เทศกาลสงกรานต์ ปี 2568 เวียนมาถึงอีกครั้ง แต่แทนคำว่า “รดน้ำดำหัว” หรือ “เย็นฉ่ำหัวใจ”...สิ่งที่ฝังแน่นในความทรงจำคนไทยกลับเป็นสถิติการตายบนถนนเฉลี่ยวันละกว่า 40–50 ราย...บาดเจ็บนับพัน นี่คือ “สถิติเสมือนสงคราม” ที่ไม่มีสงคราม
ในปี 2567 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 264 ราย...บาดเจ็บ 2,008 ราย สาเหตุหลักมาจากเมาแล้วขับ 37%, ขับเร็ว 25% กลุ่มเสี่ยงสูงสุดคือ...จักรยานยนต์, คนไม่สวมหมวก เหตุเกิดช่วงกลางคืนถึงเช้ามืด
“วันหยุดปีใหม่” หรือ “วันหยุดสงกรานต์” นับเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของคนไทย ทั้งจากการเดินทางท่องเที่ยว งานเลี้ยงพบปะสังสรรค์ แต่บางคนก็กลับเป็นช่วงเวลาของความโศกเศร้าที่ยากจะลืม
เมื่อพิจารณาจากตัวเลขสรุปผู้เสียชีวิตในช่วง 7 วันของเทศกาลสงกรานต์ จะพบว่าปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น ยังคงเป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่ง เพราะด้วยระยะเวลาเพียงแค่สัปดาห์เดียว ที่เรียกกันว่าช่วง “7 วันอันตราย” มักจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน
รวมโดยเฉลี่ยประมาณ 300–400 ราย หรือเทียบได้กับการเสียชีวิต 1 รายในทุกครึ่งชั่วโมง ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นสูงถึงสองเท่าจากปกติ
ดังนั้น...จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอด 7 วันของการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก
มาตรการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนช่วง “7 วันอันตราย” เว็บไซต์ “วุฒิสภา” www.senate.go.th ระบุว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อันดับหนึ่งคือการขับรถเร็วเกินกำหนด เป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ถัดมา...ดื่มแล้วขับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ
...
สาม...การขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด การเปลี่ยนเลนหรือแซงอย่างกะทันหันเป็นสาเหตุอุบัติเหตุ สี่...หลับใน การขับรถทางไกลอาจทำให้ผู้ขับขี่อ่อนเพลียและหลับใน ห้า...ไม่สวมหมวกนิรภัยและไม่คาดเข็มขัดนิรภัย การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัยทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารมีความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
หก...สภาพถนน สภาพถนนที่เปียกลื่นหรือมีทัศนวิสัยไม่ดีอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เจ็ด...ปริมาณรถที่หนาแน่น ช่วงเทศกาลสงกรานต์มีการเดินทางจำนวนมาก ทำให้การจราจรหนาแน่นและเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้การเฉลิม ฉลองรวมกลุ่มสังสรรค์ในชุมชนก็เป็นปัจจัยเสริมได้เช่นกัน
“ความเร็ว” ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องเร่งแก้...ปัจจุบันถนนทุกเส้นทางที่จริงแล้วมี “ความเร็วจำกัด” แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ และการจำกัดความเร็วนี้ก็เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะช่วยยกระดับความปลอดภัยทางถนน แผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ.2565-2570 (ฉบับล่าสุด) เสนอให้ปฏิรูปกฎหมายความเร็วใหม่
