“ครอบครัวไทย ในวิกฤติโควิด-19 (2565)” สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (วปส.) บันทึกบอกเล่าสะท้อนสถานการณ์และผลกระทบของโควิด-19 ในเชิงสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ ที่ผ่านมา...ที่มีต่อครอบครัวไทย ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมากเปลี่ยนแปลงไป
อีกทั้งยังต้องปรับตัวในวิกฤติยาวนานต่อเนื่องนับเป็นปีๆ นอกจากนี้ยังนำเสนอให้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมในแง่มุมต่างๆอันเป็นผลมาจากการระบาดไว้อีกด้วย
ตอกย้ำ...วิกฤติการณ์โควิด-19 ไม่เพียงแต่เป็นวิกฤติทาง “สุขภาพ” เท่านั้น หากแต่ยังเป็นวิกฤติของ “การศึกษา” ที่ทั่วโลกต้องเผชิญ เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องคิดหนัก เพื่อปรับแนวทางและวิธีการที่จะสามารถทำให้เด็กได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องให้มากที่สุดในภาวะเช่นนี้ เพื่อไม่ให้พัฒนาการของเด็กได้รับผลกระทบ
หรือ...ได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด โดยที่ผ่านมา “การเรียนออนไลน์”...แม้จะมีความจำเป็นอย่างมาก แต่ก็ได้สร้างภาระและความยากลำบากให้กับเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมาก เพราะต้องปรับตัวหลายด้าน เช่น ต้องจัดหาอุปกรณ์ให้ลูก จัดพื้นที่การเรียนภายในบ้าน ต้องเรียนรู้ไปกับลูก ต้องสอนการบ้าน
...
ที่สำคัญ...ขณะเดียวกันยังต้องทำงานหารายได้ไปด้วย จึงเป็นภาวะที่ครอบครัวต้องเผชิญความสับสน...เกิดความเครียด
ขณะที่เด็กในครอบครัวยากจนก็ขาดโอกาสที่จะได้เรียนออนไลน์โดยสิ้นเชิง เพราะเงินที่หามาได้มีไว้สำหรับซื้อข้าวกินเท่านั้น คงไม่พอที่จะเจียดให้กับอุปกรณ์และอินเตอร์เน็ตที่หากจะใช้เรียนแบบไม่สะดุดก็ต้องซื้อโปรโมชันที่แพงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมากทีเดียว
จากการศึกษาพบว่า นักเรียนจากครัวเรือนที่ยากจนในเขตเมือง...ทั้งกรุงเทพฯ และจังหวัดในภาคใต้มีแนวโน้มที่จะออกจากโรงเรียนกลางคันเพิ่มขึ้นมากที่สุดอันเนื่องมาจากผลรวมของต้นทุนค่าเสียโอกาสทางการศึกษาที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ การสูญเสียการเรียนรู้จากการปิดโรงเรียน การลดการเรียนในแต่ละวิชา
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “การเรียนออนไลน์” มีผลกระทบต่อเด็กในหลายๆด้าน นับตั้งแต่...ความเครียด ไม่มีสมาธิในการเรียน เรียนไม่รู้เรื่อง การบ้านเยอะ...ไม่มีคนสอนการบ้าน เด็กรู้สึกเหงา เบื่อ เหนื่อย อยากไปโรงเรียน เด็กหลายคนเรียนตามเพื่อนไม่ทัน บางคนไม่เข้าใจบทเรียนก็ทิ้งกลางคัน ลาออกหรือพักการเรียน
...มีปัญหาทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต
“ชีวิตของคนเราไม่มีใครที่อยากจะเกิดมาแล้วยากจน ไม่มีใครที่อยากจะต้องการความยากลำบากในชีวิต แต่เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่ได้และอยู่รอดให้ปลอดภัย คนที่มีกำลังที่ดีกว่าแล้ว ยื่นมือช่วยเหลือคนที่อ่อนแอกว่าย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบัน”
พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก ประธานมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน เจ้าอาวาสวัดบางไส้ไก่ กทม.บอกอีกว่า ทุกชีวิตต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันไม่ว่าจะเป็นด้านใดหรือด้านหนึ่ง อาจจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมก็แล้วแต่กรณีไป มูลนิธิกลุ่มแสงเทียนมีความห่วงใย ตระหนักถึงคุณค่าของการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
เพื่อจะให้สังคมเราอยู่ได้และอยู่อย่างมีแต่ความสุข โดยเฉพาะ “เด็ก” ซึ่งถือว่าเป็น “หัวใจ” อันสำคัญของสังคม จึงได้จัดกิจกรรมตามโครงการต่างๆขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร การศึกษา การฝึกอบรมบ่มนิสัยพัฒนาจิตใจเด็กด้วยหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา
...
