คืบหน้า บริษัทเหล็กใช้ก่อสร้างตึก สตง. ยังเปิดทำการตามปกติ แต่ไม่ได้มีการผลิตและขายเหล็ก ส่วนเหล็กที่ถูกอายัดยังคงอยู่ภายในโรงงาน

จากเหตุโศกนาฏกรรมตึก 30 ชั้นถล่ม โดยเป็นตึกของ สตง. ที่กำลังก่อสร้างในพื้นที่จตุจักร กรุงเทพฯ โดยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและหาสาเหตุที่แท้จริง โดยทางทีมงานกระทรวงอุตสาหกรรมมีการจัดเก็บตัวอย่างเหล็กเส้นเพื่อไปตรวจสอบถึงคุณภาพ และมีการแถลงออกมาบางส่วนถึงเหล็กข้ออ้อยบางส่วนไม่ได้คุณภาพ แต่เพื่อความเป็นธรรมต้องมีการเก็บตัวอย่างให้ละเอียดอีกครั้ง ซึ่งเบื้องต้นมีการระบุถึงผู้ผลิตเหล็กที่ใช้บางส่วนมาจาก บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ที่เป็นโรงงานผลิตเหล็กข้ออ้อย

จากการตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 68 ทางเจ้าหน้าที่ชุดสุดซอยของ รมว.อุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่ตรวจเหล็กข้ออ้อยของ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด พบว่า ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ตกเกณฑ์ที่สำคัญส่งผลโดยตรงกับความแข็งแรงของเหล็ก จึงมอบหมายให้ชุดตรวจการสุดซอย เข้าแจ้งผลพร้อมยึดอายัดเหล็กไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 2,441 ตัน มูลค่าราว 49.2 ล้านบาท และให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย

ล่าสุดวันนี้ (1 เม.ย. 68) ทีมข่าวได้ลงพื้นที่ไปยัง บริษัท ชิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ใน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง พบว่าบริษัทดังกล่าวตั้งอยู่ส่วนในสุดของนิคมอุตสาหกรรม ตอนเดินทางไปถึงพบว่าบริษัทดังกล่าวยังมีการเปิดทำการตามปกติ บริเวณด้านหน้าประตูทางเข้าจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยดูแล นอกจากนี้ยังพบว่าทางเข้าจะมีประตูรั้วเหล็กที่เป็นล้อเลื่อนกั้นเอาไว้อีกชั้น รถที่ผ่านเข้าออกจะต้องได้รับอนุญาตจากทางเจ้าหน้าที่ถึงจะสามารถเปิดที่กั้นให้ผ่านเข้าออกได้

...

นอกจากนี้ระหว่างที่ทีมข่าวไปถึงยังพบว่า บริษัทดังกล่าวมีรถเข้าออกหลายคัน ทั้งรถพนักงาน รถบริษัท และรถส่งของ อีกทั้งภายในโรงงานก็ยังคงมีพนักงานเดินเข้าออกกันอยู่หลายคน ทั้งชาวไทย และชาวจีน แต่เมื่อเดินเข้าไปสอบถามข้อมูล ทุกคนต่างไม่มีใครพูดอะไรเลย ส่วนบริเวณป้ายหน้าบริษัท จะมีป้ายบันทึกสถิติความปลอดภัย โดยในป้ายระบุว่าอุบัติเหตุครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมปีที่แล้ว

ขณะเดียวกันทีมข่าวได้เข้าไปสอบถามพนักงานที่อยู่ด้านหน้าประตูทางเข้าบริษัท ให้ข้อมูลว่า บริษัทยังคงเปิดทำการอยู่ปกติ แต่บริเวณโรงงานเหล็กได้ปิดทำการไปตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ยืนยันว่าไม่ได้มีการผลิต และขายเหล็ก ส่วนเหล็กที่ถูกอายัดไว้ก็ยังคงอยู่ภายในโรงงาน สำหรับพนักงานที่ทำงานอยู่ในโรงงานผลิตเหล็ก ก็ไม่มีใครมาทำงานเลย ส่วนพนักงานที่เห็นมาทำงานในตอนนี้ เป็นพนักงานที่ทำงานในออฟฟิศ โดยส่วนใหญ่เป็นพนักงานที่ทำงานด้านการเงิน การตลาด และจัดซื้อจัดจ้าง

