สงกรานต์ 2566 พบ "มอเตอร์ไซค์" ยังครองแชมป์บาดเจ็บ-ตาย สูงสุดเกือบ 80% เผยตัวเลขน่าตกใจ ไทยตายมากกว่ายุโรป 7 เท่า
วันที่ 14 เมษายน 2566 พ.ญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่จักรยานยนต์ปลอดภัย เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลวันหยุดสงกรานต์ปี 2566 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบซ้ำซากก็คือ การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ที่พาหนะที่ครองแชมป์ยังคงเป็นรถมอเตอร์ไซค์
ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 13 เมษายน ที่ผ่านมา มอเตอร์ไซค์ ยังคงเป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงที่สุด คือ 79.51% และความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัยมีจำนวนมากถึง 15,584 ราย แสดงให้เห็นว่ารถจักรยานยนต์ยังคงเป็นพาหนะที่สร้างความเสียหายสูงสุดในบรรดาพาหนะในการขนส่งทั้งหมด
ด้าน นายเจนนี่ คาร์สัน ผู้จัดการโครงการ Road Safety Performance Index ของ สภาความปลอดภัยในการขนส่งแห่งยุโรป หรือ ETSC ได้เสนอต่อรัฐบาลของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป หรืออียู ให้เบรก ABS เป็นมาตรฐานบังคับของรถจักรยานยนต์ที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม ในทุกรุ่นที่ต่ำกว่า 125 cc เพื่อรักษาชีวิตเยาวชนของทุกประเทศในกลุ่ม EU โดยระบุว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางถนน แม้จะมีมาตรการที่ชาญฉลาดและตรงไปตรงมาหลายประการเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตที่ไม่สามารถยอมรับได้ในแต่ละปี เช่น การห้ามเด็กอายุ 14 ปีขี่มอเตอร์ไซค์ การตรวจสอบว่าผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สามารถถูกลงโทษหากใช้ความเร็วเกินขีดจำกัดได้เช่นเดียวกับผู้ใช้พาหนะอื่นๆ บนถนน
“ในยุโรปมียานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์สองล้อมากกว่า 10 ล้านคัน ผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งเป็นเด็ก จึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อเด็กที่อายุน้อยที่สุด ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเพิ่มข้อจำกัดอื่นๆ ในการขับขี่จักรยานยนต์ และทุกรัฐควรกำหนดอายุในการขับขี่มอเตอร์ไซค์ที่ขั้นต่ำอย่างน้อย 16 ปี แทนที่จะเป็น 14 ปีเช่นในปัจจุบัน”
...
นอกจากเรื่องของอายุและเบรก ABS แล้ว ETSC ยังมีข้อเสนอให้ มีการตรวจสอบทางเทคนิคที่จำเป็นสำหรับรถจักรยานยนต์และรถจักรยานยนต์ขนาดเล็กทุกคัน รวมถึงเน้นการตรวจสอบว่ารถไม่ได้มีการดัดแปลงให้มีความเร็วสูงขึ้น ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวนำไปสู่การทบทวนกฎระเบียบเกี่ยวกับการตรวจสอบยานพาหนะ ของคณะกรรมาธิการยุโรป ที่คาดว่าน่าจะมีข้อสรุปที่ขัดเจนภายในปีนี้
ผู้เชี่ยวชาญจาก ETSC กล่าวด้วยว่า รัฐบาลในกลุ่มอียูควรมีการพัฒนาการบังคับใช้การจำกัดความเร็วที่ใช้กับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ควรปรับปรุงการบังคับใช้การสวมหมวกนิรภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีการสวมหมวกนิรภัยในระดับต่ำมาก เช่น กรีซ และไซปรัส ฯลฯ
นอกจากนี้ สหภาพยุโรปและรัฐบาลแห่งชาติ ควรส่งเสริมแผนข้อมูลผู้บริโภคเกี่ยวกับประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยของหมวกกันน็อกและอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ เช่น แจ็กเก็ตถุงลมนิรภัย และผู้ผลิตรถยนต์ รถตู้ และรถบรรทุก ควรปรับปรุงอุปกรณ์การตรวจจับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วยเทคโนโลยีความปลอดภัย เช่น ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ ฯลฯ
ผู้จัดการโครงการ Road Safety Performance Index ETSC บอกว่า นอกจากนี้รัฐบาลของประเทศในกลุ่มอียูควรให้ความสนใจมากขึ้นกับพนักงานส่งของที่ตอนนี้ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง ทั้งการเบี่ยงเบนความสนใจจากแอปบนโทรศัพท์มือถือ แรงกดดันให้จัดส่งของอย่างรวดเร็ว การขาดอุปกรณ์ป้องกัน และการดูแลสภาพรถ
“เราต้องให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดกับแนวโน้มที่กำลังเติบโต เช่น จำนวนคนหนุ่มสาว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ปัจจุบันส่งอาหารร้อนๆ ในเมืองของเราด้วยมอเตอร์ไซค์ การทำงานภายใต้แรงกดดันด้านเวลากับยานพาหนะที่ไม่ได้รับการบำรุงรักษา ในขณะที่ถูกรบกวนด้วยเครื่องมือที่ใช้แอป ถือเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง”.