ช่วยเหลือด้านปัจจัยสี่ที่มีความจำเป็นของเด็กแต่ละคน จากวันแล้ววันเล่า...เดือนแล้วเดือนเล่าปีแล้วปีเล่าด้วยความตั้งใจ จึงได้ให้ความช่วยเหลือเด็กกำพร้า เด็กยากจน เด็กด้อยโอกาสทั้งในชุมชนแออัดและในชนบทถิ่นทุรกันดารมาเป็นเวลา 39 ปีเต็ม จนมีโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กอยู่ในขณะนี้ 14 โครงการ
หนึ่งในกิจกรรมเล็กๆในมุมหนึ่งของสังคมคือ “โครงการวันรวมน้ำใจ สู่ เด็กไทยในชุมชนแออัด” จัดขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ที่วัดบางไส้ไก่ แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร จัดหาของขวัญ มอบให้เด็กด้อยโอกาสทั้งในชุมชนแออัดและในชนบทถิ่นทุรกันดาร 8 ชุมชน และในชนบทอีก 890 คน
เป้าหมายเด็กๆเหล่านี้คือเด็กที่อยู่ในความอุปการะของมูลนิธิกลุ่มแสงเทียนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ได้ตระหนักว่าช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่รวมถึงวันเด็กแห่งชาติที่ผ่านมา เด็กด้อยโอกาสเหล่านี้... ไม่มีโอกาสได้รับของขวัญจากผู้คนในสังคมเลย
เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการดำเนินชีวิต ในการศึกษาเล่าเรียน รวมถึงการใช้ชีวิตอยู่ในครอบครัว ชุมชน...สังคม เด็กๆเหล่านี้จะได้เจริญเติบโตขึ้นมาเป็น “พลังอันสำคัญ” ให้กับสังคม เติบโตขึ้นมาเป็นเด็กดี เป็นเยาวชนที่ดีและเป็นพลเมืองที่ดีต่อไป
...
ที่สำคัญยังเป็นกิจกรรมเพื่อรณรงค์จัดหาเงินมาเป็น “ค่าอาหารกลางวันเด็กและทุนการศึกษาเด็ก” ที่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของมูลนิธิกลุ่มแสงเทียนในระยะยาวอีกด้วย
ผ่านมาถึงวันนี้ก็ยังเปิดรับการสนับสนุนอยู่เรื่อยๆ ผู้มีจิตศรัทธาและเมตตาสามารถร่วมบริจาคเป็นเงินช่วยเหลือเป็นค่าอาหารกลางวันเด็ก ทุนการศึกษาเด็ก หรือช่วยเหลือเด็กตามโครงการต่างๆได้ที่บัญชี “มูลนิธิกลุ่มแสงเทียน (วัดบางไส้ไก่)” ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาเจริญพาศน์
เลขที่บัญชี 126–0–36151–2 ประเภทสะสมทรัพย์ แล้วส่งข้อมูลการบริจาคมาที่ไลน์ 06-3232-3874 โทรสาร 0-2472-4212 เฟซบุ๊กเพจ มูลนิธิกลุ่มแสงเทียน โทรศัพท์สอบถามได้ที่เบอร์ 0-2465-6165
หรือใครจะร่วมบริจาคสิ่งของเป็นข้าวสาร อาหารสด อาหารแห้ง นม ขนม เครื่องเขียน ตุ๊กตา เสื้อผ้า ของเล่นเด็กอายุ 3-18 ปีก็ได้ตามสะดวก
“ชีวิตของเด็กไม่ว่าจะอยู่ในส่วนใดของสังคม จำเป็นต้องอาศัยผู้คนในสังคมทุกภาคส่วนช่วยดูแลสอดส่อง คอยประคบประหงมให้พวกเขาใช้ชีวิตเดินทางไปในทางที่ถูกที่ควร ได้รับการดูแลเลี้ยงดูและเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ ได้รับการเลี้ยงดูที่ดีหรือที่สมควรแก่วัย...”
ได้รับความรักความอบอุ่นจากครอบครัวและผู้คนในสังคม ได้รับการศึกษาเล่าเรียนตามระดับชั้นของการศึกษา ได้รับการฝึกอบรมบ่มนิสัยและคำแนะนำจากผู้ใหญ่ในสังคม ได้พบเห็นตัวอย่างที่ดีจากผู้ใหญ่ในสังคม ได้รับการปลูกฝังระเบียบวินัยที่ดีจนกลายเป็นเด็กที่ดีและมีมารยาท
...
....มีสุขภาพกายและใจที่ดี พร้อมที่จะเติบโตขึ้นมาเป็น “เยาวชน” ของชาติและเป็นกำลังที่ดีให้กับครอบครัวและชุมชน พวกเขาใช้ชีวิตที่ห่างไกลยาเสพติดทุกชนิด ห่างไกลการพนันและสิ่งมอมเมาทุกชนิด จนมีกำลังความรู้ความสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ในครอบครัวชุมชนและสังคมอย่างปกติสุข
พระมหาสมัย ย้ำว่า การที่จะช่วยกันดูแล พัฒนาเด็กให้มีความสุขและเจริญก้าวหน้าจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันทุกฝ่ายในสังคม สิ่งที่ดีก็จะเกิดขึ้นกับลูกหลานของสังคมเราในที่สุด
ในทางกลับกันถ้าเด็กๆกลายเป็น “เนื้อร้าย” ให้กับสังคมแล้วก็อย่าหวังเลยว่าความสุขจะเกิดขึ้นกับผู้คนในสังคม เราต้องร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างถูกจุดด้วยการเลี้ยงดู อบรมบ่มนิสัยให้การศึกษาแก่เด็กทุกคนในสังคมของเรา “เด็ก”...ก็คือเด็ก อนาคตประเทศและสังคมไทย.