"มนัญญา" ห่วงใยผู้บริโภค สั่ง "กรมวิชาการเกษตร" ตรวจสอบคราบสารสีฟ้าบนใบต้นหอม ขอเวลารอผลตรวจไม่เกิน 7 วัน เบื้องต้นพบยังเป็นสารที่อนุญาตให้ใช้ แต่อาจเก็บเกี่ยวเร็วเกินกำหนด
เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 66 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ตรวจสอบกรณีมีการเผยแพร่คลิปเตือนภัยให้ระวังอันตรายต้นหอมมีผงสีฟ้าอยู่บนต้น และเมื่อเอามือลูบจะมีผงสีฟ้าติดมาด้วยว่ามีข้อเท็จจริงตามคลิปหรือไม่ และมีอันตรายต่อผู้บริโภคหรือไม่ เพื่อคลายความกังวลของประชาชน และให้รายงานให้ทราบผลโดยเร็วที่สุด

ด้าน นายระพีภัทร์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 66 ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่จากสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปทุมธานี ลงพื้นที่ตลาดสี่มุมเมืองไปตรวจสอบแผงค้าดังกล่าวทราบว่าเป็นแผงค้าที่รับสินค้าเกษตรมาจากหลายจังหวัด เจ้าหน้าที่ได้สุ่มเก็บตัวอย่างต้นหอมส่งตรวจวิเคราะห์สารตกค้างในห้องปฏิบัติการด้วยเครื่อง GC-MS และเครื่อง Atomic AbsorptionSpectrometer (AAS) ซึ่งเป็นเครื่องที่ให้ผลการตรวจที่แม่นยำของกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และห้องปฏิบัติการของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จ.ชัยนาทเพื่อยืนยันชนิดสารและปริมาณสารตกค้างว่าเกินค่ามาตรฐานที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคหรือไม่
...

"รมช.เกษตรฯ มีนโยบายชัดเจนในการคุ้มครองผู้บริโภค และส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดสารพิษ ดังนั้นการตรวจสอบเป็นหัวใจสำคัญ กรณีนี้คาดว่าผลตรวจวิเคราะห์ภายในห้องปฏิบัติการทั้ง 2 แห่งจะใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน เบื้องต้นคาดเจ้าหน้าที่รายงานว่าสารเคมีที่เกษตรกรนำไปใช้ คือแมนโคเซบ ในการป้องกันกำจัดโรคใบไหม้ในต้นหอม ซึ่งกรมวิชาการเกษตรมีคำแนะนำในการใช้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการคือ ผสมในถัง 200 ลิตร ใช้ปั๊มพ่น ที่ละ 3 ร่อง 6 หัวฉีด และเกษตรกรต้องเก็บเกี่ยวหลังการฉีดพ่นสารไปแล้ว 15 วันก่อนนำไปจำหน่าย และต้องล้างคราบของสารแมนโคเซบออกให้หมด รวมถึงผู้บริโภคก็ต้องล้างออกอีกครั้งก่อนนำไปรับประทาน ซึ่งหากเกษตรกรใช้สารแมนโคเซบตามคำแนะนำฉลากข้างบรรจุภัณฑ์ และปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวตามคำแนะนำดังกล่าวผลผลิตจะมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ดังนั้นเพื่อความสบายใจระหว่างนี้ประชาชนสามารถเลี่ยงการซื้อบริโภคไปก่อน" นายระพีภัทร์ กล่าว.