“การจำกัดความเร็วบนท้องถนน” เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะถนนหลายสายไม่ได้ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับการใช้งานได้ตั้งแต่แรก ดังนั้นจึงควรต้องแก้ที่โครงสร้างคือกำหนดความเร็วบนท้องถนนใหม่ให้เหมาะสม ถนนรูปแบบไหน ควรกำหนดความเร็วเท่าไร
รวมถึงอุปกรณ์และเทคโนโลยีในการตรวจจับความเร็วและระบบจ่ายค่าปรับต้องพร้อม ไม่ใช่ว่ากฎหมายดี จับคนขับรถเร็วได้เยอะ แต่ค่าปรับเก็บมาได้เพียงเล็กน้อย...ชวนให้คิดต่อว่า “คุณอยากเดินทางเร็ว” หรือ “ลดความเร็วลงให้ปลอดภัย”
ยกตัวอย่าง กรุงเทพมหานครที่ประกาศลดความเร็วบนถนนทุกสายให้เหลือ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งแม้จะไม่ใช่ตัวเลขที่ปลอดภัยที่สุด แต่ไม่สามารถลดได้มากกว่านี้ เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องความเร่งด่วนของคนเมือง นับรวมไปถึงการออกแบบถนนใหม่ให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ตอกย้ำ...ภาพรวมแผนแม่บทฯฉบับที่ 5 จะเน้นแนวทางสากล “Safe System Approach” ในการลดอุบัติเหตุทางถนน คือยอมรับว่า “คนพลาดได้” และมุ่งเน้นการออกแบบระบบทั้งหมด ได้แก่ “คน–รถ–ถนน–โครงสร้างการทำงาน” ให้มีความปลอดภัยสูงสุด

ข้อแนะนำปี 2568 ควรที่จะต้องมีมาตรการสำคัญเด็ดขาด ยกเครื่องใหม่แบบ...แก้จริง จับจริงภายใต้แนวคิด “สงกรานต์ปลอดภัย ขับขี่มีวินัย ร่วมใจลดอุบัติเหตุ” ด้วย 5 มาตรการเชิงรุก เริ่มจากชง พ.ร.บ.ใหม่ “สวมหมวกบังคับเด็ดขาด” จับ...ปรับทันที 2,000 บาท สำหรับผู้ขับขี่และคนซ้อนที่ไม่สวมหมวกกันน็อก
รวมถึงใช้ AI และกล้องตรวจจับครอบคลุมจังหวัดหลัก
ต่อเนื่องด้วยมาตรการ...ห้ามขายเหล้า 24 ชม.ในปั๊ม...ร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ งดเว้นยกเว้นตัดตอน “ต้นเหตุเมาแล้วขับ” ตั้งแต่ต้นทาง...ตรวจเข้มโฆษณาแฝง แคมเปญออนไลน์ กระตุ้นให้ดื่ม
เสริมทัพด้วย...ด่าน 3 ชั้น 3 รอบต่อวัน บูรณาการตำรวจ อปพร. ทหาร ตั้งด่านกระจายทุกเส้นสายหลัก เพิ่มระบบรายงานแบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชันกลาง เน้นตรวจก่อนเข้าหมู่บ้าน จุดล่อแหลมช่วงดึก
...
อีกทั้งอาจเปิดสายด่วน “หยุดรถเสี่ยง” ทันที แจ้งพิกัดรถเมา รถขับเร็ว จนท.เข้าเคลียร์ตรวจได้ภายใน 5 นาที
บวกกับมาตรการสุดท้าย...อาสาพิทักษ์หมู่บ้าน ครอบครัวช่วยเตือนกันเอง “ถ้ามีคนเมา...ไม่ให้ขับ” รัฐมอบอำนาจให้ผู้ใหญ่บ้าน...กำนัน พร้อมงบตั้งเวรยามชุมชน ตรวจรถลูกหลานก่อนออกเดินทาง
คำถามสำคัญมีว่าจะ “ทำจริง...เอาจริง” ได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่? เพราะทุกปีที่ผ่านมา เราก็ได้ยินคำว่า “จะเข้มงวด” แต่ผู้กระทำผิดกลับยิ่งเพิ่ม
สงกรานต์ที่เปียกน้ำ...แต่ต้องไม่เปื้อนเลือด 7 วันอันตรายไม่ควรกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทย มาตรการจะได้ผลต้องอาศัยมากกว่ากฎหมายคือจิตสำนึกของคนขับ เพราะไม่มีใคร “อยากตาย” ในเทศกาลที่ควร “มีแต่ความสุข”...“ขับช้า ไม่ใช่แพ้ แต่อาจได้ใช้ชีวิตต่อไปกับคนที่รัก”.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม