นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เผยว่า ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ ต.แม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก ถือเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงลำดับแรกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอดแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขา ลดการปลูกฝิ่น และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร
โดยในปี พ.ศ.2559 มูลนิธิโครงการหลวงและศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่ดินโครงการหลวง กรมพัฒนาที่ดินได้เข้าไปสำรวจพื้นที่เบื้องต้น เพื่อนำข้อมูลมาวางแผน ศึกษา วิเคราะห์สภาพพื้นที่ เพื่อดำเนินการพัฒนาในด้านต่างๆ และจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อเป็นพื้นที่ตัวอย่างให้เกษตรกรชาวเขา ในการปรับ ปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด การปลูกหญ้าแฝกเพื่อลดการพังทลายของดิน และการวางแผนการใช้ที่ดิน เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่มีการใช้ทรัพยากรดินบนพื้นที่สูงได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“ตลอดระยะเวลา 7 ปี ได้ดำเนินการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ 3,362 ไร่ ก่อสร้างระบบส่งน้ำชลประทาน 10.886 กิโลเมตร ก่อสร้างเส้นทางลำเลียง 90.941 กิโลเมตร ผลลัพธ์ที่ได้ พื้นที่ปลูกฝิ่นลดลงกว่าร้อยละ 98 เป็นชุมชนที่พัฒนาอย่างสมดุลทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นศูนย์สาธิตการปลูกพืชทางเลือกแบบโครงการหลวง ในพื้นที่เกษตรได้จัดทำแปลงในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ นอกจากนี้เรายังส่งเสริมการปรับปรุงบำรุงดินด้วย สารเร่ง พด. ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ หญ้าแฝก และองค์ความรู้เทคโนโลยีชีวภาพและนวัตกรรมกรมพัฒนาที่ดิน”
...
อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เผยอีกว่า เนื่องจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง ขาดรูปแบบการทำเกษตรที่ถูกต้อง ทำให้เกิดปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน และขาดน้ำทำการเกษตร อุปโภคบริโภค มูลนิธิโครงการหลวงจึงได้หารือกับคณะทำงานจัดหาแหล่งน้ำในพื้นที่เพื่อการอุปโภคบริโภค และใช้ด้านการเกษตร โดยได้สร้างอ่างเก็บน้ำแม่หินหลวงน้อย ดำเนินการโดยกรมชลประทานแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2565
แต่สภาพพื้นที่ของอ่างเก็บน้ำแม่หินหลวงน้อย และบริเวณรอบอ่าง มีการชะล้างพังทลายของหน้าดินอย่างรุนแรง ทำให้ตะกอนดินถูกมวลน้ำพัดพาชะล้างหน้าดินลงสูงอ่าง หน้าดินสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน โดยศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่ดินโครงการหลวง จึงได้จัดทำโครงการรณรงค์ปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ ในพื้นที่บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำ 200,000 กล้า พื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 30,000 กล้า และพื้นที่จัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ 175 ไร่ 60,5880 กล้า รวมใช้กล้าหญ้าแฝก 835,880 กล้า เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน และให้เกษตรกร เจ้าหน้าที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ.