คณะทำงานสุดซอยลงพื้นที่บริษัทผลิตเหล็กใช้ก่อสร้างตึก สตง. ตัดตัวอย่างเหล็กที่โดนอายัดไปตรวจสอบ พร้อมขอดูบิลค่าไฟ เทียบช่วงเวลาโดนสั่งระงับผลิตเหล็ก

จากเหตุตึก 30 ชั้นถล่ม โดยเป็นตึกของ สตง. ที่กำลังก่อสร้างในพื้นที่จตุจักร กรุงเทพฯ โดยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและหาสาเหตุที่แท้จริง โดยทางทีมงานกระทรวงอุตสาหกรรมมีการจัดเก็บตัวอย่างเหล็กเส้นเพื่อไปตรวจสอบถึงคุณภาพ และมีการแถลงออกมาบางส่วนถึงเหล็กข้ออ้อยบางส่วนไม่ได้คุณภาพ แต่เพื่อความเป็นธรรมต้องมีการเก็บตัวอย่างให้ละเอียดอีกครั้ง ซึ่งเบื้องต้นมีการระบุถึงผู้ผลิตเหล็กที่ใช้บางส่วนมาจาก บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ที่เป็นโรงงานผลิตเหล็กข้ออ้อย

โดยพบว่า เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 68 ที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่ชุดสุดซอยของ รมว.อุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่ตรวจเหล็กข้ออ้อยของ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด พบว่า ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ตกเกณฑ์ที่สำคัญส่งผลโดยตรงกับความแข็งแรงของเหล็ก จึงมอบหมายให้ชุดตรวจการสุดซอย เข้าแจ้งผลพร้อมยึดอายัดเหล็กไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 2,441 ตัน มูลค่าราว 49.2 ล้านบาท และให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย

...

ล่าสุด เมื่อเวลา 09.00 น. ของวันที่ 2 เม.ย. 68 เจ้าหน้าที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดีเอสไอ และนางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ คณะทำงานของรัฐมนตรีอุตสาหกรรม หรือหัวหน้าทีมตรวจสุดซอย ได้เดินทางมาร่วมตัวกันที่เขตประกอบอุตสาหกรรม ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เพื่อจะเข้าไปตรวจสอบ บริษัท ชิน เคอ หยวน สตีล จำกัด

โดยก่อนที่จะเข้าไปตรวจสอบนั้นทางทีมงานได้มีการนำบิลค่าไฟ มาตรวจสอบเพื่อเปรียบเทียบว่าในช่วงที่บริษัทยังคงดำเนินกิจการอยู่ และช่วงที่บริษัทถูกให้ระงับการดำเนินกิจการ มีจำนวนค่าไฟที่แตกต่างกันมากน้อยขนาดไหน

จากการตรวจสอบพบว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายน ตอนที่บริษัทยังคงดำเนินกิจการอยู่นั้น มีค่าไฟอยู่ที่ 134 ล้านบาท ส่วนช่วงเดือนธันวาคม หลังบริษัทได้มีการสั่งระงับกิจการในวันที่ 19 ธันวาคม ค่าไฟจะลดลงเหลืออยู่ที่ 73 ล้านบาท

ในส่วนของปี 2568 เดือนมกราคมซึ่งเป็นเดือนที่มีการระงับการผลิตตลอดทั้งเดือนจำนวนค่าไฟได้ลดลงเหลืออยู่จำนวน 1.2 ล้านบาท และในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเดือนที่ได้มีการระงับการผลิตเช่นเดียวกัน ค่าไฟได้ลดลงมาเหลือที่ 6.4 แสนบาท โดยบิลค่าไฟดังกล่าวนี้จะสามารถตัวบ่งชี้ได้ว่าหลังจากมีคำสั่งให้มีการระงับการผลิตเหล็ก ทางบริษัทมีจำนวนตัวเลขในการจ่ายค่าไฟเหลือเดือนละเท่าไหร่

ต่อมาทางทีมงานชุดตรวจสอบได้เดินทางไปยังบริษัท ชิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ซึ่งอยู่บริเวณด้านในสุดของเขตประกอบอุตสาหกรรม โดยก่อนที่จะเดินทางเข้าไปตรวจสอบ ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการเข้าไปพูดคุยกับทางตัวแทนบริษัท เพื่อขอใช้อำนาจเข้าไปตรวจสอบเหล็กที่ได้มีการอายัดเอาไว้ ว่าได้มีการแกะหรือลักลอบนำไปจำหน่ายหรือไม่ และจะขอตรวจสอบโรงงานผลิตเหล็กว่าได้มีการเปิดใช้งานหลังมีคำสั่งให้หยุดผลิตหรือไม่

...

