10 วันอันตรายช่วงปีใหม่ เข้าสู่วันที่ 9 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,322 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 393 ศพ โดยจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ขณะที่กรุงเทพมหานคร
วันที่ 5 ม.ค. 68 เวลา 10.30 น. ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ย้ำจังหวัดจัดจุดพักรถและจุดบริการประชาชน รองรับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ขับรถติดต่อกันเป็นเวลานาน อำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชนให้สามารถเดินทางถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย พร้อมจัดรถโดยสารสาธารณะบริการรับ-ส่งประชาชน โดยยังคงกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 4 มกราคม 2568 เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันหยุดวันสุดท้ายก่อนเปิดทำงานในวันจันทร์ ประชาชนที่หยุดยาวต่อเนื่องและนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ต่าง ๆ จึงเดินทางกลับในวันนี้ ทำให้จำนวนรถบนท้องถนนกลับมามีปริมาณหนาแน่นอีกครั้ง ศปถ. จึงประสานให้จังหวัดเพิ่มการจัดจุดพักรถและจุดบริการประชาชน เพื่อรองรับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ขับรถติดต่อกันเป็นเวลานาน เพื่อลดความเสี่ยงจากความเหนื่อยล้าของร่างกายและการหลับในของผู้ขับขี่ ตรวจสอบประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ยังคงติดค้างในสถานีขนส่งและจัดเตรียมรถโดยสารสาธารณะให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ให้ทุกคนสามารถเดินทางถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัยและทันเวลา โดยไม่ทิ้งการกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ใช้รถใช้ถนนและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยหากพบผู้ขับขี่มีพฤติกรรมเสี่ยงให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที นอกจากนี้ ยังขอให้จังหวัดประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในประเด็นเกี่ยวกับมาตรการหรือข้อควรปฏิบัติในการขับขี่ยานพาหนะ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงการขับขี่อย่างปลอดภัยและมีวินัยในการเดินทาง
...
“ศปถ. ขอให้จังหวัดดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในการเดินทางอย่างต่อเนื่องและเต็มความสามารถตามมาตรการเน้นย้ำในวันนี้ โดยขอให้เพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบถึงแนวทางการขับขี่อย่างปลอดภัยในพื้นที่ที่มีทัศนวิสัยต่ำจากหมอกลงจัด สภาพอากาศที่มีความชื้นสูง และควันไฟ เนื่องจากช่วงนี้หลายพื้นที่มีอุณหภูมิลดลงและมีหมอกปกคลุมในช่วงเช้า และมีการเผาไร่ข้างทาง ซึ่งอาจส่งผลต่อทัศนวิสัยในการขับขี่ได้ และขอให้เน้นการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุและทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตในกลุ่มเด็กและเยาวชน เช่น การขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด การดื่มแล้วขับ การตัดหน้ากระชั้นชิด การไม่สวมหมวกนิรภัย และจะต้องมีใบอนุญาตขับขี่ยานพาหนะตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อสร้างความตระหนักรู้และกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ไม่ทำพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว” นายดนุชา กล่าว
ด้านนายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 กล่าวว่า “ในปีนี้ ศปถ. กำหนดช่วงควบคุมเข้มข้นการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 67 - วันที่ 5 ม.ค. 68 โดยถึงแม้จะพ้นช่วงการเฉลิมฉลองปีใหม่ที่ทำให้ปัจจัยเสี่ยงเรื่องการดื่มแล้วขับลดลง แต่สิ่งที่ยังคงต้องระมัดระวังคือการใช้ความเร็วในการขับรถและระยะทางยาวในการขับขี่อาจทำให้ผู้ขับขี่อ่อนเพลียและเกิดการหลับในได้
ศปถ. มีความห่วงใยในทุกระยะของช่วงควบคุมเข้มข้น จึงขอกำชับให้จังหวัดปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 และมาตรการเน้นย้ำเพิ่มเติมอย่างเคร่งครัด เนื่องจากในวันนี้ (5 ม.ค. 68) เป็นวันสุดท้ายของการควบคุมเข้มข้น ศปถ. ขอให้จังหวัดบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ติดตามและตรวจสอบข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บและเสียชีวิตให้มีความถูกต้อง เพื่อเตรียมสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 และถอดบทเรียนจากการทำงานเพื่อนำมาปรับปรุงการดำเนินงานในช่วงเทศกาลสงกรานต์และวันหยุดยาวอื่น ๆ ในปี พ.ศ. 2568 ต่อไป สำหรับประชาชนที่อยู่ในระหว่างการเดินทางกลับมายังกรุงเทพมหานครและพื้นที่เศรษฐกิจอื่น ๆ
ศปถ. ขอให้ขับขี่ด้วยความระมัดระวัง ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และไม่ทำพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะการขับรถเร็ว การตัดหน้ากระชั้นชิด การไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และการไม่สวมหมวกกันน็อค หากมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลียจากการขับขี่ยานพาหนะเป็นเวลานาน ขอให้แวะพักยังจุดพักรถหรือจุดบริการประชาชนที่ทางราชการจัดเตรียมไว้ ไม่จอดบริเวณไหล่ทาง เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ สำหรับประชาชนที่พบเห็นหรือประสบอุบัติเหตุระหว่างการเดินทาง สามารถแจ้งเหตุได้ที่สายด่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สายด่วนนิรภัย 1784 หรือแจ้งผ่านทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อนผ่าน Line@1784DDPM เพื่อประสานการให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป”
สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ประจำวันที่ 4 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นวันที่เก้าของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 4 มกราคม 2568 เกิดอุบัติเหตุ 169 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 164 คน ผู้เสียชีวิต 23 ราย
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04aveW721X2eLqKl2en35Bg4xBZSghLK.jpg)
...
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 37.28 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 23.67 และทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 17.75 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 84.3 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 84.43 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 45.56 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 30.18 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 16.01-17.00 น. ร้อยละ 9.47 เวลา 15.01-16.00 น. ร้อยละ 7.69 เวลา 08.01-09.00 น. เวลา 14.01-15.00 น. เวลา 17.01-18.00 น. และเวลา 18.01-19.00 น. ร้อยละ 7.10 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 40-49 ปี ร้อยละ 17.65 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,768 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 50,114 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ตรัง (11 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ตรัง (11 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ตรัง นครปฐม นราธิวาส และอุตรดิตถ์ (จังหวัดละ 2 ราย)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 9 วันของการรณรงค์ (27 ธันวาคม 2567 – 4 มกราคม 2568) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,322 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 2,251 คน ผู้เสียชีวิตรวม 393 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (86 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (95 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (24 ราย).