นายกฯถกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหามาตรการ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย สั่งให้ช่วยเหลือในทุกเรื่อง พร้อมเตรียมไปอุบลราชธานี เหตุสถานการณ์ยังน่าห่วง ส่วนที่ จ.สุโขทัย “ธรรมนัส” มั่นใจเอาอยู่ แม้น้ำในน้ำยมยังสูงและแรง ล่าสุดซัดคันกั้นน้ำเมืองสุโขทัยแตกอีกจุด ชาวบ้านต้องขนของหนีน้ำมากองไว้ริมถนน ขณะที่กระแสน้ำปิงก็เชี่ยวกราก ซัดตอม่อสะพานวังแขมทรุดตัวลงอย่างหนักรอวันถล่ม ด้านเขื่อนเจ้าพระยายังระบายน้ำต่อเนื่อง ชาวบ้านท้ายเขื่อน ตั้งแต่สิงห์บุรี-อ่างทอง-อยุธยา ลุ้นระทึก น้ำจ่อล้นตลิ่ง
จากที่ในสัปดาห์นี้ ประเทศไทยยังมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตก เฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้หลายจังหวัดยังคงมีฝนตกหนัก และเกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนเป็น วงกว้าง ซึ่งเบื้องต้นรัฐบาลได้สั่งทุกหน่วยงานเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในทุกด้าน
นายกฯ ถก รมต.เยียวยาน้ำท่วม
ที่ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ชั้น 1 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 ต.ค. นายเศษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง เชิญรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางพวงเพ็ชร ชุณละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายก รัฐมนตรี และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตร และสหกรณ์ เข้าหารือเพื่อพูดคุยถึงแนวทางการแก้ปัญหา และมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับความ เดือดร้อน สืบเนื่องมาจากการเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่
...
ห่วงน้ำสุโขทัย–เตรียมไปอุบลฯ
ต่อมา นายเศรษฐากล่าวถึงการไปรับฟังบรรยาย สรุปที่กรมชลประทาน ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ ว่า ในวันที่ 6 ต.ค.นี้ จะเดินทางไปที่ จ.อุบลราชธานี เพราะมวลน้ำลงไปทางนั้นเยอะมาก ขณะเดียวกันยังห่วง จ.สุโขทัย ที่มีน้ำเข้าพื้นที่ เพราะฝนตกตลอดเวลา และจากที่ได้พูดคุยกับรัฐมนตรีหลายท่าน ต้องให้ ช่วยเหลือในทุกเรื่อง บูรณาการทั้งถนนและความเดือดร้อนของประชาชน
“ธรรมนัส” มั่นใจเอาอยู่
ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังการร่วมประชุมกับนายก รัฐมนตรี และ รมว.คลัง ถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดสุโขทัย ว่า น้ำท่วมจากแม่น้ำยม มายังอำเภอสวรรคโลก ยังรับมือได้และเอาอยู่ โดยเฉพาะเขตอำเภอเมือง แต่มวลน้ำที่เป็นห่วงจะมาในเวลาประมาณ 08.00 น. ของวันที่ 3 ต.ค. จนถึงตอนนี้ไม่ได้มากอย่างที่คาดการณ์ไว้ แต่หากมีพายุหรือฝนตกเพิ่มเติมลงมา ต้องรับมือ และแก้ไขสถานการณ์ แต่มวลน้ำ ที่ลงจากพื้นที่ภาคเหนือ ยังไม่มีอะไรหนักใจ ขณะที่ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กรมชลประทานดูแลประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง พยายามกระจายน้ำสู่ลำน้ำสาขาไปเก็บตามอ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำที่ยังไม่เต็ม ส่วนการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยเฉพาะพืชผลทาง การเกษตร ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเกษตรจังหวัด สำรวจความเสียหาย และรายงานมาให้ทราบ
เร่งซ่อมถนน–สะพานพังจากน้ำ
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยตลอดวันที่ 2 ต.ค.ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือยังมีหลายจังหวัดได้รับผลกระทบจากน้ำหลากเข้าท่วมบ้านและพื้นที่ทางการเกษตร ถนนหนทางถูกน้ำท่วม ดินสไลด์ ทับทางไปจนถึงถูกน้ำซัดขาดจนต้องปิดการสัญจร อาทิ ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 108 แม่สะเรียง-แม่เหาะ-ฮอด จ.แม่ฮ่องสอน สองข้างทางมีดินภูเขาข้างทางสไลด์ลงมาเป็นจุดๆ รวมถึงมีต้นไม้ เสาไฟฟ้า หักโค่นเข้าทับเส้นทาง แขวงทางหลวงแม่สะเรียง ฝ่ายปกครอง อ.แม่สะเรียง ร่วมเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเจ้าหน้าที่มาตัดทอนต้นไม้ ยกขนลำเลียง และลากออกจากถนน สามารถสัญจรผ่านได้แล้ว แต่มีเส้นทางเสียหายอีกหลายแห่ง ผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังในการเดินทาง ส่วนที่ อ.แม่ลาน้อย นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผวจ.แม่ฮ่องสอน สั่งหน่วยงาน เกี่ยวข้องไปแก้ไขปัญหาคอสะพานที่เสียหาย 2 จุด ได้แก่ สะพานข้ามน้ำลา หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 ขณะที่ นายอัครพันธุ์ พูลศิริ นายอำเภอสบเมย เดินตรวจสอบความเสียหายจากน้ำป่าไหลหลาก ทำให้ถนนคอนกรีต เส้นทางอุทยานแห่งชาติแม่เงา-บ้านสบโขง (เลยอุทยานแห่งชาติแม่เงาไปประมาณ 800 เมตร) ถูก น้ำกัดเซาะ รถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรได้ ชาวบ้านได้รับผลกระทบในการเดินทาง เนื่องจากเป็นถนนเชื่อมไปยัง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก มีการประสานงานกับแขวงทางหลวงชนบท แม่สะเรียง นำเครื่องจักรกลหนักพร้อมเจ้าหน้าที่ เข้าแก้ไขเปิดเส้นทางสัญจรแล้ว
คันกั้นน้ำเมืองสุโขทัยแตกอีกจุด
ขณะที่ จ.สุโขทัย ที่มีการเฝ้าระวังและป้องกันอย่างหนัก แต่เมื่อเวลาประมาณ 23.30 น. วันที่ 1 ต.ค. กระแสน้ำอันเชี่ยวกรากได้กัดเซาะแนวคันดินบริเวณ บ้านวังโพธิ์ ม.5 และบ้านมะขามค่อม ม.9 ต.ยางซ้าย อ.เมืองสุโขทัย พังลงอีก 1 จุด ยาวเกือบ 20 เมตร ส่งผลให้มวลน้ำทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่การเกษตรอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ บริเวณดังกล่าวต้องเร่งขนของหนีน้ำมากองไว้ริมถนน กลางดึก ทำให้ในพื้นที่ อ.เมืองสุโขทัยถูกน้ำท่วม ขยายเป็นวงกว้างขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้กระแสน้ำจากลำน้ำยมซัดแนวคันดินบริเวณบ้านวังหิน ม.1 ต.ปากแคว และแนวพนังกั้นน้ำที่บริเวณเชิงสะพาน แขวนข้ามแม่น้ำยม หลังวัดราษฎร์ศรัทธาธรรม (วัดปากแคว) ม.4 ต.ปากแคว จนพังเสียหายไปก่อน หน้านี้ ทำให้พระ-เณร และชาวบ้าน ต้องช่วยกันขนย้าย ข้าวของขึ้นบนศาลา ใช้เรือพายเป็นพาหนะในการสัญจรแทน เนื่องจากระดับน้ำภายในวัดสูงเกือบ 1 เมตร
ลำน้ำยมยังขึ้นสูงต่อเนื่อง
ที่ จ.พิจิตร ฝนที่ตกติดต่อกันหลายวันประกอบกับ มวลน้ำจาก จ.สุโขทัย และพิษณุโลก ไหลหนุนมาทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำยมที่ไหลผ่าน อ.สามง่าม อ.โพธิ์ประทับช้าง และ อ.โพทะเล สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บางแห่งที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและน้ำท่วมซ้ำซาก เช่น ที่ ต.รังนก และ ต.สามง่าม อ.สามง่าม น้ำไหลเอ่อล้น เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร 134 หลังคาเรือน ระดับน้ำ สูง 30-40 ซม. ทั้งนี้ นายสิงหราช วงษ์เสงี่ยม รอง ผวจ.พิจิตร พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าติด ตามสถานการณ์ และมอบถุงยังชีพให้กับชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น ขณะที่นายสุภโชค ศิลปคุณ นอภ.สามง่าม เปิดเผยว่า น้ำจากแม่น้ำยมได้เอ่อล้นท่วมพื้นที่ 2 ตำบล ระดับน้ำ ต่ำกว่าปี 2565 ในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะนี้ ชาวบ้านยังคงดำรงชีวิตกันตามปกติและทางอำเภอได้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
...