ในระหว่างนั้นทีมข่าวก็ได้เจอกับพนักงานที่ทำงานอยู่ในโรงผลิตเหล็กทำหน้าที่เป็นฝ่ายผลิตเหล็ก ซึ่งคนงานรายนี้บอกว่า ตั้งแต่โรงงานถูกสั่งปิดไปเมื่อเดือนธันวาคม ก็ไม่ได้มีการผลิตเหล็กอีกเลย ทางคนงานที่เป็นพม่า กัมพูชา ลาว และคนไทย ก็ไม่ได้เข้าไปทำงานอีกเลยจนถึงตอนนี้ แต่ที่ยังอยู่ได้เพราะว่าทางโรงงานยังคงมีการจ่ายเงินครึ่งหนึ่งของเงินเดือน

ต่อมาทีมข่าวได้ข้อมูลมาจากคนในพื้นที่รายหนึ่ง บริษัท ชิน เคอ หยวน จำกัด ไม่ได้มีโรงงานแค่อำเภอบ้านค่ายเพียงแค่โรงงานเดียว แต่บริษัทแห่งนี้ได้มีการก่อสร้างอีกโรงงานหนึ่งในพื้นที่ ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีการย้ายโรงงานจาก อ.บ้านค่าย ไปรวมที่โรงงาน อ.ปลวกแดง เพียงแห่งเดียว แต่สุดท้ายโรงงานที่ อ.ปลวกแดง ต้องถูกระงับการก่อสร้างชั่วคราว เพราะเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ปีที่แล้ว เกิดเหตุเครนในไซต์ก่อสร้างถล่มจนทำให้คนงานเสียชีวิต 7 ราย และบาดเจ็บสาหัสอีกหลายคน พอตรวจสอบลึกลงไปพบว่าโรงงานแห่งนี้ไม่ได้มีการขออนุญาตหน่วยงานราชการในการนำเครนมาก่อสร้าง

จากนั้นทีมข่าวได้ลงพื้นที่ไปยังโรงงานของบริษัท ชิน เคอ หยวน ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างแห่งนี้ พบว่ายังมีคนเข้าออกในไซต์ก่อสร้าง ด้านหน้าทางเข้ามีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยดูแลอย่างเข้มงวด

โดยคนในพื้นที่รายนี้ได้บอกกับทีมข่าวว่า โรงงานผลิตเหล็กแห่งนี้ที่ตั้งอยู่ใน อ.บ้านค่าย ตอนที่โรงงานมีการผลิตเหล็ก ชาวบ้านในพื้นที่หลายคนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของกลิ่นที่ควันไม่ได้ออกจากปล่องตามระเบียบ แต่บางครั้งควันยังมีการหลุดรอยออกจากทางหลังคาของโรงงาน จนส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วพื้นที่ และยังเรื่องของเศษวัสดุที่ใช้ในการหลอมเหล็ก มีการกระจายออกมาในพื้นที่โดยรอบ จนทำให้ชาวบ้านที่ใช้เส้นทางสัญจรไปมาได้รับความเดือดร้อนเช่นเดียวกัน

พอเริ่มมีชาวบ้านหลายคนได้รับความเดือดร้อนและได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ทางโรงงานออกมารับผิดชอบ สุดท้ายก็จะมีชาวไทยคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนที่คอยดูแลโรงงานแห่งนี้ ออกมาพูดคุยกับทางผู้นำชุมชน เพื่อให้ไปเจรจากับชาวบ้านไม่ให้ออกมารวมกลุ่มกัน พอข่าวได้มีการกระจายออกไปชาวบ้านหลายคนต่างก็เกรงใจผู้นำชุมชน จึงไม่มีใครกล้าออกมารวมตัวเรียกร้องกันอีก

พอโรงงานจะมีการขยายตัวด้วยการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ในพื้นที่ อ.ปลวกแดง ชาวบ้านในพื้นที่ก็ได้รับความเดือดร้อนเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากโรงงานแห่งใหม่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ประกอบอุตสาหกรรม แต่อยู่ติดกับถนนใหญ่ ซึ่งเป็นถนนเส้นหลักที่คนใช้สัญจรไปมา โดยการก่อสร้างทำให้ถนนผุพังไปเยอะมาก แม้ทางโรงงานจะถูกสั่งระงับไม่ให้ก่อสร้าง แต่พอขับรถผ่านมาก็จะเห็นว่าโรงงานแห่งใหม่แห่งนี้ใหญ่และขยายขึ้นเรื่อยๆ จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างจริงหรือไม่ ซึ่งหากมีรายละเอียดเพิ่มเติมจะรายงานให้ทราบต่อไป.

...