กรมป่าไม้ เดินหน้า แก้ปัญหาซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดิน คทช. ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เปิดวงจับเข่าคุย สคทช. แนะแนวทางปฏิบัติป้องกันซื้อขายเปลี่ยนมือ ตามมาตรการในหนังสือด่วน แจ้งตรงผู้ว่าฯ และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ดำเนินการ พร้อมย้ำ หากตรวจพบกระทำผิด เจอเพิกถอนแน่นอน
วันนี้ (12 มี.ค. 2568) เวลา 9.00 น. นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ และ ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ได้ร่วมกันหารือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามหนังสือของกรมป่าไม้ ที่ ทส 1603.3/4067 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 และด่วนที่สุด ที่ ทส 1603.3/4068 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ถึงแนวทางดำเนินการในการป้องกันมิให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือพื้นที่ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ ภายหลังการหารือ อธิบดีกรมป่าไม้ และ ผอ. สคทช. ได้ร่วมกันแถลงข่าว “การแก้ปัญหาการโอนสิทธิ์ซื้อขายเปลี่ยนมือพื้นที่ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.) ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ” ณ ห้องประชุม 1 อาคารเทียมคมกฤส กรมป่าไม้ กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเข้าร่วมฟังการแถลงข่าวเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า สำหรับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่กรมป่าไม้นำไปดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่มีราษฎรถือครองทำกินมาอย่างต่อเนื่อง อยู่ในลุ่มน้ำชั้นที่ 3, 4 และ 5 ซึ่งสำรวจไว้ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ปรากฏร่องรอยการทำประโยชน์ในภาพถ่ายทางอากาศสี Ortho Photo ปี 2545 โดยการอนุญาตตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนำพื้นที่ไปดำเนินการจัดที่ดินตามแนวทางที่ คทช. กำหนด ให้ราษฎรได้อยู่อาศัยทำกินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

“ที่ผ่านมา ในส่วนของการขับเคลื่อนนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน รวม 4 คณะ ประกอบด้วย คณะที่ 1) คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน อธิบดีกรมป่าไม้ เป็นเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดหาที่ดินของรัฐ ที่เหมาะสม เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ ที่ราชพัสดุ ที่สาธารณะประโยชน์ เป็นต้น นำมาดำเนินจัดการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน 2) คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน อธิบดีกรมที่ดิน เป็นเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนหรือที่อยู่อาศัยในลักษณะแปลงรวม 3) คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด และพัฒนาสาธารณูปโภคให้แก่ชุมชน และ 4) คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด) มีผู้ว่าราชการ

จังหวัด เป็นประธาน หัวหน้าสำนักงานจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด สหกรณ์จังหวัด เป็นเลขานุการร่วม มีอำนาจหน้าที่ขับเคลื่อนการจัดที่ดิน ทำกินให้ชุมชนในระดับจังหวัด ทั้งในด้านการจัดหาที่ดิน การจัดที่ดิน การพัฒนาอาชีพ การพัฒนาสาธารณูปโภค โดยดำเนินการร่วมกับคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง”
อธิบดีกรมป่าไม้ ได้กล่าวถึงผลการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติว่าคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินได้กำหนดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเป็นพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน จำนวน 699 พื้นที่ 65 จังหวัด เนื้อที่ 4.07 ล้านไร่ พร้อมกันนี้ จังหวัดได้ยื่นขออนุญาตเพื่อนำพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติไปดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน จำนวน 3.67 ล้านไร่ ขณะที่คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ได้เห็นชอบในหลักการในการอนุญาตให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนำพื้นที่ไปดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ทั้ง 3.67 ล้านไร่แล้ว โดยกรมป่าไม้ได้ออกหนังสืออนุญาตให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนำพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ไปดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนแล้ว จำนวน 2.99 ล้านไร่ และคณะอนุกรรมการจัดที่ดิน ได้ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติให้แก่ราษฎรแล้ว 85,335 ราย 107,454 แปลง เนื้อที่ 602,501 ไร่

“สำหรับการป้องกันมิให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือพื้นที่ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทางกรมป่าไม้ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ทส 1603.3/4067 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 และด่วนที่สุด ที่ ทส 1603.3/4068 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ให้ดำเนินการใน 3 แนวทางสำคัญ คือ 1) เร่งรัดดำเนินการในขั้นตอนการจัดที่ดินให้เสร็จสิ้น เพื่อป้องกันและควบคุมมิให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ โดยให้ทำการตรวจสอบคัดกรองผู้ที่จะได้รับการจัดที่ดินตามหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว 2) กำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจติดตามการใช้ประโยชน์ที่ดินของผู้ได้รับการจัดที่ดินอย่างสม่ำเสมอ และ 3) แจ้งผู้ปกครองท้องที่ ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ช่วยกันสอดส่องดูแล มิให้มีการซื้อขายโอนสิทธิ์เปลี่ยนมือ หากตรวจพบมีการกระทำผิดเงื่อนไข ข้อกำหนดการใช้ที่ดิน ให้แจ้ง คทช.จังหวัด พิจารณายกเลิกเพิกถอนการจัดที่ดินของราษฎรรายนั้น ๆ แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว