ผ่านเลยงานมอบรางวัลโพธิคยานาคาธิบดี ที่สวนองค์พญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร เมื่อ 5 ก.พ.มาถึงวันนี้ ผมยังติดปัญหาค้างคาใจ...

รู้แค่ชื่อ มุกดาหาร ชื่อ หว้านใหญ่ แต่ไม่รู้ เมืองนี้บ้านนั้น มีที่มา สำคัญมากน้อย

ระหว่างแวะชมวัดหนึ่งในอำเภอหว้านใหญ่...เจ้าของบ้าน ถวายหนังสือเล่มเล็กๆให้ท่านเจ้าคุณ พระเทพวชิราจารย์ วัดโพธิ์ (หนึ่งในผู้รับรางวัล) ผมหลุดปากขอ ท่านเจ้าคุณก็เมตตายื่นให้

ปกหนังสือประวัติบ้านชะโนด เขียนโดยพระ เนื้อหาฟังมาจากผู้เฒ่าคัดลอกบอกต่อ...ผมขออ่านตอนหนึ่ง

นี้แหละ เป็นประวัติของท่านหอที่ได้สร้างวัดชะโนด จำเดิมนั้นมา บ้านชะโนดก็เป็นบ้านใหญ่ เต็มไปด้วยหลังคาเรือนถึง 100 วัดวาศาสนาก็รุ่งเรือง ไม่มีบ้านใดจะเปรียบเทียบได้

ส่วนบ่าวแก้วสิมพลีผู้น้อง ที่ตั้งบ้านอยู่ใต้ปากห้วยมุก ทำราชการแข็งแรงขึ้นกับพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม พระองค์ก็โปรดอนุญาตให้ตั้งเป็นเมืองขึ้น ชื่อว่าเมืองมุกดาหารถึงกาลบัดนี้

เพราะฉะนั้น เมืองมุกดาหารกับบ้านชะโนด ก็เป็นเชื้อสายโลหิตอันเดียวกัน

คือเมืองมุกฯเป็นเชื้อน้อง บ้านชะโนดเป็นเชื้อพี่

ผมอ่านถึงตอนนี้ ก็พอจับความได้แต่บ้านชะโนด บ่าวคำสิงห์เป็นบ้านพี่...จึงต้องอ่านต่อ

ลูกหลานบ่าวคำสิงห์ ได้ลงไปเรียนเป็นกองปกครอง ข้าพระธาตุพนมที่กรุงเทพฯ ได้รับชื่อเป็นสุริยะราชวัตร์ ขึ้นเป็นใหญ่ในบ้านชะโนดบุตรอำมาตย์คนหนึ่งชื่อสีหานาม บุตรหลานคนหนึ่งชื่อหมาคำ พร้อมกันยกครัวเรือนออกจากบ้านชะโนด ขึ้นไปตั้งอยู่ใต้ห้วยผักขะ

ที่นั้น เป็นบ้านร้าง พวกข้าสามแสนอยู่แต่ก่อน (ผมตั้งใจให้ตัวดำหนา มีประเด็นสำคัญจะคุยต่อ)

มีหว้านเรือป่าหนึ่ง ใหญ่ประมาณเท่านาไร่หนึ่ง ครั้งสีหานาม และนายหมาคำมาตั้งบ้านอยู่

...

จึงขนานว่า บ้านหว้านใหญ่ มาถึงกาลบัดนี้...ชื่ออำเภอหว้านใหญ่ ได้มาจากตรงนี้

และคำ “หว้าน” ที่ผมสะดุดใจอยากหาคำแปล พระผู้รู้ที่อยู่ใกล้บอก “ว่าน” นั่นแหละโยม

คนโบราณอีสาน เขียน “ว่าน” เป็น “หว้าน” เช่นเดียวกับ เขียน “มั่น” เป็น “หมั้น” ในหนังสือเล่มนี้ หลายคำอ่านแล้วต้องทำความเข้าใจ เช่น เขียน“ช้างพลาย” เป็น “ช่างพาย” ทำเอาคนรู้งูๆปลาๆ อย่างผมงงพักใหญ่

อ่านประวัติวัดชะโนดจบ ผมจึงรู้ว่า เมืองมุกดาหาร เมืองหว้านใหญ่ เป็นบ้านเมืองริมแม่น้ำโขงที่ผู้คนอพยพขยับขยาย แบบที่เราคุ้นคำว่า สร้างบ้านแปลงเมือง กันมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สิมวัดชะโนด ลูกหลานบ่าวคำสิงห์ บวชพระเรียนเก่ง พระเจ้าเวียงจันทน์โปรดให้วัสดุลงมาก่อสร้าง

ย้อนไปถึง ประโยคที่ผมให้ตัวดำหนา...“ที่นั้น เป็นบ้านร้างพวกข้าสามแสนอยู่มาแต่ก่อน”

“ข้าสามแสน” เป็นคำแปลกใหม่...พระเจ้าแผ่นดินลาวองค์หนึ่งพระนาม สามแสนไทย...ว่ากันว่า สมัยท่านมีราษฎรถึงสามแสนคน “ข้าสามแสน” จะบอกว่า เป็นข้าแผ่นดินพระเจ้าสามแสนไทยหรือไม่ ผมไม่รู้

รู้แต่คำ ข้าพระธาตุพนมข้ากลุ่มใหญ่...ขนาดส่งลูกหลานบ้านหว้านใหญ่ไปเรียนวิชาปกครองถึงกรุงเทพฯ

คำ “ข้าสามแสน” ผมเดาเอา เป็น “ข้าพวกหนึ่ง” ที่รัชกาลที่ 1 รบชนะลาว กวาดต้อนเอาไปเป็นกำลังสร้างพระบรมมหาราชวัง สร้างวัดพระแก้ว สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

แถวบางขุนพรหมเดิมเรียก “บ้านลาว” เก่งทางทำคัมภีร์เทศน์ใบลาน ไม่แปลก สามเสน...ตำบลที่ตั้งรัฐสภาวันนี้ สุนทรภู่ เขียนไว้ในนิราศว่า “แต่เดิมเรียกสามแสนทั้งกรุงศรี” ชื่อเรียกเดิมจริงๆ คือบ้านพวกลาว (ข้า) สามแสนนี่เอง

ที่เล่าๆกัน ว่าคนสามแสนช่วยกันฉุดพระพุทธรูปลอยน้ำหรือฝรั่งขุดคลองเล็กความยาวสามเส้น...เพี้ยนเป็นชื่อสามเสนนั้น ผมสะดุดใจไม่เชื่ออยู่นานแล้ว แค่เรื่องเล่าเอาสนุกเท่านั้น.

กิเลน ประลองเชิง