาก จ.นครพนม ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 สุดท้ายใช้งานไม่ได้ ถูกปล่อยร้าง ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ

ทั้งนี้ รวม 4 โครงการที่ใช้งบประมาณภาษีประชาชน มีมูลค่าความเสียหายมากเกือบ 200 ล้านบาท เป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงแม้บางโครงการจะมีการตรวจสอบเอาผิดจากองค์กรอิสระ ป.ป.ช. รวมถึงสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และหน่วยงานเกี่ยวข้อง แต่ยังถูกแช่แข็งไม่ชัดเจนกับแนวทางเอาผิดเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ส่วนบางโครงการยังไม่มีการดำเนินการตรวจสอบเอาผิดฐานความผิดละเมิด และเอาผิดทางอาญากับเจ้าหน้าที่ รวมถึงผู้มีอำนาจเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างอาคารหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ของ อบจ.นครพนม งบประมาณกว่า 30 ล้านบาท และโครงการค่ายลูกเสือโลก ใช้งบประมาณกว่า 50 ล้านบาท ที่ตั้งอยู่ใกล้กับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน จังหวัดนครพนม แต่ยังไม่มีความชัดเจนในการตรวจสอบเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ หรือกลุ่มบุคคลที่ผลักดันโครงการให้เกิดขึ้น

...

ขณะเดียวกัน ทำให้ประชาชนชาวนครพนม รวมถึงผู้พบเห็นโครงการอดคิดไม่ได้ว่า เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์แอบแฝง แต่ไม่คำนึงถึงความคุ้มค่าของงบประมาณจากภาษีประชาชน สำคัญที่สุดถือเป็นโครงการ “สิ่งปลูกร้าง” ตัวชี้วัดถึงศักยภาพขององค์กรอิสระ ทั้ง ป.ป.ช. และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ว่าจะมีความสามารถหาคนมารับผิดชอบ และชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน เพราะหากทำไม่ได้ จะกลายเป็นอนุสรณ์สถานที่ยืนยันถึงความล้มเหลวในการตรวจสอบเอาผิด ทำให้ข้าราชการและนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังไม่เกรงกลัวความผิด และกระทำผิดซ้ำซาก