สถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาตกโรคในเมืองฉ่วยโก๊โก่ จังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านวังผา อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ...พบผู้ป่วยมีอาการอุจจาระร่วงอย่างรุนแรงกว่า 300 ราย และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย แม้ไม่ใช่โรคใหม่แต่ก็ต้องเฝ้าระวัง

กรมควบคุมโรค...ประเมินสถานการณ์ อาจพบผู้ป่วยในประเทศไทยเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับชายแดน จึงขอความร่วมมือประชาชนทั้ง 2 ฝั่ง ให้ปฏิบัติตามประกาศและคำแนะนำอย่างเคร่งครัด งดการเดินทางผ่านช่องทางท่าข้าม ...ช่องทางธรรมชาติ เพื่อลดการแพร่กระจายโรค

ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-24 ธันวาคม 2567 พบรายงานผู้ป่วยยืนยันอหิวาตกโรค 8 ราย พบเชื้อ Vibrio cholerae O139 จำนวน 3 ราย Vibrio cholerae El Tor Inaba 1 ราย

จากการระบาด...พบเชื้อ Vibrio cholerae El Tor Ogawa 4 ราย...ไม่พบผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยเป็นเพศชาย 3 ราย เพศหญิง 5 ราย สัญชาติไทย 6 ราย และเมียนมา 2 ราย ส่วนมาก พบผู้ป่วยในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม มิถุนายน ตุลาคม และธันวาคม โดยที่ผ่านมาพบการระบาดเป็นวงกว้างในปี 2553 และ 2558

ตอกย้ำ...โรคอหิวาตกโรคยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญในหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาและพื้นที่ที่มีการเข้าถึงน้ำสะอาดและการสุขาภิบาลต่ำ

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่า ยังมีการระบาด “โรคอหิวาตกโรค” ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาและเอเชียใต้ ซึ่งมีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยที่ทำให้โรคระบาดรุนแรงขึ้น ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ...น้ำท่วมและภัยแล้ง ทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อน

การขาดการเข้าถึงระบบสาธารณสุข...ในหลายพื้นที่ยังขาดวัคซีนและยาปฏิชีวนะที่เพียงพอ การย้ายถิ่นฐานของประชากร...ผู้อพยพในพื้นที่ขัดแย้งมักอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของโรค

...

ข้อเท็จจริงที่สำคัญมีว่า...โรคอหิวาตกโรคเป็นโรคท้องร่วงเฉียบพลันที่อาจเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมงหากไม่ได้รับการรักษา

นักวิจัยประมาณการว่า...ในแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคอหิวาตกโรค 1.3 ถึง 4.0 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคอหิวาตกโรค 21,000 ถึง 143,000 รายทั่วโลก...ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเลยหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย และสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการดื่มน้ำเกลือแร่

กรณีรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วด้วยของเหลวทางเส้นเลือดและยาปฏิชีวนะ...การจัดหาน้ำที่ปลอดภัยและสุขอนามัยถือเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคและโรคทางน้ำอื่นๆ สำหรับวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดรับประทานเป็นวิธีเพิ่มเติมในการควบคุมอหิวาตกโรค แต่ไม่ควรใช้แทนมาตรการควบคุมแบบเดิม ควรใช้วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดรับประทานที่ปลอดภัย

ร่วมกับการปรับปรุงน้ำ...สุขาภิบาล เพื่อควบคุมการระบาดของอหิวาตกโรค และเพื่อป้องกันในพื้นที่ที่ทราบว่ามีความเสี่ยงสูงต่อโรคอหิวาตกโรค

ย้ำว่า...โรคอหิวาตกโรคยังคงเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชาชนทั่วโลก เป็นตัวบ่งชี้ความไม่เท่าเทียมและการขาดการพัฒนาทางสังคม

“อหิวาตกโรค” เป็นโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันที่มีความรุนแรง หากควบคุมโรคไม่ดีจะทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากหรือระบาดเป็นวงกว้างได้ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อมักมีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำหลายครั้ง โดยมักมีอาการอาเจียนร่วมด้วย ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียน้ำและเกลือแร่จำนวนมาก

ในกรณีที่ไม่สามารถให้น้ำและเกลือแร่ทดแทนได้ทัน ผู้ป่วยจะมีภาวะช็อกและอาจเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ผู้ติดเชื้อบางส่วนแสดงอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อต่อได้

ในประเทศไทยพบการระบาดของอหิวาตกโรคเป็นระยะ และมักสัมพันธ์กับการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อที่ไม่ผ่านการปรุงสุกหรือเป็นอาหารค้างมื้อ ดังนั้น การดูแลสุขอนามัยจึงมีความสำคัญ

วิธีการป้องกันตนเองจากอหิวาตกโรค การดูแลสุขอนามัยด้านอาหารและน้ำดื่มเป็นสิ่งสำคัญ ให้เลือกรับประทานอาหารที่สด สะอาด ปรุงสุกใหม่ และปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เช่น ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด ก่อนและหลังรับประทานอาหาร หรือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง

โดยยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” หากมีอาการผิดปกติ เช่น ถ่ายเหลวเป็นน้ำในปริมาณมาก คลื่นไส้ อาเจียน ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม หากมีอาการถ่ายเหลวในระหว่างที่ยังไม่สามารถไปพบแพทย์ ให้จิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่ (ORS) บ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ

ประเด็นสำคัญมีว่าการเผชิญกับการระบาดของโรคอหิวาตกโรค แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตจะไม่สูงเนื่องจากระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง แต่จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นย่อมสร้างผลกระทบในหลายด้านนับตั้งแต่ด้านสุขภาพ...จำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์

ย้ำว่า...หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเสียชีวิตจากภาวะขาดน้ำรุนแรง

ถัดมา...ด้านเศรษฐกิจ การระบาดในพื้นที่ชนบทส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคเกษตร ค่าใช้จ่ายในการจัดการโรค เช่น การแจกจ่ายวัคซีนและการบำบัดน้ำสะอาดเพิ่มสูงขึ้น และ ด้านสังคม...ความตื่นตระหนกในชุมชน การหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำหรืออาหารในบางพื้นที่

...

ประเด็นสำคัญมีว่าการระบาดของโรค “อหิวาตกโรค”...เป็นสัญญาณเตือนถึงความสำคัญของการพัฒนาสุขาภิบาลและการเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด แม้ “ประเทศไทย” จะมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง แต่การป้องกันโรคยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการลดการระบาดในระยะยาว

ความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ชุมชนและองค์กรนานาชาติ... เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม