นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมศูนย์ฝนหลวงหัวหิน พร้อมหารือการระบายฝุ่นละอองออกจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า จากการหารือได้มีการสอบถามถึงการเจาะชั้นบรรยากาศที่ครอบฝุ่นให้มีช่องระบายฝุ่นออกไปได้ ซึ่งศูนย์ฝนหลวงมีงานวิจัยสนับสนุนและมีนักวิทยาศาสตร์เก่งๆเข้ามาช่วยได้ ทั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีที่กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ช่วยสนับสนุนน้ำแข็งแห้งจำนวน300ตัน เพื่อใช้ในการปฏิบัติการ และขณะนี้ กทม.ได้มีการเจรจากับทางวิทยุการบินแห่งประเทศไทย เพื่อให้เครื่องบินฝนหลวงเข้าไปบินในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯได้แล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาเส้นทางการบินของศูนย์ฝนหลวงขัดแย้งกับเส้นทางการบินของสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งการเข้าพื้นที่ลึกๆได้จะสามารถช่วยให้ทำการระบายฝุ่นได้ดีขึ้น

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ในวันที่ 3 ม.ค. มีรายงานสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯมีค่าเฉลี่ย 42.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนั้น กทม. จะมีการมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด เพราะถือว่าเดือน ม.ค.-ก.พ.นี้ เข้าสู่ช่วงเทศกาลฝุ่นแล้ว โดยมีมาตรการลดฝุ่นที่ทำเป็นขั้นเป็นตอน ทั้งให้รถเปลี่ยนไส้กรอง เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง มียอดรวมกว่า 160,000 คัน รถบรรทุกลงทะเบียนสีเขียวแล้วกว่า 10,000 คันถือว่าเกินเป้าหมายแล้ว รวมทั้งวางแผนโครงการทำงานที่บ้าน WFH ตั้งเป้า 80,000 คน ซึ่งหากเกิดภาวะวิกฤติก็จะชวนให้คนทำงานที่บ้าน ลดการใช้รถยนต์

“ที่ผ่านมาหากไม่มีการทำฝนหลวง ฝุ่นจะมากกว่านี้แน่นอน ซึ่งวันนี้เราต้องสร้างความร่วมมือกับหลายหน่วยงานที่จะมาช่วยกันทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกับกองทัพอากาศที่หาเครื่องบินลำใหญ่ขึ้นมาสนับสนุนการปฏิบัติการ เน้นหลักวิทยาศาสตร์ นำ มีการค้นคว้าวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สถานการณ์ฝุ่นดีขึ้นในทุกช่วงเวลา ซึ่งปัญหาของประเทศไทยอาจไม่เหมือนที่ใดในโลก เราอาจจะต้องคิดค้นเครื่องมือหาวิธีการขึ้นเองเลย ดังเช่นในหลวงร.9 พระราชทานแนวพระราชดำริ ในการทำฝนหลวงขึ้นเพื่อคนไทย” นายชัชชาติกล่าว.

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่