ตัวแทนสภาองค์กรของผู้บริโภค หารือสภาทนายความ เอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องเหตุสะพานพระราม 2 ถล่ม เชื่อว่าผู้รับเหมาไม่ได้อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องมีคนรับผิดชอบ

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 20 มีนาคม 2568 ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนพหลโยธิน นางบุญยืน ศิริวรรณ ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค นางสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมคณะ เข้าพบ นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เพื่อหารือแนวทางการฟ้องคดีเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุสะพานยกระดับย่านถนนพระราม 2 ถล่มในวันที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต

นางบุญยืน กล่าวว่า เหตุสะพานพระราม 2 ถล่ม เป็นเรื่องที่เกิดซ้ำซากที่ผ่านมาจะเห็นกันว่า เป็นเรื่องที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับการจ่ายเงินเยียวยาแล้วก็จบ แต่ความเป็นจริงเป็นสิ่งที่เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ ถ้าไม่ดำเนินการใดๆ ให้เป็นคดีความ ตนไม่มั่นใจว่าในอนาคตจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกกี่ครั้ง จะต้องมีคนตายและบาดเจ็บอีกเท่าไหร่ เชื่อว่าผู้รับเหมาไม่ได้อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องมีคนรับผิดชอบ ความเสียหายกระทบต่อหลายด้าน เช่น การเดินทาง ระบบขนส่งและกระทบกับเศรษฐกิจอย่างย่านตลาดมหาชัย และตลาดแม่กลอง รวมไปถึงการท่องเที่ยว ดังนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงประเมินค่าไม่ได้ และไม่เคยมีผู้ใดรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้นแม้แต่คนเดียว จึงต้องพูดคุยกับปัญหาดังกล่าวว่า จะมีแนวทางการแก้ปัญหาอย่างไร

...

ด้านนางสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า จากที่ทราบกันว่าถนนเส้นนี้เกิดอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิตรวมกันมากกว่าร้อยราย และผู้บาดเจ็บกว่า 1,400 คน นี่เป็นข้อมูลที่ดำเนินการสำรวจไว้ตั้งแต่ต้นปี 2566 ประเด็นที่จะฟ้องเป็นสิทธิที่เกี่ยวกับผู้บริโภคที่มีสิทธิได้รับการเยียวยาในเรื่องความปลอดภัยเกี่ยวกับการใช้สินค้าและบริการ รวมถึงได้รับการพิจารณาชดเชยความเสียหายเช่นเดียวกัน การตั้งประเด็นฟ้องคดีจึงหารือกับสภาทนายความ โดยยึดหลักจากเหตุการณ์ 2-3 เหตุการณ์ที่ผ่านมา เนื่องจากเคยมีมติจากคณะรัฐมนตรีเรื่องการเยียวยาความสูญเสียทางด้านจิตใจให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต 3 ล้านบาทต่อราย และเยียวยาค่าเสียโอกาสของผู้เสียชีวิต 4.5 ล้านบาท รวมถึงค่าปลงศพและค่ารักษาพยาบาล

ขอตั้งข้อสังเกตว่า ทางผู้บริโภคจะสามารถฟ้องใครได้บ้างกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงคมนาคม อธิบดีกรมทางหลวง ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาโครงการ บริษัทผู้รับจ้างก่อสร้างทั้งหมด ตัวแทนภาครัฐที่เป็นผู้ควบคุมงาน รวมถึงเรื่องที่ญาติของผู้เสียชีวิตจะได้รับการชดเชยเยียวยาจนไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดี ทำให้อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการฟ้องร้องหรือไม่ เป็นรายละเอียดที่ต้องมาพูดคุยกันกับทางสภาทนายความว่าบุคคลที่กล่าวมาข้างต้นจะถูกฟ้องร้องแบบไหนอย่างไร

นายวิเชียร กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้เส้นทางดังกล่าว ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจในความปลอดภัย สำหรับการดำเนินคดีทางสภาทนายความจะลงไปดูรายละเอียดทั้งหมด คิดว่าจะต้องหารือกับสภาวิศวกร เพื่อจะได้ลงถึงรายละเอียดของสาเหตุการเกิดเหตุที่แท้จริงที่สะพานถล่มเกิดจากอะไร ต้องแยกองค์ประกอบแต่ละประเภทที่เกิดขึ้นว่าเป็นความรับผิดชอบของใครบ้าง ที่ต้องรับผิดชอบ จากนั้นจึงพิจารณาว่า สมควรที่จะดำเนินคดีผู้บริโภค คดีปกครอง ตนเห็นว่า จะทำอย่างไรเพื่อเป็นเชิงป้องกันไม่ให้เกิดเหตุแบบนี้เกิดขึ้นอีก

หลังจากนี้สภาทนายความจะดำเนินการทุกมิติกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นจะเน้นเรื่องคดีแพ่งและคดีปกครอง ส่วนคดีอาญาจะติดตามผลอย่างใกล้ชิด คิดว่าในส่วนของคดีปกครองถ้ามีมาตรการที่ทำให้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อความปลอดภัยผู้ประสบเหตุน่าจะเป็นประโยชน์มากขึ้น และต้องขอความร่วมมือจากทางสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อหารือและตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองต่าง ๆ ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ต่อไป.