แนวโน้มฝุ่น PM 2.5 ปรับลดลง หลังมีฝนตกลงมาจากพายุฤดูร้อน ด้านศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ยังคงขอความร่วมมือประชาชนชนช่วยกันลดกิจกรรมทำให้เกิดฝุ่น
วันที่ 10 พ.ค. 2566 มีรายงานว่า สถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 พบว่าหลายพื้นที่มีค่าสูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ภาคเหนือ ที่หลายจังหวัดเผชิญหน้ากับอากาศขมุกขมัว เช่น จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน

พายุฤดูร้อน ส่งผลให้ฝุ่น PM 2.5 ลดลง
ทั้งนี้ นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวว่า ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ปรับตัวลดลงทุกพื้นที่ หลังมีฝนตกลงมาจากพายุฤดูร้อน
โดยจะมีแนวโน้มดีขึ้นถึงปานกลางตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. 2566 เป็นต้นไป เนื่องจากความเร็วลมที่ระดับชั้นบนมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้การระบายฝุ่นของพื้นที่ดีขึ้น ประกอบกับ วันที่ 10 - 12 พ.ค. 2566 อาจเกิดฝนตกได้บางพื้นที่ทั้งภาคเหนือตอนบนและตอนล่าง ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบค่าฝุ่น PM 2.5 ปรับตัวลดลงเช่นกัน ส่วนใหญ่คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดีมากถึงปานกลาง เพราะมีฝนตกลงมา
...
เช่นเดียวกับ ดร.ศักดา ตรีเดช ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมคุณภาพอากาศและเสียง เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ฝุ่น PM 2.5 พื้นที่เสี่ยงในประเทศไทยล่วงหน้า 7 วัน พบว่า สถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังคงมีแนวโน้มที่ดีมาก
ขณะที่พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างมีเกณฑ์คุณภาพอากาศอยู่ในแนวโน้มที่ดี แต่อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าพื้นที่ภาคเหนือตอนบนบางจังหวัดมีเกณฑ์คุณภาพอากาศเกินมาตรฐานเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

สำหรับช่วงวันที่ 9 - 15 พ.ค. 2566 จะพบว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีแนวโน้มเกณฑ์คุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่ดีมาก เพราะช่วงเวลานี้สภาพอากาศค่อนข้างเปิด ขณะที่พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ อาจจะต้องระวังเล็กน้อย เพราะอาจมีบางพื้นที่มีแนวโน้มคุณภาพอากาศปรับตัวขึ้นเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
สำหรับตัวช่วยสำคัญคือเรื่องลมกับฝน จะเห็นได้ว่าในสัปดาห์ที่จะถึง ความเร็วลมค่อนข้างช่วยได้มาก โดยเฉพาะความเร็วลมในระดับชั้นบนและเรื่องของฝน ตั้งแต่วันที่ 8 - 11 พ.ค. ประเทศไทยจะได้รับฝนหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน ซึ่งจะช่วยลดการสะสมของฝุ่นละอองไปได้มาก
"ในช่วงที่สถานการณ์ฝุ่นยังไม่จบลงด้วยดี ทางศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศยังคงขอความร่วมมือลดการระบายฝุ่นละออง 2 วิธีคือ การดูแลบำรุงรักษาเครื่องยนต์จากยนพาหนะโดยเฉพาะเครื่องดีเซล และลดการเผาในที่โล่ง"
เตือนระวังพายุฤดูร้อน 9 - 15 พ.ค. 2566
อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายอากาศระหว่างวันที่ 9 - 15 พ.ค. 2566 โดยระบุว่า ในช่วงวันที่ 9 - 10 พ.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 15 พ.ค. 66 ลมใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง