วิชา “ภาวะอารมณ์มนุษย์” อยู่ในชั่วโมงทฤษฎีวรรณคดี นักศึกษาปริญญาเอกอักษรศาสตร์ ศิลปากร

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กุสุมา รักษมณี เขียนไว้ใน “หมายเหตุเฟซบุ๊ก กุสุมา 80” ว่า ในมุมมองของนักวรรณคดีสันสกฤต ภาวะอารมณ์มีถึง 40 กว่าชนิด

หากมีคำถาม ภาวะอารมณ์ที่อยู่กันคนละขั้ว เช่นความรักกับความแค้นจะจับมือกันได้ไหม?

บางคนอาจตอบว่าได้ ดังคำที่ว่า “ทั้งรักทั้งแค้นแน่นฤทัย” นั่นอย่างไร?

แต่นักวรรณคดีสันสกฤตจะบอกว่า รักกับแค้นเกิดพร้อมกันในจุดเดียวกันไม่ได้ดอก

เหมือนเราเอาดินสอจุดลงไปที่ความรักจุดหนึ่งแล้ว จะจุดความแค้นลงไปก็ต้องเขยิบมานิดหนึ่ง ไม่ใช่จุดซ้ำที่เดิม จุดความแค้นจึงเกิดตามจุดความรัก

และเกิดเป็นจุดสลับกันไป

ดังนั้น สำหรับนักวรรณคดี “ทั้งรักทั้งแค้น” ก็คิือ“เดี๋ยวรักเดี๋ยวแค้น” สลับกันไปจน “แน่นหทัย”

และที่ว่าทั้งรักทั้งแค้น “ประดังกันขึ้นมา” นั่นก็คือ ผลัดกันขึ้นมาต่างหาก ไม่ใช่พุ่งเข้ามาทีเดียวทั้งคู่

ถ้ากวีจะนำภาวะอารมณ์ขั้วตรงข้ามคือ รักกับแค้นไปผสานกันเป็นเนื้อหาในวรรณคดี ก็ย่อมได้ ไม่ต้องให้เกิดสลับกันแบบ “เดี๋ยวรักเดี๋ยวแค้น” ก็ยังได้

แต่ให้ความแค้นเป็นภาวะที่หนุนความรักให้แรงขึ้น

ความเป็นขั้วตรงข้ามของภาวะจะกลายเป็นความเกื้อหนุนกัน เมื่อตัวรองรับอารมณ์นั้น เป็นคนละตัวกัน

ความรักของโรมีโอมีต่อจูเลียต ส่วนความแค้นของโรมิโอมีต่อตระกูลคาปุเล็ต ซึ่งเป็นอริกับตระกูลตน

ตัวรองรับอารมณ์สองขั้วนั้นเป็นคนละตัวกัน แม้จะรู้ว่าจูเลียตเป็นคาปุเล็ตคนหนึ่ง แต่แรงรักก็แซงขึ้นหน้าได้นี่นา

ความรักกับความแค้นของโรมีโอจึงไม่ต่อต้านกัน กลับเกื้อหนุนกัน และผสานกัน

...

จนเป็น“จานวรรณกรรม” ที่มีรสกลมกล่อม

นักจิตวิทยาจะว่าอย่างไรบ้างก็ไม่รู้ อาจารย์กุสุมา ท่านว่านักวรรณคดีสันสกฤต เขาว่ากันอย่างนี้

นี่แค่รัก-แค้น 2 ใน 40 ภาวะอารมณ์ ที่โลดแล่นและซุกซ่อนในตัวมนุษย์ เป็นเนื้อให้กวีนำมาปรุงเป็น“จานวรรณกรรม” ให้ผู้อ่านลิ้มและรับรู้รส ได้ด้วย“หัวใจ”

ความผสานกันของภาวะอารมณ์เหล่านั้น เป็นสิ่งสำคัญเหมือนเครื่องปรุงอาหารที่ต้องผสานกันอย่างกลมกล่อม

อาจารย์กุสุมา บันทึกเรื่องนี้ เมื่อ 26 ก.พ.2560 ครับ ผมนึกไม่ออก อาจารย์ได้แรงกระทบใจมาจาก“ภาวะอารมณ์” การเมืองเรื่องใด จะเดาว่าเป็นกรณีของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็ไม่แน่ใจ

แต่ก็เชื่อว่า ภาวะอารมณ์รักกับภาวะอารมณ์แค้นนั้นเกิดได้ทุกสถานการณ์การเมือง

การเมืองซึ่งเห็นๆกันตลอดมา ไม่เคยมีมิตรแท้และศัตรูถาวร

สดๆร้อนๆที่จริงก็นาน แต่ยังไม่ทันลืม พรรคเพื่อไทยของนายกฯอิ๊งค์ ตอนหาเสียงก็ประกาศเสียงดัง“ไม่เอาลุง” แต่พอเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ก็หันไป “เอาลุง” เฉยเลย

และในภาวะอารมณ์เอาลุงนั้น ก็ยังมีภาวะอารมณ์ “ตัดหางปล่อยวัด” หรือ “ผลักไสไล่ส่ง...ลุง” กรณีที่คุณทักษิณเล่นงานพลเอกประวิตร ทั้งแย่งสองน้องรักจากบ้านป่ามาอยู่กับรัฐบาล แถมสารพัดคดีความ

กระทั่งมิตรรักนักเพลง พรรคภูมิใจไทย...แม้คุณทักษิณ จะเติมความรักให้ทุกวัน ก็รับประกันไม่ได้ ว่าจะมีวันที่ภูมิใจไทยสนองคืนด้วยความแค้น...

วันใดที่คุณอนุทินถูกลุ้นเป็นนายกฯ ได้แต้มต่อมากกว่าคุณแพทองธาร เมื่อนั้นคุณทักษิณ คงต้องรู้ซึ้งถึงรสวรรณคดี “ทั้งรักทั้งแค้นแน่นฤทัย” เป็นเช่นนี้เอง.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม