“โยนกลอง” เป็นสำนวนเก่า ใช้กันมาโบร่ำโบราณ ในความหมาย ปัดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตน หรือพาดพิงมาถึงตน เป็นหน้าที่ของคนอื่นจัดการ ใช้กันนานเสียจนคนใช้ก็ยังไม่รู้ว่า สำนวนนี้มีที่มา อย่างไร?

ในหนังสือ “สำนวนไทย” (สำนักพิมพ์รวมสาส์น พ.ศ.2514) อาจารย์ กาญจนาคพันธุ์ ตั้งข้อสังเกต สำนวนนี้ใช้พูดเกี่ยวกับอะไรต่างๆ ที่เป็นเรื่องเป็นราว

ท่านจึงใช้คำว่า “ลางที...” อาจจะมาจากประเพณีตีกลองร้องฎีกา ที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

สมัยนั้นพระเจ้าแผ่นดินเป็นใหญ่สุด แม้จะทรงใช้พระปรีชาสามารถและเที่ยงธรรมแค่ไหน แต่บ้านเมืองที่มีผู้คนมากมาย ก็ยังทรงจัดการเรื่องความเป็นธรรมได้ไม่ทั่วถึง

เมื่อโปรดให้ราษฎรเข้าไปตีกลองร้องฎีกา พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงรับฎีกาไปพิจารณา แต่เรื่องที่ร้องเกิดเกี่ยวข้องไปหลายฝ่าย ฝ่ายนั้นก็อ้างว่าเป็นเรื่องของฝ่ายโน้น ฝ่ายโน้นก็อ้างว่าเป็นเรื่องของฝ่ายนี้ โยนกันไปโยนกันมา

คดีความที่เกิดจากตีกลองร้องฎีกา จึงพูดกันเป็นสำนวนว่า โยนกลอง

สำนวนต่อมา “ร้องแรกแหกกระเชอ” กาญจนาคพันธุ์ อธิบาย ถ้าใช้กันทุกคำเต็มๆตามสำนวน มีความหมายร้องเอ็ดอึง ร้องเอ็ดตะโร ร้องเสียงดัง “ร้องแรก” อาจารย์แน่ใจที่มา แต่ “แหกกระเชอ” ท่านดูจะไม่ค่อยแน่ใจ

“ร้องแรก” ใช้เป็นภาษาทางการ ในประกาศรัชกาลที่ 4 เรื่องห้ามมิให้นักโทษร้องถวายฎีกาในเวลาเสด็จพระราชดำเนิน มีความตอนหนึ่งว่า

“ในทางนั้นถ้าทิมมีคุกมีตรางไว้ขังคนโทษอยู่ทิศใด ถิ่นใด ก็ให้กรมวังมีบัตรหมายไปให้เจ้าของมาระวังคนโทษในที่ขังของตัวๆ อย่าให้ร้องแรกวุ่นวายไป” เป็นอันว่าสำนวน “ร้องแรก” มีที่มาชัดเจน

...

แต่คำสร้อย “แหกกระเชอ” กาญจนาคพันธุ์ สารภาพ “ไม่ทราบ ว่ามาอย่างไร”

กระเชอ แปลว่าภาชนะเครื่องสาน สำหรับใส่ของหรืออะไรๆก็ได้ ตลอดจนใส่ปลา เช่นเมื่อเมียชาวประมงถือกระเชอสำหรับใส่ปลา กระเชอ ก้นรั่ว ปลาลอดลงน้ำไปหมด เป็นที่มาของสำนวน “เผอเรอกระเชอก้นรั่ว”

ในภาษาไทย มีคำว่า “กระชัง” แปลว่าแผงหรือฝากั้นเปิดปิดได้ หรือแปลว่า ที่สำหรับขังใส่ปลา

ลางที ร้องแรกแหกกระเชอ จะหมายถึงร้องแรกแหกกระชัง คือนักโทษแหกฝากระชังร้อง

ในประกาศของรัชกาลที่ 4 มีความอีกตอนหนึ่ง...“ในหลวงมีที่เสด็จไปทางไหน คนโทษในทิมในตรางนั้นๆ ก็จะร้องแซ่เสียงไปทุกทิมทุกตราง ไม่ว่างเว้น”

สถานการณ์ที่นักโทษแหกฝากระชังทิม หรือตราง เดิมทีก็คงพูดกันว่า “ร้องแรกแหกกระชัง” เมื่อกระชังเป็นภาชนะใส่ปลาพวกเดียวกับกระเชอ บังเอิญเราพูดสำนวน “เผอเรอกระเชอก้นรั่ว” ติดปาก

สำนวนร้องแรกแหกกระชัง จึงกลายเป็นสำนวน ร้องแรกแหกกระเชอ

อ่านคำอธิบายสำนวน “โยนกลอง” และสำนวน “ร้องแรกแหกกระเชอ” ของ “กาญจนาคพันธุ์” แล้ว มโนเห็นสภาพคนโทษสมัย ร.3 ร.4 ที่ถูกขังไว้ใน “ทิม” ใน “ตราง” สมัยนั้นเป็นบริเวณของบ้านเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่

คนโทษแต่ละคน เมื่อถูกตัดสินขังแล้ว...ไม่ค่อยชัดเจน โทษหนักโทษเบา แต่ฟังๆแล้วเหมือนถูกขังลืม ถ้าผู้ใหญ่ไม่เมตตา เผลอๆก็ถูกขังจนตาย

ขุนแผนตอนติดคุก...สมเด็จพระพันวษาทรงนึกขึ้นได้ สั่งให้พ้นโทษไปเป็นแม่ทัพตีเมืองเชียงใหม่ นี่เป็นเรื่องของวาสนา เคยรับราชการมีผลงานเข้าพระเนตรพระกรรณมาก่อน

ใครที่เคยอ่านขุนช้างขุนแผนคงรู้ว่า ขุนแผนมีวิชาสะเดาะกรงขังแหกคุกได้สบายๆ ที่ยอมติดคุกเป็นนาน เพราะยอมรับในกฎกติกาโชค เคารพในพระบารมีพระเจ้าแผ่นดิน

เรื่องแบบขุนแผนรบชนะ กู้บ้านเมืองได้...การปล่อยขุนแผนออกจากคุกก็เป็นเรื่องที่เป็นคุณ เกิดแล้วเกิดเล่า ตามธรรมดาโลก ไม่ใช่เรื่องผิดปกติวิสัยซักเท่าไหร่เลย!!

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ "ชักธงรบ" เพิ่มเติม