การศึกษา คือ พื้นฐานของการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่โอกาสการเข้าถึงการศึกษาของแต่ละคนไม่เท่ากัน เพราะมีปัญหาเรื่องรายได้ของครอบครัวผู้ปกครอง กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จึงมาเติมเต็ม หยิบยื่นโอกาสให้เด็กที่ต้องการศึกษาต่อในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัยได้เรียนต่อ ด้วยการให้กู้ยืมเงิน
เกือบ 30 ปีที่ “กยศ.” ได้ให้เด็กกู้ยืมเรียน มีเด็กกู้ยืมเรียนแล้วมากกว่า 7.1 ล้านคน แบ่งเป็นอยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.58 ล้านคน อยู่ในช่วงปลอดชำระหนี้ 1.53 ล้านคน ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1.96 ล้านคน เสียชีวิต-ทุพพลภาพ 74,490 คน
โดยแต่ละปีจะมีนักเรียน นักศึกษามายื่นกู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันอยู่ที่ 600,000 คน กู้ผ่านสถาบันการศึกษา 4,400 แห่ง วงเงินราว 37,000 ล้านบาท ดังนั้น กยศ.ต้องมีเม็ดเงินหมุนเวียน เพื่อปล่อยกู้ในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 40,000 ล้านบาท
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา “กยศ.” ประสบปัญหาการชำระหนี้ของผู้กู้กว่า 70% ไม่มีวินัยในการชำระหนี้ ทั้งๆที่เมื่อเรียนจบ หากยังไม่มีงานทำก็ไม่ต้องชำระหนี้เป็นเวลา 2 ปี แต่หลังจากนั้นมีงานทำแล้วก็ยังไม่ยอมชำระหนี้ ทั้งๆที่การชำระหนี้คืนอยู่ในอัตราต่ำแต่ละรายไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับวงเงินกู้ ส่วนใหญ่ตั้งแต่ 1,000-5,000 บาทต่อเดือน
บางคนไม่ยอมชำระหนี้ แต่ใช้ชีวิตหรูหรา ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ใช้ของแบรนด์เนม แต่ไม่ชำระหนี้ แม้ กยศ.จะทวงหนี้แล้ว แต่ก็ยังเพิกเฉย ไม่หนี ไม่จ่าย อยากได้เงินให้ไปฟ้องร้อง ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้องอย่างมาก ดังนั้น หากคิดจะเบี้ยวหนี้ ขอให้ย้อนคิดไปถึงวันที่ยื่นกู้ กยศ.ครั้งแรก เพราะต้องการโอกาสทางการศึกษาจึงมายื่นกู้ กยศ. เพราะฉะนั้นเมื่อเรียนจบ ได้โอกาสทางการศึกษาที่ดีแล้ว มีงานทำแล้ว ต้องมาชำระหนี้ด้วย เพื่อให้โอกาสรุ่นน้องได้เรียนต่อ
...
ปัญหาการไม่มาชำระหนี้ของผู้กู้ กยศ.เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การหักบัญชีเงินเดือนจากนายจ้างเป็นอีกวิธีหนึ่ง ที่จะพยายามให้ผู้กู้มีวินัยทางการเงิน ซึ่ง “กยศ.” ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ยอมให้หักเงินเดือนผู้กู้ กยศ.