สามเงายังอ่วมต้องปิดเรียน
ขณะที่ อ.สามเงาและ อ.บ้านตาก จ.ตาก ระดับน้ำยังท่วมสูง เนื่องจากยังมีมวลน้ำก้อนใหญ่ จาก จ.ลำปาง ไหลลงมาสมทบอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำท่วมหมู่ 7 ต.ยกกระบัตร อ.สามเงา ระดับน้ำสูงกว่า 2 เมตร ชาวบ้านกว่า 140 หลังคาเรือน 450 คน ได้รับความเดือดร้อนต้องใช้เรือแทนรถในการสัญจร โรงเรียนอย่างน้อย 3 แห่ง ต้องหยุดเรียนชั่วคราว จนกว่าน้ำจะลดเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่ถนนถูกน้ำท่วมรถไม่สามารถสัญจรได้ที่ถนนสายวังหมัน-นาตาโพ และถนนสายยางโอง-วังหวาย
น้ำปิงซัดสะพานวังแขมทรุด
ส่วนฝั่งลำน้ำปิง จ.กำแพงเพชร เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 2 ต.ค. จากกระแสน้ำปิงที่เชี่ยวกราก ได้สร้างความเสียหายให้กับสะพานศรีมงคลวชิรานุสรณ์ (สะพานวังแขม) เป็นสะพานข้ามแม่น้ำปิงเชื่อมโยงระหว่าง ต.วังแขม ข้ามไป ต.แม่ลาด อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร ขณะนี้ตอม่อสะพานทรุดตัวลงอย่างหนัก ได้ยินเสียงลั่นของสะพานอยู่ตลอดเวลา มีรอยแตกร้าวบริเวณด้านบนสะพาน และสะพานอาจถล่มพังได้ เจ้าหน้าที่ทางหลวงชนบทกำแพงเพชร ได้นำแท่นปูนมาวางปิดการจราจรถาวรไม่ให้ประชาชนผ่านไปมา แต่ก็ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนจากการไม่สามารถสัญจรไปมาทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำปิง ต้องใช้เส้นทางอ้อมไปข้ามสะพานคลองขลุง และสะพานขาณุฯไกลกว่า 20-30 กิโลเมตร ขณะที่ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนในพื้นที่ระบุว่าช่วงนี้เป็นช่วงสอบปลายภาคเรียน จะลำบากในการสัญจร บางรายจอดรถจักรยานยนต์และขอเดินข้ามไปอีกฝั่งเพื่อทำธุระ เพราะขับอ้อมไม่ไหว และเมื่อถึงเวลาเลิกเรียนในช่วงเย็น ผู้ปกครองต่างมารอรับลูกหลานที่เดินข้ามสะพานที่พร้อมถล่มได้ตลอดเวลา จนต้องให้ลูกหลานรีบวิ่งข้ามในจุดบริเวณที่ทรุดตัว ทั้งนี้ นายชาธิป รุจนเสรี ผวจ.กำแพงเพชร ออกคำสั่งห้ามเดินข้ามไปมาอย่างเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายและสะพานพังถล่มได้ทุกเมื่อ
...
ลำน้ำชีล้นตลิ่งแล้ว
สำหรับสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ที่มีลุ่มน้ำสำคัญคือลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชีนั้น เมื่อวันที่ 2 ต.ค. มีรายงานว่า เกิดน้ำป่าหลากจากเทือกเขาภูเขียว จุดต้นกำเนิดต้นแม่น้ำชีใน อ.หนองบัวแดง ทั้งจากเทือกเขาภูแลนคา ในพื้นที่ ต.ลุ่มลำชี อ.บ้านเขว้า และเริ่มเกิดน้ำหลากจากลำคันฉู ไหลผ่านบึงละหาน อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ ส่งผลให้เกิดน้ำป่าทะลักเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรหนักสุดขณะนี้ในตำบลลุ่มลำชี ของ อ.บ้านเขว้า และ ต.ละหาน อ.จัตุรัส พื้นที่ปลูกข้าวถูกน้ำท่วมแล้วหลายพันไร่ รวมทั้งภายในหมู่บ้านโนนน้อย ตำบลลุ่มลำชี ซึ่งอยู่ติดกับลำน้ำชี กระแสน้ำล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมถนนในหมู่บ้านระดับท่วมสูงกว่า 30 ซม. 1 เมตร และมวลน้ำยังไหลเข้าท่วมภายในที่ทำการศาลา ประชาคมหมู่บ้านโนนน้อย จนต้องปิดที่ทำการชั่วคราว
นาข้าวจมน้ำนับหมื่นไร่
สำหรับสถานการณ์พื้นที่ด้านท้ายเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำของเขื่อน มีจำนวน 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.ร่องคำ อ.ฆ้องชัย อ.ยางตลาด และ อ.กมลาไสย รวม 19 ตำบล 104 หมู่บ้าน 2,121 ครัวเรือน บ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบจำนวน 29 หลัง พื้นที่การเกษตร นาข้าว ได้รับผลกระทบประมาณ 17,403 ไร่ บ่อปลา 42 บ่อ ถนน 3 สาย ในส่วนพื้นที่ด้านบนเขื่อน เป็นพื้นที่รอบเขื่อนลำปาว และเป็นเอกสารสิทธิสัญญาเช่าของกรมธนารักษ์ได้รับผลกระทบจำนวน 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ท่าคันโท อ.หนองกุงศรี อ.สหัสขันธ์ อ.ห้วยเม็ก อ.สามชัย และ อ.เมืองกาฬสินธุ์ รวม 21 ตำบล 95 หมู่บ้าน 3,120 ครัวเรือน บ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบ 483 หลัง พื้นที่การเกษตรนาข้าวได้รับผลกระทบประมาณ 13,404 ไร่ พืชไร่ 519 ไร่ วัด 4 แห่ง บ่อกุ้ง 100 บ่อ ถนน 14 สาย คอกสัตว์ 5 แห่ง ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการช่วยเหลือต่อไป
...
อุบลฯ ยังอ่วมน้ำมูลล้น
ขณะที่ จ.อุบลราชธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่าแม่น้ำมูลแม้ทรงตัว แต่ยังสูงกว่าล้นตลิ่ง 70 เซนติเมตร ทำให้น้ำไหลท่วมบ้านเรือนในชุมชนท่าบ้งมั่ง และตามที่ราบต่ำในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบเป็นวงกว้าง เจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน อ.วารินชำราบ เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองวารินชำราบ ต้องนำกระสอบทรายมากั้นน้ำที่ซึมผ่านพนังกั้นน้ำไม่ให้ไหลท่วมบ้านเรือนสูงมาก ชาวชุมชนต้องอพยพออกจากพื้นที่ ส่วนที่ประตูน้ำวันเสานาวงศ์ เจ้าหน้าที่ชลประทานที่ 7 ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 11 และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 13 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เพื่อสูบน้ำที่ไหลท่วมชุมชนกลับลงแม่น้ำมูล เพื่อให้ชาวบ้านสามารถอาศัยอยู่บนชั้นที่ 2 ของบ้านได้ต่อไป ทั้งนี้ จ.อุบลราชธานี มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมแล้ว 9 อำเภอ โดย 2 อำเภอคือ อ.เมืองอุบลราชธานี และ อ.วารินชำราบ มีชาวชุมชนต้องอพยพหนีน้ำเพิ่มจาก 18 ชุมชนเป็น 22 ชุมชน จำนวน 382 ครอบครัว รวม 1,340 คน
น้ำเหนือมาเพิ่มแต่ยังห่างตลิ่ง
สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่านเพิ่มสูงขึ้น มีปริมาณน้ำไหลผ่านจุดวัดอยู่ที่ 1,527 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 16.75 เมตร/รทก. มีปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 11.20 เมตร/รทก. ระดับน้ำห่างจากตลิ่งอยู่ที่ 5.14 เมตร และเขื่อนเจ้าพระยามีอัตราการระบายน้ำผ่านเขื่อนอยู่ที่ 1,070 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลทำให้ที่สถานีวัดน้ำ C.3 บ้านบางพุทรา อ.เมืองสิงห์บุรี มีปริมาณน้ำไหลผ่านจุดวัดอยู่ที่ 944 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทั้งนี้ กรมชลประทานขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริม 2 ฝั่งด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ลงไป ให้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
เร่งซ่อมแนวเขื่อนเจ้าพระยา
ส่วนที่ จ.สิงห์บุรี นายณรงค์ศักดิ์ วิงวอน นายกเทศมนตรีเมืองสิงห์บุรี ให้ช่างเทศบาลเมืองสิงห์บุรี ปิดจุดรั่วซึมของน้ำบริเวณแนวเขื่อนกั้นน้ำเจ้าพระยา ป้องกันน้ำท่วมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีทั้งหมด 11 จุด ขณะนี้ได้ซ่อมแซมเสร็จแล้วจำนวน 7 จุด ตั้งแต่บริเวณวัดเสฐียรวัฒนดิษฐ์ จนถึงบริเวณเหนือวัดโพธิ์ข้าวผอก รวมความยาวในการซ่อมแซมทั้งหมด 290 เมตร คาดว่าจะเสร็จได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ อย่างไรก็ตาม หากระดับน้ำไหลผ่านปริมาณ 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทางเทศบาลเมืองสิงห์บุรีจะอุดท่อระบายน้ำทันที เตรียมพร้อมไม่ให้น้ำผุดตามท่อ ไหลเข้าท่วมชุมชนเขตเศรษฐกิจจังหวัดสิงห์บุรี และหากเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ระบายน้ำที่ระดับท้ายเขื่อนตั้งแต่ 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีขึ้นไป จะส่งผลให้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ ชุมชนบางแคนอก บางแคใน และชุมชนบางกระบือ เพราะขณะนี้โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วัดสถิตย์วัฒนาราม หมู่ที่ 2 ตำบลบางกระบือ จนถึงใต้สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยายังไม่เสร็จ ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยานอกคันกั้นน้ำยกของขึ้นที่สูง เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง
เฝ้าระวังโบราณสถานกรุงเก่า
ส่วนที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผวจ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมคณะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางมาติดตามสถานการณ์น้ำริมฝั่งแม่น้ำน้อย ในพื้นที่หมู่ที่ 4 ต.บ้านกระทุ่ม อ.เสนา โดยบ้านของ นางสำรวย แต่งทรง จะเป็นจุดแรกที่ถูกน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วม ซึ่งในวันที่ 2 ต.ค. เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำ ลงสู่ท้ายน้ำอยู่ที่ 1,049 ลบ.ม.ต่อวินาที และในช่วงค่ำ จะเพิ่มการระบายน้ำ 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผล กระทบกับพื้นที่ ต.หัวเวียง ต.บ้านกระทุ่ม อ.เสนา เป็นพื้นที่ต่ำสุด และเป็นพื้นที่ประจำเมื่อมวลน้ำปริมาณมากไหลผ่านแม่น้ำน้อย น้ำจะล้นตลิ่งไหล เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ทั้งนี้ นายนิวัฒน์กล่าวว่า จากการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาของกรมชลประทาน เริ่มส่งผลกระทบกับพื้นที่ต่างๆในจังหวัด ซึ่งได้สั่งการ ให้ทุกอำเภอทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่เกาะเมืองและโบราณสถานที่สำคัญ ไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่