ถ้าจะพูดถึงเรื่องปัญหาแรงงาน ทั้งระบบคงต้องเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ เกิดจากปัญหาความยากจน หนี้สินภาคครัวเรือน ความซับซ้อนของค่าจ้างขั้นต่ำ การจ้างงาน และการว่างงาน ไปจนกระทั่งแรงงานที่ขาดทักษะและฝีมือ ไปจนถึงกระบวนการนายหน้าค้าแรงงานข้ามชาติ
โดยความเป็นจริงก็คือ ภาคแรงงานไทย ที่ไม่นับภาคเกษตรกร โดยจะต้องแยกออกมาต่างหากเนื่องจากต้นทุนที่แตกต่างกัน ทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ น่าจะมีไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีทั้งทำงานในโรงงาน ค้าขายส่วนตัว เป็นพนักงานชั่วคราว ตามร้านค้า ร้านอาหาร หรือธุรกิจการบริการ ที่ได้รับสวัสดิการจากรัฐเช่นระบบประกันสังคม แต่ส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะลูกจ้างรายวัน ไม่มีสวัสดิการอะไรเลย หรืออาจจะมีแค่ บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรคเท่านั้น
ค่าแรงอาจจะได้รับ น้อยกว่าหรือมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ขึ้นอยู่กับชั่วโมงและระยะเวลาการทำงาน เช่น แรงงานที่ทำงานตามโรงงาน ต้องทำงานมากกว่า 12 ชั่วโมงขึ้นไปจึงจะได้รับค่าจ้าง มากกว่า 15,000 บาท ซึ่ง รมว.แรงงานคนปัจจุบัน พิพัฒน์ รัชกิจ ประการ ออกมายอมรับแล้วว่า นโยบายที่จะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท คงทำไม่ได้แล้ว การประกาศค่าแรงขั้นต่ำ จึงเป็นเพียงรูปธรรม แต่ในความเป็นจริง ค่าแรงขั้นต่ำก็เป็นเพียงข้ออ้างในระบบแรงงาน ในขณะที่แรงงานมีฝีมือที่มีรายได้มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่ในสภาวะขาดแคลน เนื่องจากภาครัฐไม่มีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานของไทยอย่างจริงจัง จึงมีแต่แรงงานไร้ฝีมือมีแต่ประสบการณ์ ไปทำงานในต่างประเทศและถูกเอาเปรียบจากนายจ้างและนายหน้าตลอดเวลา
นอกจากนี้ การขาดแคลนแรงงานในประเทศ ก็เป็นอีกปัญหา เนื่องจากแรงงานไทยมองว่า ค่าแรงขั้นต่ำไม่เพียงพอ หนักไม่เอาเบาไม่สู้ ต้องการทำงานที่มีผลตอบแทนสูงกว่า ทักษะหรือการศึกษาที่มีอยู่ จึงมีทางออกเดียวคือการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ
...
แรงงานส่วนใหญ่ที่ทำงานใช้แรงงานในประเทศไทยตอนนี้ เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน มีทั้งเข้ามาทำงานตามระบบและนอกระบบ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานนอกระบบ เพราะหลีกเลี่ยงปัญหา จากการถูกเอาเปรียบรีดไถจากเจ้าหน้าที่รัฐ การที่แรงงานต่างด้าว จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้แต่ละครั้ง ต้องเสียค่าใช้จ่ายนอกระบบจำนวนมาก จากขบวนการค้ามนุษย์และเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงานว่ากันว่า เฉพาะค่าวีซ่าแรงงานต่างด้าว คิดจากจำนวนแรงงานต่างด้าว 2 ล้านคนก็หลักพันล้าน คาดว่าจะมีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในไทยกว่า 5 ล้านคน
ในอนาคตเรากำลังจะขาดแคลนแรงงานที่ใช้แรง เพราะแรงงานไทยดิ้นรนไปทำงานต่างประเทศหมด แรงงานต่างด้าว ถูกเอารัดเอาเปรียบและมีช่องทางที่จะทำมาหากินในประเทศของตัวเองมากขึ้น ส่วนแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาปักหลักในประเทศไทยถาวร ก็จะยกระดับอาชีพของตัวเอง เป็นเจ้าของกิจการเอง
เรายังมีปัญหาใหม่ คือนักธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาลักลอบทำธุรกิจอย่างเปิดเผยในบ้านเราโดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายและความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐที่เห็นแก่เงินสีเทาและปัญหาการไปทำงานของแรงงานไทยในต่างประเทศที่เราเริ่มจะถูกกีดกันเช่นการเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้หรือต้องมีความเสี่ยงสูงเช่นการไปทำงานในอิสราเอล
ถ้าเรายังไม่จัดระเบียบต้นทุนและระบบแรงงานให้สะเด็ดน้ำอนาคตจะตายน้ำตื้น.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th
คลิกอ่านคอลัมน์ "คาบลูกคาบดอก" เพิ่มเติม