โดยปัจจุบันมีผู้กู้ที่ถูกหักเงินเดือน 1.366 ล้านคน วงเงิน 1,688 ล้านบาท แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว หลายคนตกงาน ไม่สามารถผ่อนชำระได้ โดย “กยศ.” ก็ได้ชักชวนให้มาปรับโครงสร้างหนี้ บางคนชำระหนี้เดือนละ 500 บาท และ 1,000 บาท แต่เมื่อครบกำหนดการปรับลดงวดผ่อน ก็ต้องกลับมาชำระตามเดิมในอัตรา 3,000 บาทต่อเดือน เพื่อ “กยศ.” จะได้มีเงินไปปล่อยกู้ในปีการศึกษาถัดไป หรือหากยังไม่มีเงินผ่อนชำระก็สามารถมาเจรจาตกลงกัน
ขณะที่ กยศ.พยายามเร่งยกระดับองค์กร ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้การปรับโครงสร้างหนี้ให้ผู้กู้ผ่านออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวก ลดระยะเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเดินทางไปทวงหนี้ จากที่ผ่านมา กยศ.ต้องจัดเวทีไปตามสถานที่ต่างๆทั่วประเทศ เพื่อรณรงค์ให้ผู้กู้เงิน กยศ.มาปรับโครงสร้างหนี้ และชำระหนี้ รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับการชำระหนี้ เพื่อสร้างวินัยทางการเงิน และในอนาคต กยศ.จะเชื่อมข้อมูลกับหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ สามารถติดต่อให้ผู้กู้ กยศ.มาชำระหนี้
แต่ปัจจุบัน กยศ.ได้พยายามรณรงค์ให้ผู้กู้เงิน “กยศ.” ลงทะเบียนปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ กยศ. https://www.studentloan.or.th ซึ่งในอดีตมีผู้ลงทะเบียนปรับโครงสร้างหนี้หลักหมื่น แต่ปัจจุบันใกล้แตะ 300,000 รายแล้ว ดังนั้น กยศ.จะเร่งรณรงค์ให้ผู้กู้มาปรับโครงสร้างหนี้
เพราะตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2566 ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วนั้น หากผู้กู้มาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ นอกจากอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 1% ต่อปีแล้ว เบี้ยปรับยังลดเหลือ 0.5% ต่อปี ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันด้วย
แต่หากไม่มาปรับโครงสร้างหนี้ แม้ดอกเบี้ยจะปรับลดลง แต่ผู้ค้ำประกันยังไม่หลุดสถานการณ์ค้ำ ดังนั้น ผู้ค้ำประกันเงินกู้ กยศ.ต้องแจ้งให้ผู้กู้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ด้วย เพื่อจะได้หลุดพ้นจากการค้ำประกัน มิเช่นนั้นอาจเกิดกรณีการฟ้องร้องเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตามผู้กู้ กยศ.มีทั้งชำระหนี้ตามปกติ โดยไม่เคยเบี้ยวหนี้แม้แต่ครั้งเดียว มีราว 1.29 ล้านราย ค้างชำระ 1.19 ล้านราย ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีในศาลค้างชำระ 668,897 ราย ส่วนผู้กู้ที่ศาลพิพากษาแล้ว อยู่ระหว่างบังคับคดี 325,650 ราย
ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องผู้กู้ที่มีงานทำแล้วให้มาชำระหนี้ กยศ. เพื่อ กยศ.จะได้มีเงินหมุนเวียนไปปล่อยกู้ให้กับรุ่นน้องถัดไป เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง อย่าได้เบี้ยวหนี้เลย
หากไม่มีเงินชำระหนี้จริงๆขอให้เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ได้ เพื่อกองทุน กยศ.จะได้รู้ว่าศักยภาพการชำระหนี้ของผู้กู้เป็นอย่างไร จะได้หาทางออกร่วมกัน ดีกว่าปล่อยให้หนี้สินบานปลาย อย่าปล่อยให้หนี้สินพอกหางหมูไปเรื่อยๆ เพราะสามารถผ่อนขั้นต่ำได้เดือนละ 500 บาทก็ได้ ซึ่งมีระยะเวลาการผ่อนยาวนานกว่า 15 ปี หลังจบการศึกษา
...
เพราะการศึกษาคือโอกาสของชีวิต เพราะการศึกษา ทำให้มีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มีเงิน มีทอง มีรถ มีบ้าน ทำให้ชีวิตดีขึ้น ดังนั้น รุ่นพี่ที่กู้เงิน กยศ.ควรใช้หนี้กยศ. เพื่อให้โอกาสรุ่นน้องที่ไม่มีเงิน ฐานะทางบ้านยากจน ได้มีโอกาสดีๆแบบรุ่นพี่ผู้กู้ กยศ.
ดวงพร อุดมทิพย์
คลิกอ่านคอลัมน์ “The Issue” เพิ่มเติม