“จตช.” รับลูก ผบ.ตร.ปัดฝุ่นคำสั่งแนวทางการตั้งด่านตรวจปี 2564 กำชับทั้งเรื่องการแต่งกาย และต้องติดตั้งกล้องติดตัวเพื่อบันทึกภาพและเสียงให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ และการตั้งด่านต้องได้รับการอนุมัติจากระดับ “ผู้บังคับการ” ขึ้นไปทุกครั้ง พร้อมสั่งกำลัง 10 ชุดสุ่มตรวจด่านตรวจทั่วประเทศ ถ้าพบความผิดต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว สั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนทุกราย คาดโทษผู้บังคับบัญชาปล่อยปละละเลย ปฏิเสธความรับผิดชอบด่านรีดทรัพย์ไม่ได้

กรณีตำรวจ สน.ห้วยขวาง ตั้งด่านรีดทรัพย์ดาราสาวไต้หวัน เป็นเหตุให้ตำรวจ 6 นาย ถูกดำเนินคดี ฝากขังศาลอาญาไม่อนุมัติให้ประกันตัว ส่งเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครไปแล้ว แต่เรื่องดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เป็นอย่างมาก เป็นเหตุให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.สั่งการจเรตำรวจตรวจสอบการตั้งจุดตรวจและด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศ

ความคืบหน้าจากสำนักงานจเรตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 3 ก.พ. พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จชต.กล่าวว่า ตามที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.สั่งการให้ จตช.ลงตรวจสอบข้อเท็จจริง ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เด็ดขาดทั้งวินัย อาญา และปกครอง ตนมีหนังสือสั่งการให้ พล.ต.ท.วรัตม์ชัย ศรีรัตนวุฑฒิ หัวหน้าจเรตำรวจ จัดทีมลงพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมสั่งการให้กองตรวจราชการ 1-10 จัดกำลังสุ่มตรวจการตั้งด่านตรวจทั่วประเทศ สตช.เคยมีข้อสั่งการกำหนดมาตรฐานการตั้งด่านไว้ชัดเจน ตามหนังสือสั่ง ตร.ที่ 0007.22/1572 ลงวันที่ 31 พ.ค.2564 เรื่องแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัดป้องกันปราบปรามอาชญากรรม การตรวจจะลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบด่านต่างๆโดยเฉพาะสิ่งที่ ผบ.ตร.กำชับคือ การแต่งกายแสดงตัวที่ชัดเจน การติดตั้งกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ (Bodycam) เพื่อบันทึกภาพและเสียงให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้

...

พล.ต.อ.วิสนุกล่าวต่อว่า ที่สำคัญคือการตั้งด่านตรวจเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนและสังคมหรือไม่ มีการอนุมัติการตั้งจุดตรวจ เป็นอำนาจของผู้บังคับการขึ้นไปอนุมัติหรือไม่ อย่างไร หากจุดตรวจไหนไม่มีมาตรฐาน เรียกรับผลประโยชน์ จะลงโทษผู้บังคับบัญชา และหัวหน้าสถานีตำรวจที่ปล่อยปละละเลย ไม่ใส่ใจตรวจสอบควบคุมดูแล หากไม่มีมาตรการควบคุม กำกับดูแลอย่างใกล้ชิดให้รายงานผลภายใน 15 วัน การตั้งด่านตรวจมีจุดประสงค์ เพื่อลดอาชญากรรม สร้างความมั่นใจเป็นที่พึ่งให้ประชาชน แต่ถ้าตั้งด่านตรวจแล้วกลับสร้างปัญหาและสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน ตำรวจที่ตั้งด่านและหัวหน้าหน่วยต้องรับผิดชอบ ทั้งนี้ตนจะลงพื้นที่สุ่มตรวจด่านด้วยตัวเอง

“นโยบายเกี่ยวกับความประพฤติและระเบียบวินัยของข้าราชการตำรวจ หากปรากฏภาพชัดเจนว่า มีข้าราชการตำรวจคนไหนกระทำผิดเข้าข่ายวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดดำเนินการทางวินัยอย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว ที่ย้ำลงไปเสมอคือ ต้องเด็ดขาดและรวดเร็ว ให้รีบตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง และมีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนทุกราย ไม่ต้องรอจนสอบสวนเสร็จสิ้น หากมีมูลความผิดอาญาต้องดำเนินคดีอาญาด้วยทุกกรณี สังคมต้องเห็นภาพชัดเจนเลยว่า หากตำรวจกระทำผิดเราจะลงโทษอย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว เราไม่มีการปกป้องช่วยเหลือกันในเรื่องแบบนี้” จตช.กล่าว

พล.ต.อ.วิสนุกล่าวอีกว่า อีกด้านหนึ่งจะทำให้ตำรวจอื่นไม่กล้ากระทำผิด เพราะกลัวว่าถูกลงโทษ ใครก็ไม่สามารถช่วยเหลือได้ เห็นภาพชัดเลยว่า 2 ปีที่ผ่านมา เราดำเนินการอย่างเข้มข้นจริงๆ หรือบางกรณีหลักฐานไม่ชัดเจนพอดำเนินการทางวินัยร้ายแรง หรือดำเนินคดีอาญา จะใช้วิธีการทางปกครองคือ การปรับย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับประชาชน หรือหน้าที่ที่มีปริมาณงานน้อย เพื่อตัดโอกาสทำความเดือดร้อน หรือสร้างปัญหาให้ประชาชน ในทางราชการถือเสมือนเป็นการลงโทษรูปแบบหนึ่ง ที่ผ่านมาคิดว่าได้ผลพอสมควร แม้ไม่สามารถควบคุมให้ตำรวจไม่กระทำผิดได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่สามารถลดปัญหาตำรวจออกนอกลู่นอกทางได้มาก

พล.ต.อ.วิสนุกล่าวด้วยว่า ให้นโยบายไปชัดเจนว่าถ้าพบและมีข้อมูลหลักฐานต้องดำเนินการทางวินัยทุกราย ไม่มีละเว้น หากผู้บังคับบัญชาปกป้องหรือละเลยต้องรับผิดชอบถูกพิจารณาโทษด้วย เห็นได้ว่าปีที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ตำรวจออกจากราชการถึง 229 นาย ถือว่าเยอะ ตัวเลขนี้ไม่ได้แสดงถึงความภาคภูมิใจที่เราไล่ตำรวจออกเยอะ แต่แสดงให้สังคมเห็นว่าเราให้ความสำคัญ จัดการตำรวจที่ทำผิดอย่างเข้มข้นและจริงจัง ข้าราชการตำรวจทุกระดับชั้นต้องตระหนักและปรับตัวให้อยู่ในมาตรฐานที่ดี ทั้งในส่วนการทำงานและการปฏิบัติตน ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นต้องเอาใจใส่กำกับดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาใกล้ชิดมากขึ้น ต้องปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา เชื่อว่าหากเดินไปในทิศทางนี้จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นและกอบกู้ภาพลักษณ์ตำรวจได้