แม้จุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดิน ไหวจะอยู่ใกล้มัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา มีระยะทางห่างจากกรุงเทพฯ มากกว่า 1,000 กิโลเมตร แต่แรงสั่นสะเทือนยังสามารถแผ่กระจายมาทำให้อาคารสูงหลายแห่งแตกร้าว และเกิดเหตุการณ์อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มลงมาทั้งหลังได้
กลายเป็นตัวอย่างแผ่นดินไหวระยะไกลส่งผลกระทบต่อ “อาคารสูงเสียหายในพื้นที่กรุงเทพฯ” ที่มีสภาพชั้นดินอ่อนรับแรงแผ่นดินไหวเพิ่มความรุนแรงการสั่นสะเทือนมากขึ้นถึง 3-4 เท่าเมื่อเทียบกับพื้นที่มีชั้นดินแข็ง ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย มองว่า

ถ้าดูตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2550 กำหนดให้โครงสร้างอาคารมีคนอยู่ตั้งแต่ 5,000 คนขึ้นไป หรืออาคารสูงตั้งแต่ 15 เมตรหรือ 5 ชั้นขึ้นไปต้องออกแบบอาคารรองรับแผ่นดินไหว ทำให้ตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใด “อาคาร สตง.สร้างใหม่สูง 30 ชั้นจึงถล่มลงมาแบบแพนเค้ก” ที่เป็นลักษณะเกิดจากฐานรากไม่มั่งคงจนทรุดตัว
เรื่องนี้ถ้าให้สันนิษฐานสาเหตุ “อาคารพังทลายลงมาแบบ แพนเค้กนั้น” ก็น่าเชื่อมาจากรากฐานอ่อนแอ การก่อสร้างมีคุณภาพมาตรฐานที่ยังไม่ได้รองรับแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว หรืออาจเกิดจากการออกแบบ และการก่อสร้างที่ผิดพลาด รวมถึงการไม่ได้ทดสอบความแข็งแกร่ง และคุณภาพวัสดุหรือไม่
...
ทำให้เวลาเกิดแผ่นดินไหวระยะไกลแม้แรงสั่นสะเทือนจะไม่มากก็ก่อให้อาคารยุบตัวพังทลายแบบแพนเค้ก ต่างจากการพังทลายรูปตัววีที่โครงสร้างจะพังตรงกลาง หรือการพังแบบพิงผนัง ซึ่งผนังด้านหนึ่งจะพังลงมา
จริงๆ แล้ว “สภาพดินกรุงเทพฯเป็นดินเหนียวอ่อน” หากดูสถิติมักจะทรุดตัวเฉลี่ยปีละ 1 ซม. และบางแห่งทรุดตัวประมาณ 1-2 นิ้ว ก็มีโดยเฉพาะพื้นที่ใช้น้ำบาดาลมากอย่างบางนา บางกะปิ มีนบุรี และฝั่งตะวันตกของ กทม. เช่น เขตบางขุนเทียน ถนนพระราม 2 และพื้นที่มหาชัย จ.สมุทรสาคร ที่ในอดีตพื้นที่เหล่านี้เป็นดินชุ่มน้ำ
สมัยก่อนหากใครขับรถผ่าน “ถนนพระราม 2” จะเห็นด้านซ้ายเป็นนาเกลือ และด้านขวาเป็นนากุ้ง ก่อนมาสร้างถนนพระราม 2 เป็นถนนกั้นน้ำป้องกันน้ำทะเลเข้าพื้นที่ตอนในกรุงเทพฯทำให้ใต้ถนนถูกน้ำแช่อยู่ตลอด

ปัญหามีว่า “สร้างถนนยกระดับคร่อมถนน” กลายเป็นว่าโครงสร้างขนาดใหญ่น้ำหนักกว่า 100 ตันกำลังกดทับลงมาถนนพระราม 2 ก่อเกิดการทรุดตัวของดินอยู่ตลอด และบวกกับน้ำทะเลหนุนสูงเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 0.53 มิลลิเมตร แถมระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 0.39 ม. ในปี 2573 สูงขึ้นระดับ 0.73 ม. ในปี 2593 และสูงขึ้น 1.68 ม. ในปี 2643
ตอกย้ำให้โครงสร้างทรุดตัวของดินอ่อนมากขึ้น “บวกกับการเกิดแผ่นดินไหว” ยิ่งมีโอกาสทำให้โครงสร้างถล่มลงมาได้ง่าย เหตุนี้การก่อสร้างโครงการใหญ่ๆบนดินเหนียวอ่อนนุ่ม และเคยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ จึงเป็นจุดอันตรายต้องประเมินผลกระทบทางวิศวกรรม และสิ่งแวดล้อมให้รอบคอบโดยนำโอกาสเกิดภัยพิบัติมาคิดร่วมด้วย
เช่นนี้ภาครัฐอาจต้องตรวจสอบอย่างน้อยทุก 1-2 ปีต่อครั้ง ถ้าให้ดีควรปูถนนใหม่ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อสร้างความแข็งแรงทนทาน แต่หากต้องการสร้างให้มีค่ารับน้ำหนักสูงก็สามารถให้วิศวกรทำการออกแบบได้
ประการถัดมาคือ “โครงสร้างทางยกระดับในกรุงเทพฯ” ส่วนใหญ่ก่อสร้างก่อนปี 2550 จึงต้องตั้งข้อสงสัยโครงสร้างถูกออกแบบให้รองรับแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากแผ่นดินไหวหรือไม่ เพราะแม้ผู้รับผิดชอบจะตรวจสอบโครงสร้างทางพิเศษแล้ว “ไม่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว” แต่ก็ไม่ควรประมาทต้องตรวจสอบอย่างละเอียดอีก
หากเป็นไปได้ “ต้องเพิ่มฐานรากให้คงทนแข็งมากกว่าเดิม” เพราะแม้ว่ารอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่พาดผ่านประเทศไทยมีโอกาสเกิดได้น้อย แต่รอยเลื่อนในเมียนมาก็ยังมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้อีกในอนาคต ดังนั้นการก่อสร้างโครงการใดๆจำเป็นต้องคำนึงถึงการเกิดแผ่นดินไหวนำมาประกอบการพิจารณาร่วมด้วย
นอกจากนี้โบราณสถาน-โบราณคดีอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และเป็นสมบัติล้ำค่าที่ต้องส่งต่อให้คนรุ่นหลัง “ต้องสำรวจรอยแตกร้าว” เพื่อบูรณะซ่อมแซมฟื้นฟู และหามาตรการดูแลในระยะยาว
ถัดมาสำหรับ “อาคารสูงตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไปในเขตกรุงเทพฯ” เรื่องนี้ก็มีความเสี่ยงอันตรายจากผลกระทบของแผ่นดินไหวในอนาคต โดยเฉพาะอาคารทุกประเภทสร้างก่อนปี 2522 ไม่ว่าจะเป็นสะพาน โครงสร้างราง สถานีรถไฟ และทางด่วน แม้แต่เขื่อนเก็บกักน้ำในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน ล้วนมีความเสี่ยงสูง
...
เพราะโครงสร้างบางส่วน “ไม่ได้ออกแบบรองรับแรงแผ่นดินไหว” ดังนั้นคงเป็นโจทย์ให้รัฐบาลต้องควบคุมการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ให้มีคุณภาพมาตรฐานตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ รองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้จริงๆ เพราะด้วยอาคาร สตง.แห่งใหม่ถล่มคราวนี้ “สังคม” ค่อนข้างจับจ้องกันเป็นอย่างมาก
แล้วยิ่งอาคาร สตง.เป็นตึกเดียวที่ถล่มช่วงการเกิดแผ่นดินไหวคงต้องสอบสวนให้ชัดเจนว่าเกิดอะไร “เพื่อหาคนผิด” เพราะ สตง.เป็นหน่วยตรวจสอบงบการเงินภาครัฐต้องโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการด้วยซ้ำ

“สังคมต่างตั้งข้อสงสัยว่าอาคารหน่วยงานรัฐถล่มง่ายกว่าอาคารของภาคเอกชน สิ่งนี้กำลังสะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นต่ออาคารสูงในกรุงเทพฯ จะปลอดภัยสำหรับการทำงาน การท่องเที่ยว และการพักอาศัยไปทั่วโลก กระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว และภาคอสังหาริมทรัพย์ตอกย้ำให้เศรษฐกิจไทยย่ำแย่ลงกว่าเดิม” ดร.สนธิ ว่า
ประเด็นคือ “ประเทศไทยต้องมีระบบเตือนภัย” แม้แผ่นดินไหวไม่อาจรู้ล่วงหน้าแต่หากมีระบบเตือนภัยก็พอที่จะเตรียมตัวได้อย่างระบบเตือนสหรัฐฯ สามารถตรวจจับแผ่นดินไหวระยะทาง 300 กม.ขึ้นไปได้รวดเร็ว ส่งสัญญาณอัตโนมัติมายังประชาชนก่อนคลื่นแรงสั่นสะเทือนจะมาถึงได้ใน 90 วินาที
...
ด้วยระบบ Cell Broadcasting Service (CBS) ส่งข้อความเตือนภัยไปยังโทรศัพท์มือถือที่อยู่ในพื้นที่นั้นได้พร้อมกันโดยข้อความจะถูกส่งผ่านคลื่นวิทยุของเครือข่ายโทรศัพท์ให้ผู้รับไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต หรือหมายเลขโทรศัพท์เสาส่งสัญญาณจะกระจายข้อความเตือนภัยไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในพื้นที่นั้น
เมื่อได้รับแจ้งประชาชนจะเตรียม Emergency Kit หรือชุดอุปกรณ์ยังชีพฉุกเฉินเมื่อเกิดแผ่นดินไหวสามารถนำไปได้ทันทีมีตั้งแต่น้ำดื่ม 2 ลิตรต่อวันต่อคน ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น และยาประจำตัว ไฟฉาย ผ้าห่ม ถุงเท้า อาหารแห้ง วิทยุ เครื่องมือติดต่อสื่อสาร กระดาษชำระ ถุงพลาสติกห่ออาหาร และผ้าอนามัย ผ้าอ้อมเด็ก
ย้ำว่าในอนาคตแผ่นดินไหวยิ่งจะยกระดับความรุนแรงมากขึ้น “รัฐบาล” ต้องถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนี้เพื่อนำไปสู่มาตรการวางแผนเตรียมตัวรับมือไว้ล่วงหน้าที่จะช่วยลดความเสียหายลงได้.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม