เช้านี้ (วันที่ 28 เมษายน 2566)...ยังคงมีรายงานให้ทราบว่าติดกันรัวๆระลอกนี้เยอะมากนะครับ ติดเชื้อแล้วยังควรแยกตัวจากผู้อื่น 7-10 วัน จนกว่าจะไม่มีอาการ และตรวจ ATK ซ้ำแล้วได้ผลลบ จากนั้นจึงค่อยมาทำงานหรือใช้ชีวิต โดยป้องกันตัวเคร่งครัดจนครบ 14 วัน
ด้วยหลักฐานทางการแพทย์จากการวิจัยทั้งจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ หาก “ติดเชื้อ” และแยกตัว 5 วัน มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อ ได้อยู่ 50-75%...7 วัน 25-30%...10 วัน 10%...14 วัน ก็จะปลอดภัย
แต่หากไม่แยกตัวหรือแยกตัวระยะสั้น ไม่เพียงพอ ย่อมเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นได้
...ที่ทำงานควรช่วยกันปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานของตนเองให้มีการถ่ายเทอากาศ ระมัดระวังการรับประทานอาหารร่วมกัน และรณรงค์ให้ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ
ข้อมูลข้างต้นนี้ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat” พร้อมย้ำดังๆว่า ติดกันมากจริงๆนะครับ
...
“ขอให้ปลอดภัย ป้องกันตัวให้ดี...การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องนั้นสำคัญมาก”
ฉายภาพสะท้อนการแพร่ระบาดในต่างประเทศ อาการของ “XBB.1.16.x” ในอินเดีย งานวิจัยล่าสุด โดย Karyakarte RP และคณะ เพิ่งเผยแพร่ใน medRxiv (26 เม.ย.66) ศึกษาโดยสำรวจลักษณะอาการของผู้ป่วยโรคโควิด-19 โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย XBB.1.16.x จำนวน 276 คน พบว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อยนี้มีอาการป่วยถึง 92%
โดยอาการที่พบบ่อยได้แก่ ไข้ 67%, ไอ 42%, น้ำมูกไหล 33.7%, ปวดเมื่อยตามตัว 14.5% และอ่อนเพลีย...เหนื่อยล้า 14.1%
ทั้งนี้ 91.7% ของผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย XBB.1.16.x นั้น เคยได้รับวัคซีนมาก่อนแล้วอย่างน้อยหนึ่งโดส...กว่าหนึ่งในสี่หรือราว 25.7% ของผู้ติดเชื้อ XBB.1.16.x ต้องมารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือมากักตัวที่สถานพยาบาล
ที่สำคัญคือ...กว่าหนึ่งในสามหรือ 33.8% ของกลุ่มที่มานอนรักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อสายพันธุ์ XBB.1.16.x นั้น ต้องได้รับออกซิเจน
นอกจากนี้ จำนวนผู้ศึกษาจาก 276 คน เสียชีวิต 7 คน...มีอัตราการเสียชีวิต 2.5% โดยคนที่ตายนั้น ส่วนใหญ่อายุมากกว่า 60 ปี หรือมีโรคประจำตัว หรือต้องได้รับออกซิเจน
ข้อมูลล่าสุดนี้ ชี้ให้เห็นว่า “โอมิครอน” สายพันธุ์ย่อย XBB.1.16.x นั้นมีอาการที่พบบ่อยคล้ายกับสายพันธุ์ก่อนๆที่เคยระบาดมา
นอกจากนี้ ยังตอกย้ำให้เราเห็นความสำคัญของการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดซ้ำ เพราะติดแต่ละครั้ง ป่วยได้ รุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อลองโควิดอีกด้วย
อีกข้อมูลที่น่าสนใจ กรณีศึกษา “การขาด” หรือ “ลางาน” ในสหราชอาณาจักร
Office for National Statistics (ONS) ชี้ให้เห็นว่า อัตราการขาดหรือลางานจากการเจ็บป่วยในปี 2022 ที่ผ่านมานั้น อยู่ที่ 2.6% ซึ่งถือว่าสูงที่สุดนับจากปี 2004 เป็นต้นมา
หากนับจำนวนวันของการขาดหรือลางานจากการเจ็บป่วย พบว่า ปี 2022 สูงถึง 185.6 ล้านวัน ลักษณะของคนที่ขาดหรือลางานจากการเจ็บป่วยนั้น มักเป็นเพศหญิง วัยทำงานที่อายุมาก รวมถึงคนที่ทำงานด้านการดูแลและอุตสาหกรรมบริการ
สะท้อนให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของประชากรที่สูงขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อการทำงานทั้งระดับบุคคลและระบบแรงงานในประเทศ
...
คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสถิติที่สูงขึ้นมากนั้นมีความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากโรค “โควิด-19” โดยสอดคล้องกับความรู้พื้นฐานทางการแพทย์ที่เราทราบกันดีว่า มีคนติดเชื้อจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง และการติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นไม่จบแค่ชิลชิลแล้วหายหรือตาย แต่ทำให้เกิดผลกระทบระยะยาวอย่างลองโควิด
...ที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติได้แทบทุกระบบในร่างกาย ทำให้บั่นทอนคุณภาพชีวิตและสมรรถนะในการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงการทำงาน
สอดคล้องกับงานวิจัยหลายต่อหลายประเทศทั่วโลก ที่รายงานไปในทางเดียวกันว่า “ลองโควิด” ทำให้คนจำนวนมากไม่สามารถทำงานได้ ต้องออกจากระบบงาน ขาดรายได้ และต้องตกอยู่ในภาวะพึ่งพิง
ในขณะที่ข้อมูลของ ONS ล่าสุดนี้ยังเสริมให้เข้าใจผลกระทบในภาพรวมมากขึ้นด้วยว่า “ลองโควิด” ไม่ได้ทำให้เพียงคนออกจากระบบงาน แต่ยังน่าจะมีส่วนที่จะทำให้คนที่ยังคงอยู่ในระบบงานนั้นทำงานไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ ขาดหรือลางานมากขึ้นอีกด้วย
แน่นอนว่าสำหรับไทยเรา ย่อมมีโอกาสสูงที่จะได้รับผลกระทบเช่นกัน
รศ.นพ.ธีระ บอกอีกว่า ตอนนี้เราติดเชื้อกันเยอะมากกกกก และมีการติดกันยกครัวกันมากเช่นกัน ขอให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ
...
“ติดแต่ละครั้ง ไม่ใช่ชิลชิล แล้วหาย แต่ป่วยได้ รุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อลองโควิดที่จะส่งผลต่อสมรรถนะการดำเนินชีวิตและบั่นทอนคุณภาพชีวิตด้วย”
ระวังที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี ไม่แชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน
ทุกวันนี้ เห็นความประมาทและละเลยเพิกเฉย ไม่ป้องกันตัว ไม่ใส่หน้ากากในธุรกิจอุตสาหกรรมบริการ ร้านอาหาร สถานบันเทิง โรงแรม และท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อย ซึ่งมีโอกาสสัมผัสและพบปะผู้คนจำนวนมากในแต่ละวัน
การคุยกันระยะใกล้ โดยที่คนคนนั้นไม่มีไอ ไม่มีจาม มีการวิจัยพบว่าจะมีละอองน้ำลาย (aerosol) ขนาดราว 1 ไมครอนออกมาเวลาพูดคุยกันได้
แถมจำนวนละอองฝอยขนาดเล็กนี้ มีปริมาณถึง 10 ละอองต่อวินาที
นั่นหมายถึงว่า...การคุยกันธรรมดา 10 นาที เรามีโอกาสสัมผัสละอองฝอยจากคนที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการใดๆ มากถึง 6,000 ละอองฝอย แต่หากคุยแบบเสียงดัง ตะโกน ตะเบ็ง จำนวนละอองฝอยที่ออกมาจะมากยิ่งขึ้น
“เราย่อมไม่แปลกใจว่า หากไม่ป้องกันตัวในสถานการณ์ข้างต้นย่อมเสี่ยงที่จะนำไปสู่การแพร่เชื้อติดเชื้อกันจำนวนมากในสังคมได้...เพื่อให้การใช้ชีวิต การทำงาน การเรียน เป็นไปได้อย่างปลอดภัย จึงควรตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว และเรียนรู้ที่จะใส่ใจสุขภาพ ป้องกันตัวให้ดีและสม่ำเสมอ”
ย้ำดังๆอยู่ทุกครั้ง...การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มากไม่ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด.
...