นอกจากนี้ทางคณะทำงานของรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ยังขอเอกสารบิลค่าไฟในเดือนมีนาคมกับทางบริษัท เพื่อจะนำมาเปรียบเทียบกับจำนวนค่าไฟที่ได้มาก่อนหน้านี้ ว่ามีตัวเลขใกล้เคียงกันกับช่วงที่บริษัทได้มีการระงับการผลิตหรือไม่ และขอเอกสารจัดซื้อจัดจ้าง ว่าที่ได้มีการส่งไปขาย สตง. เป็นเหล็กล็อตใด และมีจำนวนมากเท่าไหร่ ซึ่งทางตัวแทนบริษัทยินดีที่จะให้ความร่วมมือ และให้สื่อมวลชนเข้าไปตรวจสอบในโรงงานด้วย ส่วนเรื่องเอกสารการซื้อขายเหล็ก จะขอรวบรวมส่งภายใน 7 วัน เนื่องจากทางบริษัทไม่ได้มีการขายตรงกับทาง สตง. แต่เป็นการขายผ่านเอเจนซี่ซึ่งเป็นพ่อค้าคนกลางอีกทอดหนึ่ง

ต่อมาทางคณะชุดตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ของบริษัท และสื่อมวลชน ได้เข้าไปตรวจสอบโกดังเก็บเหล็ก ที่ได้มีการอายัดเอาไว้ พร้อมยืนยันว่าตั้งแต่กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการสั่งอายัดไม่ให้นำเหล็กเหล่านี้ออกจำหน่าย ทางบริษัทก็ไม่เคยเข้าไปยุ่งกับเหล็กจำนวนดังกล่าวเลย และขอยืนยันว่าเหล็กทั้งหมดที่ได้มีการอายัดเอาไว้นั้นยังอยู่ครบทุกเส้น

จากนั้นทางคณะทำงานได้ขอตัดตัวอย่างเหล็กที่ได้มีการอายัดเอาไว้ โดยเฉพาะเหล็กที่มีขนาด 32 มิลลิเมตร ที่ตรงกับเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร สตง. ไปตรวจสอบอีกครั้งที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย แม้ก่อนหน้านี้ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการเก็บตัวอย่างเหล็กชนิดดังกล่าวไปตรวจกับสถาบันเหล็กมาแล้วถึงสองครั้ง ซึ่งผลก็ออกมาว่าไม่ผ่านมาตรฐานทั้งสองครั้ง

...

ซึ่งระหว่างที่ทางคณะทำงานได้มีการพูดคุยกับตัวแทนของบริษัท ก็เกิดการโต้เถียงกันเล็กน้อย เนื่องจากทางตัวแทนบริษัทขอให้ทางเจ้าหน้าที่คณะทำงาน นำตัวอย่างเหล็กที่ถูกอายัดเอาไว้ ไปส่งตรวจกับสถาบันยานยนต์ ควบคู่กับสถาบันเหล็ก พร้อมนำเอกสารมาโชว์ต่อหน้าสื่อมวลชนว่ามาตรฐานสารโบรอนของทั้งสองสถาบันมีความแตกต่างกัน โดยของสถาบันเหล็กกล้ามีมาตรฐานอยู่ที่ 0.0009 เปอร์เซ็นต์ ถึง 0.0025 เปอร์เซ็นต์ ส่วนของสถาบันยานยนต์จะมีมาตรฐานค่าโบรอนอยู่ที่ 0.0004 เปอร์เซ็นต์ ถึง 0.0066 เปอร์เซ็นต์ เพราะหากดูค่ามาตรฐานของทั้งสองสถาบันแล้ว สถาบันยานยนต์จะมีมาตรฐานค่าโบรอนที่ดูต่ำกว่า

แม้ทางคณะทำงานจะได้มีการอธิบายต่อหน้าว่าตอนที่บริษัทได้มีการไปขอมาตรฐาน มอก. ก็ได้นำเหล็กไปตรวจสอบกับสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย แต่ทำไมถึงไม่ยอมรับผลการตรวจสอบของสถาบันดังกล่าว แต่ถ้าหากทางบริษัทจะอยากให้ทางเจ้าหน้าที่นำไปตรวจสอบทั้งสองสถาบัน ทางทำงานก็ไม่ติดขัด เพราะจะได้ให้ความเป็นธรรมกับทางบริษัทด้วย พร้อมกันนี้ทางคณะทำงานยังได้ชี้แจงด้วยว่า ก่อนหน้านี้ก็ได้มีการนำตัวอย่างเหล็กไปตรวจสอบกับสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยถึงสองครั้ง ซึ่งผลก็ได้ต่ำกว่ามาตรฐานทั้งสองครั้ง

อย่างไรก็ตามทางตัวแทนบริษัทก็ชี้แจงเพิ่มเติมว่าทางบริษัทไม่ได้ไม่ยอมรับผลการตรวจสอบจากสถาบันเหล็กกล้าก่อนหน้านี้ แต่ที่อยากให้ทางเจ้าหน้าที่นำไปตรวจสอบทั้งสองสถาบัน เพราะทั้งสองสถาบันมีมาตรฐานค่าโบรอนที่ต่างกัน ซึ่งถ้าหากผลออกมาจากทั้งสองสถาบันจะต่ำกว่ามาตรฐานทั้งคู่ ทางบริษัทก็ยอมรับได้

หลังจากนั้นทางผู้สื่อข่าวก็ได้มีการสอบถามกับทางตัวแทนบริษัท ชิน เคอ หยวน ว่าทางบริษัทมีความกังวลใจหรือไม่หลังทางคณะทำงานได้เข้ามาตรวจสอบในวันนี้ ซึ่งทางตัวแทนบริษัทได้ยืนยันว่า ไม่ได้มีความกังวลอะไรเลย เนื่องจากทางบริษัทได้แสดงความบริสุทธิ์ใจให้คณะทำงานและสื่อมวลชนเข้าตรวจสอบ พร้อมกับขอยืนยันว่าตั้งแต่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการสั่งระงับการผลิต และอายัดเหล็กที่ไม่ผ่านค่ามาตรฐาน ทางบริษัทก็ได้มีการระงับการผลิตเหล็กตั้งแต่วันที่ได้มีการออกคำสั่ง ส่วนเหล็กที่ถูกอายัดไว้ในโกดัง ทางบริษัทไม่เคยเข้าไปยุ่งและไม่เคยเข้าไปแตะต้องอะไรเลย

...

ส่วนประเด็นที่มีคนเห็นรถบรรทุกฝุ่นแดงซึ่งเป็นส่วนผสมของการผลิตเหล็กเข้าออกที่โรงงาน ทางบริษัทขอชี้แจงเรื่องนี้ว่า ฝุ่นแดงที่มีการบรรทุกเข้าออกโรงงาน เป็นฝุ่นแดงที่เก็บไว้ตั้งแต่เปิดโรงงานในช่วงปี 2554 ซึ่งไม่ได้นำออกมาผลิตเหล็กแต่อย่างใด เพราะทางบริษัทเคารพกฎของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้มีการระงับการผลิต แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้มีการออกคำสั่งว่าห้ามให้มีการขนย้ายฝุ่นแดงเข้าออกโรงงาน ซึ่งประเด็นนี้ก็ถือว่าตัวของบริษัทไม่ได้ทำอะไรผิด

ส่วนเหล็กที่ได้มีการจำหน่ายออกไปแล้วไปสร้างอาคาร สตง. ทางบริษัทชี้แจงว่า เพิ่งทราบจากข่าวว่าเหล็กที่ได้นำไปสร้างอาคาร สตง. เป็นเหล็กของบริษัทชินเคอหยวน เพราะก่อนหน้านี้ทางบริษัทไม่ทราบเลยว่าหลังได้มีการจำหน่ายไปให้กับเอเจนซี่ ซึ่งถือว่าเป็นพ่อค้าคนกลาง จากนั้นทางพ่อค้าคนกลางได้ไปจัดจำหน่ายให้กับผู้รับเหมารายไหนต่ออีกทอด แต่ยืนยันว่าหลังจากที่ได้มีการผลิตเหล็กเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางโรงงานก็ได้มีการตรวจคุณภาพตั้งแต่ต้น พอนำไปขายให้กับพ่อค้าคนกลาง ฝั่งพ่อค้าคนกลางก็จะมีการตรวจค่ามาตรฐานซ้ำอีกรอบ ซึ่งถ้าหากผ่านมาตรฐานก็จะนำไปจำหน่ายให้กับบริษัทรับเหมาก่อสร้าง และก่อนที่จะนำเหล็กไปสร้างนั้น ทางผู้รับเหมาก็จะมีการตรวจสอบอีกขั้นก่อนจะนำเหล็กไปใช้

แต่อย่างไรก็ตามทางทนายความของบริษัทชินเคอหยวน ก็ได้ขอชี้แจงว่า เหล็กของอาคาร สตง. ที่ทางเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการนำไปตรวจสอบ แล้วพบว่าเหล็กของบริษัทชินเคอหยวน ไม่ผ่านค่ามาตรฐาน ซึ่งเราเองก็ไม่รู้ว่าเหล็กของบริษัทที่ได้นำไปก่อสร้างอาคาร ระหว่างนั้นเหล็กอาจจะไปโดนความร้อน โดนปูน หรือส่วนผสมในการก่อสร้าง จนทำให้มีการส่งผลต่อคุณภาพของเหล็ก และก็ยังไม่รู้ว่าในโครงการก่อสร้างอาคาร สตง. มีการใช้เหล็กของบริษัทในอัตราสัดส่วนเท่าไหร่.